xs
xsm
sm
md
lg

ไฟลามบ้านเอื้อฯ100โครงการวุ่นอิตัลไทยสร้างมั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลพวงระบอบทักษิณสร้างปัญหาไม่จบสิ้น โครงการบ้านเอื้ออาทรส่อล้มเป็นโดมิโน "ปัญญาอินทรา-คู้บอน" โดนเขตคลองสามวาสั่งรื้อแล้ว หลังพบอิตาเลียนไทยฯ ก่อสร้างไม่ขอใบอนุญาต-อีไอเอไม่ผ่าน ผู้ว่าฯ กคช.ตื้อไม่รื้อ เร่งเจรจา สผ.จัดทำอีไอเอเป็นกรณีพิเศษ แฉอีก 100 โครงการเข้าข่ายล้ม ขณะที่แผนฟื้นฟูฯ ชง ครม.ตั้งกองทุนฯ 2-5 หมื่นล้าน ปล่อยกู้คนซื้อบ้าน

โครงการประชานิยมบ้านเอื้ออาทรมูลค่าหลายแสนล้านบาท กำลังกลายเป็น "ปม" ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อองค์อย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และรวมถึงประชาชนผู้ซื้อ ที่ต้องมารับชำระกรรมจากการเร่งรัดโครงการบ้านเอื้อฯ ขณะที่รัฐต้องนำงบประมาณแผ่นดินที่เป็นงบผูกพัน ไปสำหรับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ แม้โดยรวมแล้ว โครงการบ้านเอื้อฯจะส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย แต่กลับกลายเป็น "ช่องทาง" แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งในเรื่องการปั่นราคาที่ดิน การสร้างตัวเลขความต้องการซื้อที่สูงเกินความเป็นจริง หรือ ดีมานด์เทียม ทำให้เป็นภาระในการขาย เนื่องจากในแต่ละโครงการมียูนิตเหลือขายจำนวนมาก
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2551 สำนักงานโยธาธิการคลองสามวา ได้ออกหนังสือคำสั่งให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในฐานะผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรปัญญาอินทรา ดำเนินการรื้อถอนอาคารชุดจำนวน39 อาคารในโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 30 วัน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรการ 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 อันเนื่องจากโครงการดังกล่าว มิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างฯ และยังไม่มีการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามระยะเวลาที่กำหนด
โดยสำนักงานเขตได้ออกใบประกาศแจ้งเตือน ปิดประกาศในพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว เพื่อให้บริษัทอิตาเลียนไทย ดำเนินการรื้อถอนอาคารชุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน30วัน โดยคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่11 ธ.ค.2551ที่ผ่านมา
สาเหตุที่มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารชุดดังกล่าวนั้น เนื่องจาก บริษัทอิตาเลียนไทยฯดำเนินการก่อสร้างโครงการ ทั้งๆที่ โครงการนั้นยังไม่ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างฯต่อสำนักงานเขตให้ถูกต้อง ซึ่งหลังจากได้มีการแจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือต่อ บริษัท อิตาเลียนไทยฯและกคช.ในฐานผู้ดำเนินการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทรไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวได้รับการชี้แจงว่า กคช.อยู่ระหว่างการเร่งทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตในฐานะรับผิดชอบดูแลการขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ จำเป็นต้องดำเนินเรื่องดังกล่าวตามขั้นตอนของระเบียบราชการ ซึ่งหากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ยังไม่ดำเนินการรื้อถอนอาคารชุดดังกล่าวตามที่มีการแจ้งเตือนตามระยะวเลาที่กำหนดแล้วนั้น สำนักงานเขตจำเป็นต้องยื่นเรื่องต่อศาลดำเนินการบังคับคดีให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าว ซึ่งหากผู้รับผิดชอบไม่ดำเนินการรื้อถอนตามเวลาที่กำหนด สำนักงานเขตก็จำเป็นต้องเรียกเงินค่าปรับจากการกระทำผอดดังกล่าว ซึ่งการคิดค่าปรับนั้นจะพิจารณาปรับเป็นรายวันหรือรายเดือนต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม หาก กคช.ดำเนินการขออนุญาตสิ่งแวดล้อมผ่านแล้ว ให้นำใบอนุญาตมายื่นต่อสำนักงานเขตก็สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ เชื่อว่า กคช.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการด้วยกัน น่าจะสามารถหาข้อสรุปหรือพูดคุยกันได้ในเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาเดียวกันนี้ในโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระห่างการดำเนินการก่อสร้างและขออนุญาตEIA อยู่ ซึ่งเท่าที่ทราบยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทรคู้บอนอีกหนึ่งโครงการที่มีปัญหาเดียวกันนี้

