xs
xsm
sm
md
lg

ไฟลามบ้านเอื้อฯ 100 โครงการวุ่น “อิตัลไทย” สร้างมั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไฟลามบ้านเอื้อฯ 100 โครงการวุ่นอิตัลไทยสร้างมั่ว

ผลพวงระบอบทักษิณสร้างปัญหาไม่จบสิ้น โครงการบ้านเอื้ออาทรส่อล้มเป็นโดมิโน “ปัญญาอินทรา-คู้บอน” โดนเขตคลองสามวาสั่งรื้อแล้ว หลังพบอิตาเลียนไทยก่อสร้างไม่ขอใบอนุญาต-อีไอเอ ไม่ผ่าน ผู้ว่าฯ กคช.ตื้อไม่รื้อ เร่งเจรจา สผ.จัดทำอีไอเอเป็นกรณีพิเศษ แฉอีก 100 โครงการเข้าข่ายล้ม ขณะที่แผนฟื้นฟูฯ ชง ครม.ตั้งกองทุน 2-5 หมื่นล้าน ปล่อยกู้คนซื้อบ้าน

โครงการประชานิยมบ้านเอื้ออาทรมูลค่าหลายแสนล้านบาท กำลังกลายเป็น “ปม” ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อองค์อย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และรวมถึงประชาชนผู้ซื้อ ที่ต้องมารับชำระกรรมจากการเร่งรัดโครงการบ้านเอื้อฯ ขณะที่รัฐต้องนำงบประมาณแผ่นดินที่เป็นงบผูกพัน ไปสำหรับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ แม้โดยรวมแล้ว โครงการบ้านเอื้อฯจะส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย แต่กลับกลายเป็น “ช่องทาง” แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งในเรื่องการปั่นราคาที่ดิน การสร้างตัวเลขความต้องการซื้อที่สูงเกินความเป็นจริง หรือ ดีมานด์เทียม ทำให้เป็นภาระในการขาย เนื่องจากในแต่ละโครงการมียูนิตเหลือขายจำนวนมาก

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2551 สำนักงานโยธาธิการคลองสามวา ได้ออกหนังสือคำสั่งให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในฐานะผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรปัญญาอินทรา ดำเนินการรื้อถอนอาคารชุดจำนวน39 อาคารในโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 30 วัน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรการ 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 อันเนื่องจากโครงการดังกล่าว มิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างฯ และยังไม่มีการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามระยะเวลาที่กำหนด

โดยสำนักงานเขตได้ออกใบประกาศแจ้งเตือน ปิดประกาศในพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว เพื่อให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดำเนินการรื้อถอนอาคารชุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน30วัน โดยคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่11 ธ.ค.2551 ที่ผ่านมา

สาเหตุที่มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารชุดดังกล่าวนั้น เนื่องจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดำเนินการก่อสร้างโครงการ ทั้งๆ ที่โครงการนั้นยังไม่ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างฯต่อสำนักงานเขตให้ถูกต้อง ซึ่งหลังจากได้มีการแจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือต่อ บริษัท อิตาเลียนไทย และ กคช.ในฐานผู้ดำเนินการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทรไปแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวได้รับการชี้แจงว่า กคช.อยู่ระหว่างการเร่งทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตในฐานะรับผิดชอบดูแลการขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ จำเป็นต้องดำเนินเรื่องดังกล่าวตามขั้นตอนของระเบียบราชการ ซึ่งหากบริษัท อิตาเลียนไทย ยังไม่ดำเนินการรื้อถอนอาคารชุดดังกล่าวตามที่มีการแจ้งเตือนตามระยะวเลาที่กำหนดแล้วนั้น สำนักงานเขตจำเป็นต้องยื่นเรื่องต่อศาลดำเนินการบังคับคดีให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าว ซึ่งหากผู้รับผิดชอบไม่ดำเนินการรื้อถอนตามเวลาที่กำหนด สำนักงานเขตก็จำเป็นต้องเรียกเงินค่าปรับจากการกระทำผอดดังกล่าว ซึ่งการคิดค่าปรับนั้นจะพิจารณาปรับเป็นรายวันหรือรายเดือนต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม หาก กคช.ดำเนินการขออนุญาตสิ่งแวดล้อมผ่านแล้ว ให้นำใบอนุญาตมายื่นต่อสำนักงานเขตก็สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ เชื่อว่า กคช.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการด้วยกัน น่าจะสามารถหาข้อสรุปหรือพูดคุยกันได้ในเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาเดียวกันนี้ในโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระห่างการดำเนินการก่อสร้างและขออนุญาตEIA อยู่ ซึ่งเท่าที่ทราบยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทรคู้บอนอีกหนึ่งโครงการที่มีปัญหาเดียวกันนี้

