xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กเครดิตบูโรปลอบลูกหนี้ ประตูสินเชื่อยังไม่ปิดตาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิต บูโร” ชี้โอกาสของลูกหนี้รายย่อยยังเปิดกว้างเสมอ แม้ยอมรับมีการร้องเรียน ภาพลักษณ์ออกมาในเชิงลบ เพราะคนขยาดแบล็กลิสต์ วันนี้ “นิวัฒน์” ไขข้อข้องใจ พร้อมชี้แจงการทำงาน ระบบสกอริง และความคืบหน้าในการพัฒนาบริษัท ...
นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
การพัฒนาระบบสกอริง (Scoring)

สกอริงจะเป็นตัวคาดการณ์โอกาสความน่าเป็นว่าจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ ก็คือ บอกถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้น สมมติว่า คะแนนที่ได้ออกมา 80% ก็จะหมายความว่า ลูกค้าที่คะแนนตกอยู่ในนี้ มี 100 คน มีลูกค้าที่น่าจะชำระได้ 80 คน ส่วนอีก 20 คน มีความน่าจะเป็นที่เขาจะผิดนัดเกินกว่า 90 วัน ในอีก 1 ปีข้างหน้า ข้อมูลตรงนี้มันจะไม่ได้บอกไปเลยว่าคะแนนตรงนี้เสียแน่ๆ หรือคะแนนตรงนี้ดีแน่ อย่างลูกค้าที่ได้คะแนน 60 ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นคนที่เสียแน่ๆ มันก็เพียงแต่บอกว่าคะแนนตรงนี้บอกว่ามี 60 คน ที่มีความเป็นไปได้ที่จะชำระแน่ อีก 40 คน อาจจะจ่ายไม่ตรงเวลา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เชื่อว่า ช่วงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ หรือประมาณเดือนกรกฎาคม จะเริ่มใช้ได้

ที่มาและเบื้องหลังของระบบ

ที่มาก็คือ การใช้วิธีทางสถิติมาเข้าไปจับเอาข้อมูลการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละรายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ประมาณ 2 ปีหลังสุด ว่า มีประวัติอย่างไร อย่างเช่น มีการผิดนัดหรือไม่ มีบัญชีจำนวนกี่บัญชี แล้วก็เอาพวกนี้มาประมวลได้ออกมาเป็นรูปแบบของคะแนนที่สะท้อนถึงโอกาสที่ลูกค้ารายนั้นๆ จะผิดนัดชำระเกินกว่า 90 วัน ในอีก 12 เดือนข้างหน้าหรือไม่

ส่วนสถาบันการเงินจะเอาพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ เขาจะใช้ข้อมูลสกอริงไปพิจารณารวมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น รายได้ต่อเดือน หลักประกัน หรืออะไรต่างๆ ที่ไม่มีในสกอริง หรือที่เครดิต บูโร ไม่ได้จัดเก็บ อย่างเรื่องของรายได้ พอได้ข้อมูลมาทั้งหมด สถาบันการเงินก็จะนำมาประมวลเพื่อตัดสินใจอีกครั้ง ก็จะเป็นในลักษณะที่ว่า ลูกค้าคนนี้ได้คะแนน 60% เขาจะปล่อยให้หรือไม่ ถ้ามีเงื่อนไขแวดล้อมอื่นอย่างนี้ เช่น มีรายได้ต่อเดือนเท่านี้ ซึ่งการตัดสินใจมันจะขึ้นอยู่กับ factor (ปัจจัย) อื่นๆ ด้วย อย่างกรณีข้อมูลเหมือนๆ กัน ถ้าเป็นสินเชื่อบ้านซึ่งมีหลักประกัน แบงก์อาจจะปล่อยให้ แต่ถ้าเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตอาจจะไม่เอาก็ได้ ก็จะเป็นลักษณะประมาณนี้

มีการร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมมา

เราก็ได้รับฟัง โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนการผิดนัดที่ไม่มาก แต่จะมีผลต่อข้อมูลของเขาเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี

