xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ขออนุมัติออกบอนด์ 1.9 หมื่น ล.แก้สภาพคล่องเซ่นค่าไฟฟรี 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด กฟผ.นัดถก 2 ธ.ค.หวังเร่งอนุมัติแผนออกพันธบัตร 1.9 หมื่นล้านบาทโดยเฉพาะช่วงสิ้นปีนี้ ล็อตแรกหมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่อง หลังจากมาตรการ 6 เดือนใช้ไฟฟรีของรัฐพ่นพิษ กฟภ.และ กฟน.เบิกเงินกลางยังไม่ได้ ทำให้ค้างหนี้ กฟผ.อื้อ แถมยังต้องแบกภาระค่าเอฟทีอีกหมื่น ลบ.

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 2 ธันวาคมนี้ นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานบอร์ดกฟผ.จะมีการนัดหารือบอร์ดอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ต้องเลื่อนการประชุมไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากติดการประชุมหัวหน้าส่วนราชการร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยมีวาระสำคัญที่จะต้องพิจารณาเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ.ในช่วงสิ้นปีนี้ ด้วยการออกพันธบัตรวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็นสิ้นปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท และที่เหลือในปี 2552

“การออกพันธบัตรช่วงสิ้นปีนี้ คงจะต้องเจรจากับคลังขอเปิดวงเงินกู้ไปก่อน หรือเปิดเครดิตไลน์ แล้วค่อยออกบอนด์ในปีหน้าแทน เนื่องจากเหลือเวลาไม่มากนักขณะที่ กฟผ.เองมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ไว้หมื่นล้านบาท จากการที่ค่าเอฟทีไม่ได้ขึ้นตามต้นทุน พร้อมกันกับที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับภาระลดค่าไฟตามมาตรการ 6 เดือนของรัฐไม่สามารถเบิกเงินงบกลางมาจ่ายไฟ กฟผ.ได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับค่าเอฟทีในงวดต่อไป (ม.ค.-เม.ย.2552) ยอมรับว่า ราคาก๊าซธรรมชาติยังต้องสะท้อนราคาน้ำมันที่แพงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อยู่ตามสูตร ส่วนราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดต่ำในปัจจุบันนั้นจะต้องไปสะท้อนในราคาก๊าซดังกล่าวในช่วงหลัง เม.ย.ไป ดังนั้น ทิศทางค่าไฟฟ้าจะยังมีโอกาสปรับขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ในช่วงนั้นก็จะต้องมาดูแนวทางการบริหารจัดการเรื่องเชื้อเพลิงที่จะทำให้การบริหารเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวยอมรับว่า กฟผ.ได้รับผลกระทบด้านการเงินทั้งเรื่องการรับภาระค่าเอฟทีงวดนี้ที่รัฐบาลไม่ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นเท่ากับต้นทุนที่แท้จริง กฟผ.จึงรับภาระประมาณ 10,000 ล้านบาท และล่าสุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้แจ้งให้ทราบว่ายังไม่สามารถเบิกงบประมาณรัฐบาลเกี่ยวกับเงินลดค่าไฟฟ้าตามนโยบายลดค่าครองชีพ 6 เดือนได้ทัน จึงขอให้ กฟผ.รับภาระไปก่อนเป็นเวลา 4-5 เดือน คาดว่า วงเงินส่วนนี้จะเป็นเม็ดเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท

“การออกบอนด์สิ้นปีก็จะมาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องดังกล่าวไปก่อน ส่วนปีหน้า กฟผ.เองก็มีแผนที่จะต้องลงทุนอีก 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายละเอียดของการออกบอนด์จะต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ดก่อนหลังจากนั้นจะหารือรายละเอียดกับคลัง” นายสมบัติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น