xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์พาณิชย์ปี 51 กำไรพุ่งสวน ศก.ซบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์” นำทีมแบงก์ใหญ่ประกาศผลการดำเนินงานปี 51 โดยภาพรวมยังขยายตัว “กรุงเทพ” กำไรเพิ่ม 941.8 ล้าน หรือเพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่สินเชื่อขยายตัวถึง 13.2% ด้าน “ไทยพาณิชย์” โชว์ความแข็งแกร่ง กำไร 21,414 ล้าน โต 23.4% และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 16.3% และทหารไทย พลิกกำไรทั้งปี 529.60 ล้าน จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 43,541.18 ล้าน

ธนาคารกรุงเทพ รายงานผลการดำเนินงานสำหรับปี 2551 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 20,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และกำไรก่อนหักสำรองและภาษี จำนวน 35,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในปี 2551 สินเชื่อมีการขยายตัวดี ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิรายได้ค่าธรรมเนียม และกำไรจากการปริวรรตเงินตราสูงขึ้น ซึ่งรายรับรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย

โดยธนาคารมีการขยายตัวด้านสินเชื่อในปี 2551 ในอัตราร้อยละ 13.2 โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 เป็น 1,171,716 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากการที่ลูกค้าธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และเพื่อการลงทุนในขณะที่เงินฝากขยายตัวร้อยละ 3.5 ทำให้มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 1,311,477 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้มุ่งเน้นการแก้ไขหนี้มีปัญหา ทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 33.1 หรือลดลง 27,035 ล้านบาท เป็น 54,636 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 4.6 ของสินเชื่อรวม เทียบกับร้อยละ 7.9 ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2550

ในปี 2551 ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากปี 2550 จำนวน 1,594 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 เป็น 17,222 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากธุรกรรมพื้นฐานต่างๆ เช่น บริการเอทีเอ็ม บริการบัตรเครดิต และบริการโอนเงิน เป็นต้น และยังเพิ่มขึ้นจากบริการอื่น เช่น บริการด้านการลงทุนผ่านกองทุนรวม

และบริการประกันชีวิตผ่านธนาคาร เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีกำไรจากการปริวรรตเงินตรา เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 7.4 เป็น 4,256 ล้านบาท

ส่วนด้านเงินลงทุน มียอดขาดทุน 2,976 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินในสหรัฐฯ

**ใบโพธิ์โชว์กำไร-ฐานะยังแกร่ง**

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยถึงฐานะการเงิน ณ สิ้นปี 2551 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่สูงถึง 16.3% มีกำไรสุทธิปี 2551 จำนวน 21,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4 % จากปี 2550 ซึ่งฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รายได้รวมของธนาคารปรับเพิ่มขึ้น 12.9% จากปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน จากการตระหนักถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินการ และใช้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด ส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมของธนาคารในปี 2551 อยู่ที่ 5.6% ชะลอลงจากปี 2550 แต่เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของตลาด ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวลดลงอยู่ที่ 5.1% ในด้านกลยุทธ์ธนาคารได้เข้าสนับสนุนและขยายธุรกิจไปในกลุ่มลูกค้าธุรกิจในประเทศ และมุ่งเพิ่มจำนวนการถือครองผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่อลูกค้าให้มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าบุคคล ซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของธนาคาร ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตแก่ธนาคารในปี 2551

สำหรับปี 2552 ธนาคารตระหนักถึงสถาณการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ยังมีอยู่ ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต่างๆ ของธนาคารจะเป็นไปอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ตลอดจนติดตามสถาณการณ์ใกล้ชิดและปรับตัวต่อเนื่อง โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับที่สูงที่ 83.3% นอกจากนี้ เพื่อแสดงถึงการดำเนินการที่รอบคอบและระมัดระวังตลอดจนคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่จะถดถอย ธนาคารได้ปรับเพิ่มการตั้งสำรองรายเดือนจาก 300 ล้านบาทต่อเดือนเป็น 500 ล้านบาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2551 และจะต่อเนื่องไปในปี 2552

ขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB แจ้งงบการเงินประจำปี 2551 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯโดยแจ้งผลกำไรสุทธิ 529.60 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.01 บาท จากปี 2551 ที่มีผลขาดทุน 43,541.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 2.31 บาท