ประเด็นที่จะหมายเหตุว่า ถ้าผิดนัด เพราะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกงาน ก็ทำได้ แต่ผมว่าเหตุผลตรงนี้เป็นเหตุที่ผู้กู้สามารถไปอธิบายกับผู้ให้กู้ได้เองอยู่แล้ว แต่เขาจะฟังหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือเศรษฐกิจซบ ผิดนัดชำระหนี้นี่ เศรษฐกิจซบก็กระทบไปทั่วอยู่แล้ว ไม่ใช่คนเดียวหรือกลุ่มเดียว ก็จะเป็นหมายเหตุที่ดูไม่ค่อยมีเหตุผล แต่ถ้าเป็นบางอย่างกรณีเกิดสึนามิ ก็กระทบทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินก็พิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า ยอมให้ผิดนัดชำระหนี้ได้ กรณีนี้ เรามีหมายเหตุกำกับไว้อยู่แล้วครับ หรืออย่างกรณีการผ่อนผันของรัฐให้เกษตรกร ก็มีหมายเหตุกำกับไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีหมายเหตุอย่างไร สุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงิน อันนี้ก็จะแสดงให้เห็นว่าการหมายเหตุนั้น ก็พอมีอยู่บ้าง แต่อาจจะยังไม่มากนัก และเมื่อมีสกอริง ก็จะทำให้เทกแคร์บางอย่างที่เราอาจจะมองข้ามไป เช่น จำนวนหนี้ที่น้อย

อย่างแรกเลย การมีสกอริงจะช่วยให้ผู้ที่มีโอกาสน้อยหรือไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ มีโอกาสมากขึ้น เพราะในบางครั้งสถาบันการเงินก็อาจจะดูข้อมูลแค่มีประวัติผิดนัด หรือไม่ผิดนัดเท่านั้น แต่ข้อมูลที่ละเอียดขึ้นตรงนี้ ก็จะทำให้มีโอกาสมากขึ้น ขณะที่ในด้านของสถาบันการเงินก็จะช่วยให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์สินเชื่อได้แม่นยำขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ อย่างถ้าคนเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทนี่ เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้รับพิจารณาจากสถาบันการเงินอยู่แล้ว แต่ถ้าเขามีสกอริงที่ดี ก็อาจจะได้รับพิจารณาได้ อันนี้คือทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

ในอนาคต สกอริงนอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้มากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการแบ่งลูกค้าตามความเสี่ยงไปด้วย จากนั้นก็คงจะโยงมาถึงเรื่องราคา หรือดอกเบี้ยที่เหมาะสมด้วย ซึ่งตรงนี้คงต้องเป็นอีกระยะหลังการใช้สกอริง และเมื่อมีเรื่องราคาเข้ามาเกี่ยว ผลต่อไปก็จะทำให้คนหันมารักษาวินัยทางการเงินกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้สกอร์เสีย แล้วเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ตรงนี้ก็จะยิ่งเห็นมากขึ้น เพราะจะมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้จากเศรษฐกิจที่ลดลง จะเห็นได้ชัดว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวดและชะลอตัวลง จะเห็นได้จากการเข้ามาเช็คข้อมูลจากเครดิตบูโรก็ลดลงไปด้วย ลดลงไปพอสมควรกว่า 10% ก็สะท้อนให้เห็นว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่นั้นน้อยลง คือแบงก์พยายามที่จะรักษาฐานหรือดูแลลูกค้าเก่ามากกว่าในช่วงภาวะอย่างนี้ ซึ่งเราก็คุยกับเครดิตบูโรของประเทศอื่น เขาก็บอกว่ามันอย่างนี้เหมือนกัน