***ระทึก 100 กว่าโครงการไม่ผ่าน EIA

ด้าน นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กคช.รับว่า ปัจจุบัน กคช.ยังมีโครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากกว่า 100 โครงการ ซึ่งเดิมทีเคยมีแผนที่จะยื่นขออีไอเอพร้อมกันเป็นแพกเกจ เนื่องจากแปลนก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งหมดมีรูปแบบเดียวกัน แต่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังไม่มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว

ส่วนกรณีปัญหาการออกหนังสือคำสั่งรื้อถอนโครงการบ้านเอื้ออาทรปัญญาอินทรา ของสำนักงานเขตคลองสามวานั้น กคช.ยืนยันจะไม่มีการสั่งรื้อโครงการดังกล่าว เนื่องจากการก่อสร้างถือว่าเป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่ได้เร่งเจรจากับ สผ.เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษแล้ว คาดว่า จะสามารถได้ใบอนุญาตผ่านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเร็วๆนี้ ส่วนปัญหาเรื่อค่าปรับในกรณีที่ยังไม่ผ่านอีไอเอ ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวมาที่ กคช.

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้อฯ ล่าสุด มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วรวม 168,630 หน่วย ส่งมอบอาคารแล้ว 73,187 หน่วย จากจำนวนหน่วยการก่อสร้างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการปรับลดลงจาก 600,000 หน่วย เหลือ 300,504 หน่วย ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีจำนวน 130,000 หน่วย

หน่วยเศษ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องขอ ครม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มอีกจำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ้านในส่วนที่เหลือดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลังจาก กคช.มีการจัดทำกรอบการปรับลดจำนวนหน่วยการก่อสร้างบ้านเอื้อฯ ตามจำนวนความต้องการซื้อจริง ซึ่งล่าสุดได้เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้มีการปรับลดจำนวนการก่อสร้างเหลือ 280,000 หน่วยเศษ

***บริษัทที่ปรึกษาทำแผน EIA เกลื่อน!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จริงๆ แล้ว ในเรื่องของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นเจ้าของโครงการที่ต้องเสนอไป ซึ่งในสัญญาก็มีระบุชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ได้รับงานจะไม่ทำ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า มีบริษัทจำนวนมากที่เข้ามารับหน้าที่ในการทำรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยก่อนหน้านี้ ผู้บริหารในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ที่ได้รับงานดังกล่าวอย่างมาก

“เรื่องการจะทุบตึกบ้านเอื้อฯ คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นทรัพย์สินของ กคช.ไปแล้ว หลังจากมีการเซ็นรับโอนโครงการ ดังนั้น ทั้งกคช.และสวล.ในฐานะองค์กรของรัฐบาลดัวยกัน ต้องเดินหน้าโครงการที่มีปัญหาต่อไป ซึ่งในความเป็นจริง การก่อสร้างไม่ผิด แต่ผิดตรงที่ขั้นตอน” รายงานข่าวระบุ

