xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เชื่อ ดบ.ขาลง-บาเซิล 2 บีบสเปรดได้ “โฆสิต” หวั่นเป็นยาเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.มั่นใจนโยบาย ดบ.ขาลง-บาเซิล 2 มีประสิทธิภาพบีบ “สเปรด” ดบ.เงินฝาก-เงินกู้ ในระบบ ธ.พาณิชย์ ในปี 52 ให้แคบลงได้ “โฆสิต” สับมาตรการหั่น ดบ.นโยบาย เริ่มเป็นยาเสื่อมคุณภาพ หวั่นกระทบด้านเงินออม แฉปม "เอสเอ็มอี" มีความเป็นอิสระสูง ต้นตอแบงก์หวาดผวาปล่อยกู้

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 เพราะถูกกระทบจากส่วนอัตราดอกเบี้ยรับและจ่าย (สเปรด) ที่ปรับลดลงจากเฉลี่ยทั้งระบบตลอดปี 2551 ที่ระดับ 3.2% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังเป็นช่วงขาลง ดังนั้น ในอนาคตธนาคารพาณิชย์จึงจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาเพื่อรักษาความสามารถแข่งขัน

ทั้งนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งทั้งระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วน 60% เป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน ครบกำหนดระยะเวลา จะทำให้ธนาคารกำหนดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายได้ชัดเจนขึ้น ในขณะที่กลไกการแข่งขันจะทำให้เกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดลงอีกในระยะต่อไป จะทำให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้มากขึ้นกว่าการปรับลดในปัจจุบัน ส่งผลให้สเปรดแคบลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยรวมลดลง

นอกจากนี้ ธปท.ยังเชื่อว่า แนวโน้มในระยะยาว โครงสร้างทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (บาเซิล) ฉบับที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งเน้นการลดต้นทุนประกอบการและเพิ่มการแข่งขันในระบบการเงิน คาดว่าจะเป็นตัวกดดันให้สเปรดแคบลง แต่การลดลงจะต้องมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ขณะนี้ ผลตอบแทนการออมของลูกค้าหายไป เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ขยับเข้าใกล้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ขึ้นเรื่อยๆ หลังนโยบายดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดูแลให้เกิดความพอดีทั้งผู้กู้และผู้ฝาก ส่วนสภาพคล่องในประเทศถือว่ายังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

“ธนาคารพาณิชย์จะฟังสัญญาณจาก ธปท. ในการปรับลดดอกเบี้ย เพราะเรื่องดอกเบี้ยก็ต้องใช้เวลาคิดนาน หากลดมากคนออมก็จะเดือดร้อน”

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1-1.5% ฝากประจำ 6 เดือน อยู่ที่ 1.25% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยที่ 0.75% และมีแนวโน้มที่จะลดลงได้อีก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) ยายโฆษิต อยากให้สังคมมองว่า สถาบันการเงินที่เข้มแข็งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ หากสถาบันการเงินทรุดแล้วจะกู้กลับคืนได้ยาก เหมือนปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เวลาเป็นปี

ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในปี 2552 ต้องการเติบโต 5% แต่เมื่อรัฐบาลออกมาระบุว่า บรรยากาศเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ถึงไตรมาสแรกปี 2552 อาจจะติดลบ ก็จะทำให้ยอดสินเชื่อไม่ดีนัก แต่จะกลับมากระเตื้องอีกครั้งในไตรมาส 3 ตามทิศทางการ แก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะเห็นผล

นายโฆสิต กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องพึ่งตัวเอง ไม่สามารถหวังพึ่งต่างประเทศได้ รัฐบาลจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชน และต้องให้ประเทศมีการ สร้างงาน เพื่อดูแลตัวเองได้

“เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตต่ำอีกนานพอควร อาจต้องเผชิญปัญหา 1-2 ปี ที่ผมห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตอนนี้ คือ เราจะเป็นพันธมิตรระหว่างกันได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา 20 ปี เอสเอ็มอีของไทยมีความเป็นอิสระสูง ภาวะอย่างนี้เราจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร”

นายโฆสิต กล่าวยอมรับว่า วิกฤตสถาบันการเงินขณะนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อน โดยยกตัวอย่างสหรัฐฯ ธนาคารกลางได้กดดอกเบี้ยเหลือ 0.25% หรือแม้จะกดถึง 0% ก็ใช้นโยบายการเงิน ซึ่งเป็นวิศวกรรมการเงินก็ไม่ได้ผล รัฐบาลจึงต้องใส่เงินโดยตรง และคราวนี้ปัญหาจะนานไม่เหมือน ในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น