xs
xsm
sm
md
lg

คลังเร่งเพิ่มเพดานก่อหนี้ "ออกพ.ร.ก."เลียนแบบปี40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอาแน่! แผนขยายเพดานเงินกู้ คลังระบุสามารถออกเป็นพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเมื่อใดเพิ่มวงเงินลงในกฎหมายได้ทันที แจงในอดีตสมัยวิกฤตปี 40 เคยออกกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินชดเชยความเสียหายกองทุนฟื้นฟูฯ มาแล้ว สบน.ชี้สามารถขยายเพดานวงเงินกู้ชั่วคราวหรือขยายกรอบเงินกู้ต่างประเทศจากเดิม 10%

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงินฉุกเฉิน โดยขยายเพดานการก่อหนี้ในประเทศ จากเดิมที่กำหนดให้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และกรอบเงินกู้ต่างประเทศ ไม่เกิน 10% วงเงินงบประมาณรายจ่าย เพื่อรองรับการกู้เงินที่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นตามความต้องการของเศรษฐกิจ

“ความจำเป็นที่ต้องขยายเพดานการกู้เงินมีแน่ แต่จำนวนเท่าไหร่นั้น เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจ โดยในส่วนของสบน.ก็ได้เตรียมร่างพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินเอาไว้รองรับ หากสรุปวงเงินได้เมื่อไรก็สามารถบรรจุลงในพระราชกำหนดทันที” นายพงษ์ภาณุกล่าว

สำหรับสาเหตุที่ต้องกู้เงินเพิ่มเติมโดยการออกพระราชกำหนดนั้นมาจากความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็ต่างมีวงเงินที่มีขนาดใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น ขณะที่ของไทย มีข้อจำกัดด้านกฎหมายก่อหนี้ที่ล็อกวงเงินการกู้เงินของรับบาลเอาไว้

แนะทำชั่วคราวแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยังคงเห็นว่าการขยายวงเงินดังกล่าวควรกระทำในกรณีที่ฉุกเฉิน และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น โดยอาจจะขยายเพดานการกู้เงินเป็นการชั่วคราว เช่น 1-2 ปี ในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น เพื่อยังคงรักษาวินัยทางการเงินการคลังไว้ ซึ่งในอดีตกระทรวงการคลังก็เคยดำเนินการเช่นนี้มาก่อนแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 โดยเป็นการกู้เงินเพื่อใช้ชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบวงเงินการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าใช้เงินค่อนข้างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา กู้เงินเพื่อใช้ในกระตุ้นเศรษฐกิจ สูงถึง 8.5 % ของจีดีพี ญี่ปุ่น 7.5% ของจีดีพี อังกฤษ 8.0% ของจีดีพี ขณะที่ไทย อยู่ที่ 6.0% ของจีดีพี โดยเป็นขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และการจัดเก็บภาษีพลาดเป้า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งหนี้สาธารณะยังอยู่ที่ระดับ 43% ของจีดีพีเท่านั้น หากกู้เงินเพิ่มอีกก็สามารถทำได้ และอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง

สำหรับกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ตามวินัยทางงบประมาณและการคลังนั้นได้กำหนดให้การขาดดุลงบประมาณจะต้องไม่เกิน 2.5% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP) สัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของ GDP และ ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%

กฎหมายเปิดช่อง 2 ทางเลือก

ด้านนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมแนวทางมารองรับการขยายกรอบการกู้เงินไว้ เพื่อกู้เงินในประเทศมาใช้อุดช่องโหว่รายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเดิมเคยคาดกันไว้จะพลาดเป้าเพียงแค่ 1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มพลาดเป้าประมาณ 2 แสนล้านบาท

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าเพดานการกู้เงินตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย หรือประมาณ 4.3 แสนล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นที่ต้องขอขยายเพิ่มเติมเป็นการชั่วคราว แนวทางที่ 2 เป็นการขยายกรอบการกู้เงินต่างประเทศ จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 % ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท แต่กู้ไปแล้วเหลือ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะสามารถกู้เงินเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ โดยจะขยายกรอบเพดานการกู้เงินออกไป

ทั้งนี้ การตัดสินใจขยายเพดานการกู้เงินเพิ่มขึ้นจากที่กฎหมายกำหนดนั้นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะเลือกใช้แนวทางใด และการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่รุ่นแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น