กฎเกณฑ์อะไรบ้างที่ใช้พิจารณา

ความจริงก่อนที่เราจะได้โมเดลในการทำสกอริง เราใช้ factor เป็นพันๆตัว แล้วก็ค่อยเลือกตัวที่มีน้ำหนักต่อการชำระหนี้ มีความเหมาะสม ก็เลือกมาได้ 20 ตัว อย่างเช่น จำนวนบัญชีสินเชื่อที่มีอยู่ การผิดนัดชำระหนี้ หรือเคยมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อนหรือเปล่า อัตราส่วนของการใช้สินเชื่อ อย่างเช่น มีวงเงินสินเชื่ออยู่ 100 บาท ลูกค้าที่จะมีระดับที่ชำระหนี้ที่ดี ก็มักจะใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ถ้าเป็นลูกค้าที่เริ่มจะมีอาการ ก็อัตราการใช้วงเงินสูง แล้วก็มีหลายๆบัญชีด้วย

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว

ตอนนี้กำลังทดสอบตัวโมเดล ซึ่งอันนี้ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีก่อน ตอนนี้ทดสอบโมเดล พอเดือนเมษายนหลังได้โมเดลมาแล้วก็จะมาทดสอบการใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินแต่ละแห่งมุ่งเน้นที่ลูกค้าคนละกลุ่ม แต่ละโมเดลก็จะเหมาะสมกับแบงก์แต่ละแห่งไป ก็เดือนกรกฎาคมเป็นเป้าหมายการใช้ของเรา แต่จะเอาให้แน่ก็ต้นไตรมาส 3

คะแนนที่ใช้กับสกอร์จะเป็นรูปแบบไหน

คือ เรื่องนี้คะแนนยังไม่ได้ไฟนอล แต่คิดว่าโดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ 300-800 กว่าคะแนน เต็มพันคงยาก ซึ่งระบบตรงนี้ก็เป็นระบบที่ประเทศอื่นๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา ก็ใช้กัน จริงๆ มีทางนำเสนอตัวคะแนนนี่อีกหลายอย่าง ก็มีการทำเป็นสัดส่วนแบบเปอร์เซ็นต์ หรือจะแบ่งเป็นช่วงแบบ เอ บี ซี ดี อี ก็ได้ มันมีประเทศที่ใช้แบบที่ 1 แบบที่ 2 หรือแบบที่ 3 ซึ่งเราก็กำลังศึกษาว่าจะใช้แบบไหน

น้ำหนักของข้อมูลเครดิตบูโรที่แบงก์ใช้ในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ

ในส่วนของลูกค้ารายย่อย คิดว่าแบงก์ใช้ประมาณ 60% ถ้าเป็นบริษัท ถ้าเป็นธุรกิจใช้ประมาณ 30-40% เพราะในส่วนธุรกิจนั้นจะต้องใช้ข้อมูลอื่นๆ เข้ามาประกอบมากกว่า เช่น ประเภทธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น-ขาลง เป็นต้น ทำให้เขาต้องให้น้ำหนักในหลายๆด้าน และให้น้ำหนักในเรื่องของธุรกิจมากกว่าประวัติการชำระหนี้ แต่ถ้าบุคคลจะให้น้ำหนักประวัติการชำระหนี้มากกว่า

ถ้ามีสกอริงแล้ว การให้น้ำหนักก็คงจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เพียงแต่จะมีเครื่องมือมากขึ้น จากที่เดิมมีแต่ข้อมูลตรงนี้ แล้วก็ไปใช้เครื่องมือของเขาเอง ก็จะมีข้อมูลส่วนนี้มากขึ้น แล้วแบงก์ก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้น แม่นยำมากขึ้น คือก็จะมีคนผ่านเกณฑ์การพิจารณาขั้นต้นเพิ่มขึ้น แล้วจึงค่อยไปใช้เกณฑ์ของแบงก์ต่อไป จึงทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงมีมากขึ้น