***ระทึก100กว่าโครงการไม่ผ่านEIA
ด้านนายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกคช.รับว่า ปัจจุบันกคช.ยังมีโครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากกว่า 100 โครงการ ซึ่งเดิมทีเคยมีแผนที่จะยื่นขออีไอเอพร้อมกันเป็นแพกเกจ เนื่องจากแปลนก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งหมดมีรูปแบบเดียวกัน แต่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังไม่มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว
ส่วนกรณีปัญหาการออกหนังสือคำสั่งรื้อถอนโครงการบ้านเอื้ออาทรปัญญาอินทรา ของสำนักงานเขตคลองสามวานั้น กคช.ยืนยันจะไม่มีการสั่งรื้อโครงการดังกล่าว เนื่องจากการก่อสร้างถือว่าเป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่ได้เร่งเจรจากับ สผ.เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษแล้ว คาดว่าจะสามารถได้ใบอนุญาตผ่านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเร็วๆนี้ ส่วนปัญหาเรื่อค่าปรับในกรณีที่ยังไม่ผ่านอีไอเอ ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวมาที่ กคช.
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้อฯ ล่าสุดมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วรวม 168,630 หน่วย ส่งมอบอาคารแล้ว 73,187 หน่วย จากจำนวนหน่วยการก่อสร้างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการปรับลดลงจาก 600,000 หน่วยเหลือ 300,504 หน่วย ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีจำนวน 130,000
หน่วยเศษ ซึ่งในส่วนนี้ จะต้องขอครม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มอีกจำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ้านในส่วนที่เหลือดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หลังจาก กคช. มีการจัดทำกรอบการปรับลดจำนวนหน่วยการก่อสร้างบ้านเอื้อฯ ตามจำนวนความต้องการซื้อจริง ซึ่งล่าสุดได้เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้มีการปรับลดจำนวนการก่อสร้างเหลือ 280,000 หน่วยเศษ

***บริษัทที่ปรึกษาทำแผนEIAเกลื่อน!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จริงๆแล้ว ในเรื่องของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นเจ้าของโครงการที่ต้องเสนอไป ซึ่งในสัญญาก็มีระบุชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ได้รับงานจะไม่ทำ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า มีบริษัทจำนวนมากที่เข้ามารับหน้าที่ในการทำรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โดยก่อนหน้านี้ ผู้บริหารในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ที่ได้รับงานดังกล่าวอย่างมาก
"เรื่องการจะทุบตึกบ้านเอื้อฯ คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นทรัพย์สินของ กคช.ไปแล้ว หลังจากมีการเซ็นรับโอนโครงการ ดังนั้น ทั้งกคช.และสวล.ในฐานะองค์กรของรัฐบาลดัวยกัน ต้องเดินหน้าโครงการที่มีปัญหาต่อไป ซึ่งในความเป็นจริง การก่อสร้างไม่ผิด แต่ผิดตรงที่ขั้นตอน" รายงานข่าวระบุ

