รมว.พาณิชย์ เผยมติ กขช.อนุมัติให้รับจำนำข้าวนาปรัง ในปี 52 จำนวน 2.5 ล้านตัน ในราคาตันละ 11,800 บาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 9,000 บาท โดยใช้วงเงิน 36,000 ล้านบาท เริ่ม 16 มี.ค.นี้
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบให้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังประจำปี 2552 โดยข้าวเปลือกเจ้าประเภท 5% ตันละ 11,800 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวตันละ 9,000 บาท เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2552 ถึงวันนี้ 31 กรกฎาคม 2552 นี้ รวม 2.5 ล้านตัน ใช้วงเงินรับจำนำ 36,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดิมจากวงเงินแทรกแซงราคาพืชผลเกษตรกว่า 100,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กขช.ได้หารือถึงราคารับจำนำที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,000 บาทกัน อย่างกว้างขวาง และเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าต้องไม่เกินไปจากวงเงินเดิมในปีที่แล้ว เนื่องจากข้าวเปลือกนาปรังเป็นการทำนาที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันผลผลิตไม่ได้ลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 50 ตามที่มีการกล่าวอ้าง และราคาจำนำที่ตันละ 12,000 บาท จะทำให้เกษตรกรมีกำไรมากถึงร้อยละ 70
นางพรทิวา กล่าวอีกว่า กขช.ยังหารือถึงการนำระบบการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือเอเฟท เข้ามาดำเนินการควบคู่กับการประกันราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาสินค้าที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำข้าวเปลือกเจ้าเข้าสู่ตลาดเอเฟท แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับรายละเอียดก่อนตัดสินใจให้ชัดเจนต่อไปว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร และควรมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแล ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า การให้ผู้ที่มีหน้าที่ด้านการตลาดที่อยู่กับราคาสินค้าเกษตรทุกวันอยู่แล้วเป็นผู้ดูแลน่าจะเหมาะสมกว่า แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับระดับนโยบายด้วย
ส่วนปัญหาการสวมสิทธิ์จำนำข้าวเปลือกของชาวนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นฝ่ายเสนอว่า ต้องขึ้นบัญชีดำรายที่ตรวจพบทั้งเกษตรกรและโรงสี โดยห้ามร่วมโครงการรับจำนำอีกเด็ดขาด ขณะที่การระบายข้าวจะเร่งทำข้อมูลให้ละเอียดเพื่อเสนอต่อ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี โดยเร็วต่อไป โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้มีการส่งออกเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้พ่อค้ารอคอยซื้อของราคาถูกจากรัฐบาลอีก
สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดแห่งชาตินัดแรก เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (13 มี.ค.) ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านการกำหนดราคา เพื่อให้สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับการดูแลแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจำหน่ายอย่างมีศักยภาพ รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาถึงแนวทางการระบายสตอกอย่างละเอียดใน 3 แนวทาง คือ การส่งออกในลักษณะจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ การขายให้กับภาคเอกชนในต่างประเทศ และการขายให้กับผู้ใช้ในประเทศบางส่วน