ปีนี้มีแผนดำเนินงานอะไรอีกบ้าง

เราก็มีแผนที่จะรวบรวมตัวเลขเครดิตที่เราทำอยู่ในเชิงสถิติ ถ้าทำออกมาก็น่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งสถาบันการเงิน หรือผู้ที่บริหารนโยบาย เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่ามันมีหนี้ที่เพิ่มขึ้นจริงเท่าไหร่ สงสัญญาณอย่างไรบ้าง แต่ตัวเลขพวกนี้บางทีก็เป็นเรื่องอ่อนไหว ก็กำลังกำหนดหลักเกณฑ์อยู่ว่าจะนำมาใช้อย่างไร ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นการป้องระวังว่าเศรษฐกิจมันร้อนแรงไป หรือเศรษฐกิจมันชะลอลงแล้ว ก็ต้องระมัดระวัง เป็นตัวที่เรากำลังจะทำ ซึ่งก็คงจะใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่น่าจะเป็นในช่วงปีนี้

อย่างในตอนนี้ เราก็บอกได้แค่ว่า จากเศรษฐกิจที่ชะลอลง ผลที่เกิดขึ้นก็คือการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถประเมินออกมาได้ว่าเท่าไหร่ กลุ่มไหน เพราะยังไม่ได้จัดทำข้อมูลตรงนี้อย่างละเอียด แต่ถ้ามีการทำข้อมูลตรงนี้ ก็จะบอกได้มากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจ

ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา

ในปีที่แล้วก็ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ มีกำไรประมาณ 60 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย สมาชิกตอนนี้มี 80 ราย ตัวสมาชิกไม่ได้เพิ่ม มีลดลงบางส่วนด้วย เพราะสถาบันการเงินบางแห่ง อย่างลีสซิ่งหรืออะไรควบรวมกัน ซึ่งดูจากสมาชิกตอนนี้แล้ว ก็เรียกได้ว่าเกือบจะครบถ้วนแล้ว ยังคงมีอีกกลุ่มที่เรากำลังพยายามเชื้อเชิญให้เข้ามา ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ ก็คือ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แต่ล่าสุด ก็ได้ข่าวว่า ทาง ก.ล.ต.ก็กำลังพิจารณาเรื่องนี้

คือ ตอนที่เราไปคุยกับเขาครั้งก่อนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่ เรื่องความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าของธุรกิจก็ยังไม่ค่อยมีปัญหา คือเศรษฐกิจดี หุ้นก็ยังไม่ตก ไม่มี คอลมาร์จิน พอเศรษฐกิจแบบนี้มี บล.บางแห่งที่มีปัญหา ก็คือ คอลมาร์จิน ไม่สามารถคอลได้ แล้วก็ยังต้อง ฟอร์ซเซลล์ทำให้ราคาลงไปอีก ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่คิดว่า มีความจำเป็นที่น่าจะต้องทำดิวดิลิเจนท์ลูกค้าก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ได้นัดคุยกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์อีกรอบ เพราะผมว่าน่าจะมีประโยชน์ แม้ บล.จะคิดว่ามีประโยชน์น้อยในช่วงเศรษฐกิจดี เพราะมันเป็นหลักการที่ถูกที่ก่อนจะรับลูกค้าเข้ามาก็ควรจะมีการดิวลิเจนท์ก่อน

