สคร.โต้ข่าวรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง ขาดทุนหนัก-ประสบปัญหาวิกฤตการเงิน ยันภาพรวมยังมีผลดำเนินงานน่าพอใจ พร้อมยอมรับ ขสมก. ร.ฟ.ท. กคช.และการบินไทย มีปัญหาจริง แต่อ้างถูกจำกัดราคาค่าบริการให้ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อบริการประชาชนอย่างทั่วถึง และปัญหาเศรษฐกิจ-ภาวะน้ำมันแพง ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐวิสาหกิจในประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างหนัก และหลายแห่งกำลังโคม่า โดยระบุว่า ฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมยังเข้มแข็งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่การดำเนินงานในปี 2552 ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก
อย่างไรก็ตาม สคร.ในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ จะติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดแบบเดือนต่อเดือน เพื่อให้สามารถออกมาตรการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ทัน และมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 6.86 ล้านล้านบาท มีหนี้สินรวมประมาณ 5.16 ล้านล้านบาท และมีทุนรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐวิสาหกิจในภาพรวมยังเติบโตต่อเนื่องและยังคงมีความมั่นคงทางการเงินในระดับสูง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากมาตรการของกระทรวงการคลังให้รัฐวิสาหกิจมีวินัยในการก่อหนี้มากขึ้น
ส่วนปัญหาทางการเงินของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า การก่อหนี้ของ ขสมก. ร.ฟ.ท.และ กคช.เพื่อการดำเนินงานตามปกติ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจดังกล่าวถูกจำกัดราคาค่าบริการให้ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อบริการประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจและภาวะน้ำมันแพงในปีผ่านมา ทำให้รัฐวิสาหกิจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2551 คาดว่า จะทำให้ฐานะทางการเงิน และปัญหาเรื่องการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้พัฒนาดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับการบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก ปัญหาน้ำมันแพง และปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งปัจจุบันการบินไทย ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เชื่อว่า ปัญหาของการบินไทยจะเป็นปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เองในระยะเวลาสั้น
นายอารีพงศ์ กล่าวถึงความสามารถในการทำรายได้ และสร้างกำไรของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมปี 2551 พบว่า รัฐวิสาหกิจสามารถทำรายได้รวมกันประมาณ 3.68 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 2550 ที่มีรายได้ 3.05 ล้านล้านบาท และมีกำไรรวม 170,000 ล้านบาท ลดลงกว่าปี 2550 ที่มีกำไร 200,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่กำไรรวมที่ลดลงมาจากราคาต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนพลังงานและค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยเมื่อราคาน้ำมันลดลงมาก จะทำให้ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจในปี 2552 ไม่ถูกกระทบมากเช่นในปี 2551