xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ ชงแผน 3 ปี 1.4 ล้านลบ. "มาร์ค" เร่ง พรก.ขยายเพดานกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ ชงแผนกระตุ้นศก.ระยะ 3 ปี ใช้งบ 1.4 ล้านลบ. เสนอ "กอร์ปศักดิ์" พิจารณา ก่อนนำเข้า ครม.เศรษฐกิจ 25 มี.ค.นี้ "มาร์ค" ไม่นิ่งนอนใจ เร่งทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมใช้แผน 2 เตรียมขยายเพดานเงินกู้ โดยออก พ.ร.ก. คาดแล้วเสร็จเดือน เม.ย.นี้ พร้อมคาดหวัง ศก.ไทยต้องพลิกบวกได้ ปลายปีนี้

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เข้าพบนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี โดยเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเวลา 3 ปี (2552-2554) วงเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อให้พิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจในวันที่ 25 มีนาคม 2552 นี้

โดยการจัดทำโครงการดังกล่าว เป็นงบที่ได้จากรายได้ 3 ปีของรัฐบาลและเงินกู้จากต่างประเทศ โดยวางแผนในการนำงบกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว อัดฉีดเงินให้กับโครงการเมกะโปรเจกต์ 6 ด้าน ประกอบด้วย โครงการด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม ด้านการเกษตร ด้านที่อยู่อาศัย และด้านการพัฒนาสังคม

สำหรับโครงการที่รัฐบาลเห็นควรต้องดำเนินการก่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ คือ การลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการระยะ 3 ปี (2553-2555) ครอบคลุมงบประมาณ 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ งบพัฒนาบุคลากร หลักสูตร สื่อ การวิจัย 40,144 ล้านบาท และงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง 96,093 ล้านบาท

แผนดังกล่าว ยังแบ่งออกเป็น 9 โครงการ ได้แก่ 1.งบพัฒนาครูทั้งระบบ 22,307 ล้านบาท 2.ปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษา (ICT/แหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆ) 45,954 ล้านบาท 3.พัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษาสู่ความทันสมัยโดยเชื่อมโยงกับภาคเอกชน 35,397 ล้านบาท 4.สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Education Hub) 3,919 ล้านบาท

5.ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 5,540 ล้านบาท 6.เพิ่มประสิทธิภาพของสถานศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินของสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จำนวนกว่า 4,500 โรง 1,600 ล้านบาท 7.สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย 9,468 ล้านบาท 8.โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน 12,025 ล้านบาท และสุดท้าย 9.โครงการสร้างมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยในส่วนของอุดมศึกษา

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการตรา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การปรับเพดานเงินกู้ เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในรอบที่ 2 โดยระบุว่า ตนเองได้ให้กระทรวงการคลังไปดูอยู่ หลักการคือถ้าการส่งออกหดตัวตามการค้าโลก เงินตรงนี้มันก็จะหายไปค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะมีผลมาถึงรายได้ของรัฐบาลด้วย

"ถ้าเราอยู่เฉยๆ คนก็จะตกงาน แต่รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายจึงมีทางเลือกไม่มาก เช่น จะเก็บภาษีเพิ่ม จะขายสมบัติของชาติ หรือการกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าช่องทางการกู้เงินน่าจะเหมาะสมที่สุด แต่ทั้งหมดจะเป็นอย่างไรกระทรวงการคลังจะไปประเมินตัวเลขมา โดยต้องดูเงื่อนไข ข้อจำกัดทางกฎหมายส่วนการออก พ.ร.ก. เท่าที่วางกรอบไว้น่าจะเป็นเดือนเมษายน 2552 นี้ หรือช้ากว่านั้น โดยอาจจะออกเป็นพ.ร.บ. ก็ได้ต้องดูที่เงื่อนไข ส่วนจะกำหนดเพดานเงินกู้สูงแค่ไหนนั้น ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปทำข้อมูลมา"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่าการกู้เงินระยะสั้นนั้น เป็นเรื่องที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาในวันที่ 24 มีนาคม 2552 นี้ เพื่อมาใช้ในโครงการบางส่วนที่จะเริ่มประมาณครึ่งปีหลังหรือไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามที่มีการหารือเพิ่มเติมกันขณะนี้ คือ ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็ต้องเตรียมเปิดช่องไว้ให้กับรัฐบาลในการหาเงินที่จะมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้มีการรือกันเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ถึงวงเงินงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

"การที่จะหวังให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในแดนบวก คงต้องรอจนถึงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งในการประชุม จี-20 ที่ประชุมก็ยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ขณะนี้ตลาดของสหรัฐเริ่มตอบสนองในทางบวกมากขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่นิ่ง อย่างในการหารือกับผู้บริหารฟอร์บส์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ก็ได้รับการยืนยันว่า ถ้าสหรัฐฯ แก้ปัญหาด้านธนาคารเรียบร้อย ไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจน่าจะฟื้น"

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การที่เศรษฐกิจยังไม่นิ่ง ก็เพราะต้องดูสถานการณ์สหรัฐเป็นหลัก ตอนนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ของแต่ละฝ่าย ตนจึงไม่สามารถที่จะพูดได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพียงแต่ยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่ประมาท และไม่ต้องการให้ประชาชนประมาท ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ตื่นตกใจมากเกินไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ก็ยังพอขับเคลื่อนไปได้ รัฐบาลก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น