เรื่องของความเข้าใจในหน้าที่เครดิตบูโรนั้น มาถึงตอนนี้แล้ว ก็เชื่อว่าคนส่วนมากก็รู้จักแล้วว่ามีเครดิตบูโรอยู่ แล้วก็มีผลต่อการขอสินเชื่อของเขา แล้วสถาบันการเงินก็ใช้ขอตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาขอสินเชื่อของเขาถ้าไม่ใช่ลูกค้าของเขามาก่อน ดังนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ผมมองว่าถ้าวันนี้ถ้าเราไม่ข้อมูลเครดิต วันนี้แบงก์จะยิ่งไม่ปล่อยสินเชื่อมากกว่านี้อีก โอกาสที่จะบอกว่าเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่ออะไรนี่จะยากกว่านี้ ยิ่งในช่วงแบบนี้คงจะไม่มีใครกล้าทำสินเชื่อเอสเอ็มอีแล้ว เพราะไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นอย่างไร และถ้าวันนี้ไม่มีเครดิตบูโร เราอาจจะใกล้เคียงกับปี 40 แต่วันนี้เราถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี แต่สถาบันการเงินก็ยังแข็งแรง อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจริงๆ ตามหลักการแล้ว ถ้าเราจะให้สินเชื่อใคร เราต้องรู้จักลูกค้า ประเมินลูกค้าให้ดีก่อน จะได้รู้ว่าความเสี่ยงเป็นอย่างไร มีหลายข่าวเรื่องที่สร้างความยุ่งยากไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าถ้าวันนี้ไม่มีเครดิตบูโรแล้ว มันจะยิ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ แล้วก็อยากให้มองระยะยาว ถ้าสถาบันการเงินซึ่งเป็นแหล่งทุน ถ้าเราทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นคงก็จะกระทบในวงกว้าง

ในเรื่องของการชะลอปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น จริงๆแล้วสถาบันการเงินอยากปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เพราะเป็นอาชีพเขา รัฐไม่ต้องบังคับให้ปล่อยก็ได้ แต่การที่เขาจะปล่อยก็ต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง และส่วนหนึ่งก็ต้องช่วยให้เขาสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ดีขึ้น ยิ่งถ้ายังเป็นลูกค้าที่ดีอยู่ทำอย่างไรที่จะหาข้อมูลมาช่วยให้เห็นได้ว่าลูกค้าคนนี้ยังมีโอกาสมีความสามารถ ส่วนลูกค้าที่มีความสามารถน้อยลงนั้น ก็ควรจะให้แบงก์รัฐเข้ามาดูแล

คุณนิวัฒน์มองภาวะเศรษฐกิจตอนนี้อย่างไร

ตอนนี้ปัญหาคือความมั่นใจ คนไม่มีความมั่นใจ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกคนต้องชะลอ ทั้งๆที่ตัวเองอาจจะมีศักยภาพในการลงทุนหรือทำอะไรก็ตาม แต่ด้วยความไม่มั่นใจตรงนี้ก็เลยทำให้เศรษฐกิจเราแย่ลง ก็ขึ้นอยู่กับรัฐว่ามีวิธีการอย่างไรที่เรียกความมั่นใจกลับมา มีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่ารัฐเอาอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หลังจากมีความมั่นใจแล้ว ก็จะเริ่มมีการลงทุนเข้ามา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้จากเรา เราไม่ได้เกิดซับไพรม์ ไม่มีปัญหาเรื่องพลังงานราคาสูง เราอาจกระทบมากเรื่องส่งออก แล้วมากระทบเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคลดลง ถ้ากระตุ้นการบริโภคได้ เราก็แค่รอจังหวะให้เศรษฐกิจภายนอกฟื้น โดยเฉพาะคู่ค้าใหญ่ๆ 2-3 ประเทศ ก็จะช่วยเข้ามาอีกทาง ก็จะดีขึ้น
ที่มาเครดิต บูโร

เดิมบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คือบริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ทุนจดทะเบียน 26 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ไทย 13 แห่งที่เป็นสมาชิกและสมาคมธนาคารไทยเป็นผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ได้ให้บริการข้อมูลเครดิตทั้งด้านข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา และข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้สถาบันการเงินต่างๆ ได้ใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ

ปี 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด และ ได้ลงทุนพัฒนาระบบรายงานข้อมูลเครดิต 2 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (Consumer Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Trans Union International หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการข้อมูลเครดิตของโลก และ 2) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Credit Reporting System) ต่อมาในปี พ.ศ.2548 บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้ร่วมกิจการกับบริษัทข้อมูลเครดิตอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย จำกัด โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 250 ล้านบาท และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ในเวลาต่อมา

กำลังโหลดความคิดเห็น