ขุนคลัง ชำแหละ 5 ปัจจัยลบ ต้นตอฉุดวิกฤต ศก.โลกดิ่งเหว ทั้งความเสียหายในระบบการเงิน ปริมาณเงินในมือเอกชนลดลง การเพิ่มขึ้นของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนมหาศาลในระบบ ความวิตกกังวลเรื่องการกีดกันทางการค้า และการหวังพึงพา ศก.เอเชีย ประคองวิกฤต พร้อมมั่นใจ แนวทางการอัดฉีดกำลังซื้อ-กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในตอนนี้ เผยงบปี 53 ยังขาดดุลต่อเนื่อง เตรียมชง ครม.พรุ่งนี้ พร้อมยืนยัน ทางเลือกในการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา ศก.ดีกว่าขึ้นภาษี เพราะฐานะรัฐบาลยังแข็งแกร่ง
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงต้นตอของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยระบุถึง 5 ปัจจัยหลัก ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกัน ได้แก่ 1.ปัญหาสถาบันการเงินทั่วโลกมีความเสียหายอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผลกระทบตามมาก็ยังคงรุกลามไปยังสถาบันการเงินทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ประการที่ 2 เป็นเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน โดยพบว่า บัญชีงบดุลของผู้ประกอบการในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ปริมาณเงินของผู้ประกอบการต่างๆ ก็ลดลง ซึ่งก็น่าจะเป็นปัญหาต่อภาคเศรษฐกิจในอนาคต
ประการที่ 3 ในส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่มีการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบการเงินเป็นจำนวนมหาศาลก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น แต่ในส่วนของไทยเองอาจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพึ่งพาในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่
ประการที่ 4 ประเทศต่างๆ เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และประการที่ 5 แนวความคิดเดิมเคยมองว่าเศรษฐกิจประเทศเอเชียจะส่งออกแบบพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งก็คิดว่าจะพึ่งพาประเทศจีนได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลในช่วงที่ผ่านมา ไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งอาจจะต้องมีวิธีการปรับเปลี่ยน พร้อมระบุว่า รายละเอียดทั้ง 5 ประเด็นนี้ เป็นการประเมินถึงความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในส่วนของภายในประเทศก็ควรที่จะพิจารณาถึงการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายก็ตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐต้องกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าที่จะปล่อยให้ปัญหาทุกอย่างเป็นไปตามครรลอง ซึ่งมองว่าหากจะปล่อยให้ปัญหาถูกแก้ไขไปตามกลไกของเวลาอาจจะทำให้ปัญหาทวีคูณและขยายวงกว้างมากขึ้น และสุดท้ายหากไม่รีบเข้าไปปัญหาก็จะทำให้ภาคการเงินก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งที่รัฐเร่งกระตุ้นการบริโภคนั้นก็เป็นไปตามกลไกที่ใช้เป็นสากลทั่วโลก
สำหรับกรอบการจัดทำงบประมาณปี 2553 ที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ คาดว่า รายได้ในปีงบประมาณดังกล่าว จะต่ำกว่าปีงบประมาณ 2552 ซึ่งประมาณการไว้ที่ 1.58 ล้านล้านบาท จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่รายจ่ายยังต้องกำหนดไว้ในระดับสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้งบประมาณปี 2553 ยังขาดดุลงบประมาณ
“ยืนยันว่า รัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพทางการคลัง เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมี 2 ทางเลือก คือ การเพิ่มภาษีจากประชาชนและการกู้เงินจากแหล่งต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งรัฐบาลขอเลือกแนวทางกู้เงินน่าจะเป็นแนวทางเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มภาษีเพื่อเก็บเงินจากประชาชนมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะแม้จะกู้เงิน แต่ฐานะการคลังของรัฐบาลยังเข้มแข็ง”