***เสนอแผนแก้ปัญหาขาดทุน

นายสุชาติ กล่าวว่า กคช.เตรียมที่จะเสนอแผนให้ ครม.อนุมัติเงินชดเชยเงินการขยายอายุสัญญาจ้าง ตามที่ครม.ในรัฐบาลชุดก่อนอนุมัติให้มีการยืดอายุสัญญาจ้างออกไป 2 ครั้งครั้งละ 180 วันให้แก่ กคช.นำไปใช้ลดปัญหาการขาดทุนด้วย

ในส่วนของการแก้ปัญหาขาดแหล่งเงินกู้เพื่อปล่อยกู้ผู้ซื้อบ้านเอื้อฯ นอกจากแผนเดิมที่เตรียมเสนอ ครม.ให้ช่วยในการจัดหาแหล่งเงินกู้เพิ่ม จากเดิมที่มีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสินแล้ว ยังเตรียมเสนอให้รัฐบาลผลักดันให้มีการดำเนินจัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำ 3-4% ระยะยาว 10-30 ปี เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งงานได้มากขึ้นด้วย

“กองทุนดังกล่าว รัฐบาลอาจจะมีการจัดตั้งในรูปแบบ บริษัท หน่วยงานราชการ หรือจะมอบหมายให้กคช.เป็นผู้ดำเนินการเองนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่กระทรวงการคลังจะกำหนดโมเดลขึ้นมา ในเบื้องต้นคาดว่ากองทุนดังกล่าวต้องมีวงเงินขั้นต่ำ 20,000-50,000 ล้านบาท”

***ยอดลูกค้าไม่กู้ซื้อบ้านเอื้อฯ 50%

ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวถึงปัญหาการทิ้งบ้านของลูกค้าบ้านเอื้อฯนั้น มีอยู่ประมาณ 5% ของลูกค้าทั้งหมดที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ในขณะที่ลูกค้าที่มีการทำสัญญาจอง และวางเงินมัดจำแล้วเปลี่ยนใจยกเลิกมีประมาณ 10% และส่วนลูกค้าที่มีการนำรายชื่อยื่นของกู้แล้วเปลี่ยนใจไม่กู้ประมาณ 50% ส่วนจำนวนลูกค้าที่มีการยื่นก็ไปแล้วแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ของสถาบันการเงินมีประมาณ 30%

“สำหรับลูกค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์การขอเงินกู้กับสถาบันการเงิน แต่ยังต้องการซื้อบ้านเอื้อฯนั้น กคช.เปิดให้สามารถทำสัญญาเช่าซื้อกับ กคช.โดยลูกค้ารายใดที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ก็จะนำรายชื่อเสนอสถาบันการเงินอีกครั้ง และเมื่อธนาคารเห็นประวัติและมีวงเงินผ่อนที่สะสมอยู่ ส่วนใหญ่จะอนุมัติปล่อยกู้สินเชื่อให้” นายสุชาติ กล่าวอย่างมั่นใจ

***คาดแผนฟื้นฟูฯพลิกไม่ขาดทุน

ในส่วนของปัญหาหนี้สินโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวน 78,000 ล้านบาท หากรัฐบาลอนุมัติตามกรอบแผนการแก้หนี้ 6 ข้อ ที่ กคช.เสนอไป ก็จะช่วยให้ในปีนี้ กคช.สามาถรพลิกกลับมามีผลประกอบการไม่ขาดทุนต่อเนื่องติดต่อเป็นปีที่ 3 ได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 กคช.มีหนี้สินที่ครบกำหนดต้องชำระอยู่ทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้าได้ชำระหนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกชำระไป 1,800 ล้านบาท และครั้งล่าสุด 2,000 ล้านบาทเศษ สะท้อนให้เห็นว่า กคช.ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

ทั้งนี้ ในโอกาสที่ครบรอบ 36 ปี ได้เตรียมจัดงาน “ตลาดนัดบ้านเอื้ออาทร” โดยจะนำบ้านเอื้อฯที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและกำลังจะแล้วเสร็จในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวม 127 โครงการ จำนวน 56,854 หน่วยร่วมงาน โดยผู้ที่ซื้อบ้านในงานจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 5-5.25% งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น