xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.อ่วม! รถร่วมฯ ต้านเพิ่มรถเมล์เอ็นจีวีฉาว-รมต.ไล่บีบหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รถร่วมฯ ขสมก.บุกพบ รมช.คมนาคม จี้ ทบทวนโครงการรถเมล์ “เอ็นจีวี” โดยให้ลดจาก 4 พันคัน ลงเหลือ 3.5 พันคัน โวยถูกวิ่งทับเส้นทาง-แย่งส่วนแบ่งผู้โดยสาร ทำรายได้หด ขณะที่ รมช.ไล่เบี้ย ขสมก.เร่งสรุปนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี เพื่อนำเข้า ครม.พร้อมสั่งให้จัดการแก้ปัญหารถเถื่อนวิ่งทับเส้นทาง

นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน (รถร่วมฯ ขสมก.) และผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนทุกสมาคมกว่าร้อยคน ได้รวมตัวกันที่ด้านหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อเข้าพบ นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะนำมาวิ่งใน 145 เส้นทาง รวมกับรถเดิมที่มีอยู่ 1,800 คัน

ทั้งนี้ กลุ่มรถร่วมฯ ขสมก.ได้เรียกร้องให้ลดจำนวนรถลงเหลือ 3,500 คัน และปรับแผนเส้นทางการเดินรถใหม่ เพื่อไม่ให้ทับเส้นทางของรถร่วมเอกชนที่วิ่งให้บริการอยู่ ซึ่งกระทบต่อรายได้ของเอกชน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งยังขาดรายได้จากโครงการรถเมล์ฟรีของรัฐบาลด้วย

นายฉัตรชัย กล่าวยืนยันว่า ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ไม่ได้คัดค้านการจัดหารถโดยสารใหม่ของ ขสมก.แต่ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน หากรถโดยสารเอ็นจีวีทั้ง 4,000 คัน เข้ามาวิ่งให้บริการใน 145 เส้นทางใหม่ ที่ทาง ขสมก.กำหนดไว้ ซึ่งมีหลายเส้นทางที่ทับเส้นทางเดินรถของรถร่วมบริการเอกชน อีกทั้งจำนวนรถที่จัดหาใหม่เมื่อนำมารวมกับรถเก่าของ ขสมก.อีก 3,500 คัน จะทำให้มีรถโดยสารมีปริมาณมากถึง 7,500 คัน และจะส่งผลกระทบต่อการเดินรถของภาคเอกชนขาดรายได้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ได้ขอให้พิจารณาปรับลดจำนวนการจัดหารถโดยสารเอ็นจีวี จากเดิม 4,000 คัน ให้เหลือ 3,500 คัน และต้องไม่นำรถมาวิ่งทับเส้นทางของรถร่วมฯ พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรถร่วมบริการต้องแบกรับภาระการขาดทุนจากปัญหาราคาน้ำมัน เพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นค่าโดยสารไม่สอดคล้องกับต้นทุน รวมไปถึงมาตรการรถเมล์ฟรีของรัฐบาลในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา และจะมีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีก 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขาดรายได้ โดยมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลงถึงร้อยละ 50 จากเดิมมีรายได้ 6,000 บาทต่อวันต่อคัน ลดลงเหลือ 3,000 บาทต่อวันต่อคัน เท่านั้น

ขณะเดียวกัน รถร่วมบริการ ขสมก.ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาให้ ขสมก.ยกเลิกหนี้ค่าตอบแทนค้างเก่าที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้กับ ขสมก.ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 เป็นจำนวนรวมกว่า 500 ล้านบาท (อัตราจัดเก็บรถโดยสารธรรมดา 35 บาทต่อวันต่อคัน และรถโดยสารปรับอากาศ 60 บาทต่อวันต่อคัน) ซึ่งเดิมรัฐบาลชุดที่แล้วได้ผ่อนผันการชำระให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ

แต่เมื่อ ขสมก.ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการชำระหนี้ดังกล่าวคืนให้หมดภายใน 5 ปี จึงทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ส่วนค่าตอบแทนใหม่หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ผู้ประกอบการ ยืนยันว่า จะดำเนินการจ่ายให้กับ ขสมก.ตามปกติ เชื่อว่า รมช.คมนาคม จะรับข้อร้องเรียนไว้พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่หากไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว ทางสมาคมก็เตรียมที่จะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีต่อไป

ด้าน นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยม ขสมก. โดยระบุว่า กระทรวงได้มอบหมายงานให้ ขสมก.เร่งแก้ปัญหารถเถื่อนวิ่งทับเส้นทาง และสรุปเรื่องการนำเข้ารถเอ็นจีวี โดยมอบให้นโยบายไปว่า ขสมก.จะสามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใด

ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องจากกลุ่มรถร่วมบริการเอกชน ขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนโครงการนำเข้ารถเอ็นจีวี 4,000 คัน รวมทั้งขอยกเลิกหนี้คงค้าง 500 ล้านบาท รมช.คมนาคม ระบุว่า การยกเลิกหนี้จำนวน 500 ล้านบาทไม่สามารถทำได้ แต่ในเรื่องการทบทวนโครงการนำเข้ารถเอ็นจีวี กระทรวงจะตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เอกชน รัฐบาล และผู้ประกอบการ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น