xs
xsm
sm
md
lg

กคช.ดิ้นสางปัญหา "บ้านเอื้อฯ" โละที่ดิน 7 พันไร่ ล้างหนี้ 8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กคช.ดิ้นสางขยะใต้พรม "โครงการบ้านเอื้ออาทร" ยุครัฐบาลทักษิณ จัดทำแผนฟื้นฟู 6 มาตรการ ชงด่วน ครม.สัปดาห์หน้า หวังเพิ่มความคล่องตัว-หนีภาวะล้มละลาย หลังสร้างแล้วขายไม่ออก หลายพื้นที่กลายเป็นหมู่บ้านร้าง 4 หมื่นยูนิต แบกต้นทุนเงินกู้และดอกเบี้ยสูงถึง 8 หมื่นล้าน เตรียมขนที่ดิน 7 พันไร่ ทั่วประเทศออกขายล้างหนี้

นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช.ได้เสนอ 6 แนวทาง เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งได้ยื่นเรื่องต่อนายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปแล้ว เมื่อวานนี้ (30 มกราคม 2552)

ทั้งนี้ กคช. ได้จัดทำข้อเสนองบประมาณปี 2553 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท พร้อมแผนการแก้ปัญหาในโครงการบ้านเอื้ออาทรเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอมติเห็นชอบใน 6 เรื่องหลัก คือ 1.การยกเลิกข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการโอนบ้านให้ซื้อบ้านเอื้ออาทร จากเดิมที่กำหนดว่า การเคหะจะสามารถมอบโอนบ้านให้แก่ประชาชนได้ในปีที่ 6 หลังจากที่ผู้ซื้อผ่อนจ่ายค่างวดต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป

2.จะขอเสนอให้สามารถขายยกอาคารบ้านเอื้อฯ สำหรับโครงการที่อยู่ในโซนโรงงานอุตสาหกรรม ให้แก่บริษัท หรือนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานราชาการ ที่ต้องการนำใช้เป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน หรือเป็นบ้านพักข้าราชการ เป็นต้น

3.การขอปรับราคาขายบ้านในบางพื้นที่ หรือในบางส่วนของโครงการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการตั้งราคาขาย โดยให้ กคช.สามารถตั้งราคาขายที่ต่างกันได้ ตามความเหมาะสม หรือในบางทำเลราคาที่ดินมีราคาสูงก็ให้สามารถปรับราคาขายได้จากเดิมราคาขายอยู่ที่ 3.99 แสนบาทต่อหน่วย

4.การขออนุมัติการสนับสนุนด้านระบบคมนาคม จากหน่วยงานรัฐบาล 5.การจัดหาสถาบันการเงินมาสนับสนุนสินเชื่อแก่ลูกค้าในโครงการ จากเดิมที่มีอยู่ 2 ธนาคาร คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และออมสิน

6.ขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% หรือ 4% ระยะยาวในลักษณะขั้นบันได 30 ปี ให้แก่ลูกค้าบ้านเอื้อฯ ซึ่งในส่วนนี้ รัฐบาลอาจจะตั้งเป็นกองทุน หรือจัดหาแหล่งเงินใหม่ๆ ให้ในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท แต่ในปีแรกขอไว้ 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากแผนฟื้นฟูดังกล่าวแล้ว ยังเตรียมนำที่ดินที่ซื้อไว้เพื่อจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรจากเอกชนจำนวน 7,000 ไร่ทั่วประเทศ รวมมูลค่า 20,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีการยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรบางส่วน โดยถือเป็นภาระต้นทุนที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Sunk Cost มาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเบื้องต้นได้จัดแบ่งที่ดินออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ที่ดินทำเลดีมีศักยภาพที่ กคช.พร้อมจะลงทุนเอง หรือเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากเกินกว่า 1 พันล้านบาท ก็คงต้องเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุน แต่หากเอกชนต้องการซื้อเพื่อพัฒนาเองการเคหะก็พร้อมขายให้

สำหรับผลประกอบการปีงบประมาณ 2551 กคช.ขาดทุน 941 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ที่ขาดทุน 1,305 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปีงบประมาณ 2552 ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทร ขณะนี้ อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมมีกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน กคช.แบกภาระดอกเบี้ยโครงการบ้านเอื้ออาทรเฉพาะในส่วนของที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีคนเข้าอยู่อาศัย ซึ่งมีกว่า 4 หมื่นยูนิต โดยมีภาระดอกเบี้ยต่อเดือนยูนิตละ 1,500 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น