xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนพอใจผลประชุมอาเซียน ชงตั้งทีมติดตามผลเอฟทีเอ 4 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนพอใจผลการประชุมสุดยอดอาเซียน เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ เตรียมหารือขยายผลเขตการค้าเสรี วันนี้ พร้อมชงรัฐบาลตั้งคณะทำงานติดตามผล "เอฟทีเอ" เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการส่งออกได้มากขึ้น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่เสร็จสิ้นลง เมื่อวานนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติได้ ซึ่งการทำความตกลงทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุน จะทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถรับมือกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้

ทั้งนี้ ภาคเอกชนในกลุ่มอาเซียนต่างเห็นพ้องกันว่า ภาครัฐในกลุ่มอาเซียนควรจะมีการประชุมร่วมกันในลักษณะนี้ให้บ่อยขึ้น เพื่อประเมินผลการดำเนินการตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันนี้ เตรียมพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่จะนำเข้าสู่การหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) วันที่ 4 มีนาคม 2552 ซึ่งประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการ คือ อยากให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานติดตาม และทบทวนเกี่ยวกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทย ได้ทำกับประเทศต่างๆ ไว้ให้เกิด ผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริงในการส่งเสริมภาคการส่งออกของไทยให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน เช่น ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการสรุปพระราชบัญญัติค้าปลีกค้าส่ง เนื่องจากมีปัญหาความล่าช้า ซึ่งหลักการ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลสรุปเพื่อให้ความชัดเจนว่า ค้าปลีกและค้าส่งจะอยู่ด้วยกันอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด รวมไปถึงความชัดเจนในเรื่องผังเมืองในการควบคุมด้วย

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อน เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกอย่างมาก ขณะนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลดราคาสินค้าส่งออกได้ประมาณ 5% ทำให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เห็นว่าความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการลดข้อกีดกันทางการค้า และพันธสัญญาด้านความมั่นคงทางอาหาร มั่นใจจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกอย่างมาก ถึงแม้ว่าแนวโน้มการส่งออกจะหดตัวลงอย่างรุนแรง แต่การส่งออกในกลุ่มอาหารจะไม่หดตัวมากนัก แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น