***เสนอแผนแก้ปัญหาขาดทุน
นายสุชาติ กล่าวว่า กคช.เตรียมที่จะเสนอแผนให้ครม.อนุมัติเงินชดเชยเงินการขยายอายุสัญญาจ้าง ตามที่ครม.ในรัฐบาลชุดก่อนอนุมัติให้มีการยืดอายุสัญญาจ้างออกไป 2 ครั้งครั้งละ 180 วันให้แก่กคช.นำไปใช้ลดปัญหาการขาดทุนด้วย
ในส่วนของการแก้ปัญหาขาดแหล่งเงินกู้เพื่อปล่อยกู้ผู้ซื้อบ้านเอื้อฯ นอจากแผนเดิมที่เตรียมเสนอ ครม.ให้ช่วยในการจัดหาแหล่งเงินกู้เพิ่ม จากเดิมที่มีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสินแล้ว ยังเตรียมเสนอให้รัฐบาลผลักดันให้มีการดำเนินจัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำ 3-4% ระยะยาว10-30ปี เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งงานได้มากขึ้นด้วย
"กองทุนดังกล่าว รัฐบาลอาจจะมีการจัดตั้งในรูปแบบ บริษัท หน่วยงานราชการ หรือจะมอบหมายให้กคช.เป็นผู้ดำเนินการเองนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่กระทรวงการคลังจะกำหนดโมเดลขึ้นมา ในเบื้องต้นคาดว่ากองทุนดังกล่าวต้องมีวงเงินขั้นต่ำ 20,000-50,000 ล้านบาท "

***ยอดลูกค้าไม่กู้ซื้อบ้านเอื้อฯ 50%
ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวถึงปัญหาการทิ้งบ้านของลูกค้าบ้านเอื้อฯนั้น มีอยู่ประมาณ 5%ของลูกค้าทั้งหมดที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ในขณะที่ลูกค้าที่มีการทำสัญญาจองและวางเงินมัดจำแล้วเปลี่ยนใจยกเลิกมีประมาณ 10% และส่วนลูกค้าที่มีการนำรายชื่อยื่นของกู้แล้วเปลี่ยนใจไม่กู้ประมาณ 50% ส่วนจำนวนลูกค้าที่มีการยื่นก็ไปแล้วแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ของสถาบันการเงินมีประมาณ 30%
"สำหรับลูกค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์การขอเงินกู้กับสถาบันการเงิน แต่ยังต้องการซื้อบ้านเอื้อฯนั้น กคช. เปิดให้สามารถทำสัญญาเช่าซื้อกับ กคช. โดยลูกค้ารายใดที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ก็จะนำรายชื่อเสนอสถาบันการเงินอีกครั้ง และเมื่อธนาคารเห็นประวัติและมีวงเงินผ่อนที่สะสมอยู่ ส่วนใหญ่จะอนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อให้" นายสุชาติกล่าวอย่างมั่นใจ

***คาดแผนฟื้นฟูฯพลิกไม่ขาดทุน
ในส่วนของปัญหาหนี้สินโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวน78,000 ล้านบาท หากรัฐบาลอนุมัติตามกรอบแผนการแก้หนี้ 6 ข้อ ที่กคช.เสนอไป ก็จะช่วยให้ในปีนี้ กคช.สามาถรพลิกกลับมามีผลประกอบการไม่ขาดทุนต่อเนื่องติดต่อเป็นปีที่ 3 ได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 52 กคช.มีหนี้สินที่ครบกำหนดต้องชำระอยู่ทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้า ได้ชำระหนี้ไปแล้ว2 ครั้ง ครั้งแรกชำระไป 1,800ล้านบาท และครั้งล่าสุด 2,000 ล้านบาทเศษ สะท้อนให้เห็นว่า กคช.ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ทั้งนี้ ในโอกาสที่ครบรอบ 36 ปี ได้เตรียมจัดงาน "ตลาดนัดบ้านเอื้ออาทร " โดยจะนำบ้านเอื้อฯที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและกำลังจะแล้วเสร็จในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวม 127 โครงการ จำนวน56,854 หน่วยร่วมงาน โดยผู้ที่ซื้อบ้านในงานจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 5-5.25% งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 ก.พ.นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น