**ทิสโก้-สินเอเซียกำไรยังโต**

นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2551 (1 ม.ค.-31 ธ.ค.51) กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิจำนวน 1,720.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปี 2550 ที่อยู่ที่ 1,651.18 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อมีจำนวน 103,109.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% โดยแบ่งออกเป็น สินเชื่อรายย่อย 78,993.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7%, สินเชื่อธุรกิจ 19,488.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.8%, และสินเชื่ออื่นๆ 4,628.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4%

สำหรับเงินฝากในปี 2551 มีจำนวน 100,591.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 46.9% ในจำนวนนี้เป็นเงินฝากประเภทกระแสรายวัน 6,414.46 ล้านบาท สัดส่วน 6.4%, เงินฝากออมทรัพย์ 5,140.40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1%, เงินฝากประจำ 4,043.74 สัดส่วน 4.0%, บัตรเงินฝาก 43,221.62 ล้านบาท สัดส่วน 43.0% และเงินกู้ยืมระยะสั้น 41,768.42 ล้านบาท สัดส่วน 41.5%

ทั้งนี้ กลุ่มทิสโก้สามารถเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อจาก 3.5% เป็น 3.7% ได้จากความสามารถในการบริหารสัดส่วนของสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย โดยกลุ่มทิสโก้มีกลยุทธ์ในการขยายตัวในธุรกิจสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี ในขณะที่ต้นทุนเงินทุนลดลงจากการขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยด้วยการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า

สำหรับการบริหารความเสี่ยงทางกลุ่มทิสโก้มีการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้อัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาจาก 4.3% จากสิ้นปี 2550 มาอยู่ที่เพียง 2.9% โดย NPL ทั้งหมดมีจำนวน 2,984.42 ล้านบาท ลดลง 20.4% ซึ่งสัดส่วน NPL ที่ 2.9% นี้ถือว่าต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เงินกองทุนของกลุ่มทิสโก้ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 11,535.60 ล้านบาท โดยฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ ไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ 9.90% และขึ้นมาอยู่ที่ 11.75% ณ สิ้นปี 2551 ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเงินให้สินเชื่อ

ทางด้าน นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล กรรมการอำนวย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของกลยุทธ์ของธนาคารทิสโก้ในปี 2552 จะยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าเงินฝากที่เป็นลูกค้ารายย่อยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังจะรุกธุรกิจที่กลุ่มทิสโก้มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ธุรกิจเช่าซื้อ โดยเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 17-18% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ได้รวมการซื้อกิจการเช่าซื้อแล้ว สำหรับบัญชีเงินฝากเราตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 บัญชี และมีแผนที่จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อปีนี้ของธนาคาร คาดว่า อาจปรับลดลง 0.25-0.50% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% โดยในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ สินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารน่าจะมีการปรับลงประมาณ 0.10-0.20% จาก 3.5% เหลือ 3.3% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อาจเห็นต่ำสุดที่ 1-1.5% ด้านเศษฐกิจในปีนี้คาดว่าในครึ่งปีแรกจะยังมีการชะลอตัวรุนแรงจนอาจเห็นตัวเลขติดลบ ส่วนครึ่งปีหลังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น

นายธงชัย อานันโทไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ ACL Bank กล่าวว่า ผลประกอบการในปี 2551 ของธนาคารมีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66% เมื่อเทียบกับปี 2550 มีกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 370.65 ล้านบาท จากปีก่อนกำไร 342.91 ล้านบาท โดยมีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย และเงินปันผล รวมทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง สินทรัพย์ของธนาคารมีการเติบโตจากขนาด 60,696 ล้านบาท เป็น 70,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,055 ล้านบาท หรือ 17% โดยเป็นการเติบโตทั้งจากส่วนของสินเชื่อและเงินฝาก

สำหรับสินเชื่อของธนาคารมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 9,902 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% โดยพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร ณ สิ้นปี 2551 อยู่ที่ 44,611 ล้านบาท ด้านธุรกิจเงินฝากมีการขยายฐานเงินฝากจาก 41,234 ล้านบาท เป็น 55,049 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 34% และในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการควบคุมและจัดการสินทรัพย์ที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ NPL ของธนาคารลดลงจาก 4.30% เหลือเพียง 3.14% ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์คือ 23.40% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานที่ธปท.กำหนดอยู่ที่ 8.5%

ด้าน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)หรือ KK แจ้งผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทร่วมปี 2552 มีกำไร 1,867 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2,111 ล้านบาท ขณะที่งบการเงินเฉพาะกิจการของธนาคารมีกำไรสุทธิ 3,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2,892 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น