xs
xsm
sm
md
lg

คลังล้มประมูล รง.ยาสูบ เตรียมตั้งโต๊ะแถลงเปิดประมูลใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” สั่งล้มกระดานประมูลโรงงานยาสูบใหม่หลังผลยื่นซองเหลือที่ดินนิคมเหมราชรายเดียวแต่ทางเข้าออกมีปัญหา เล็งแก้มติ ครม.ปลดล็อกใช้ที่ดินนิคมมาใช้ที่ดินราชพัสดุ ผอ.ยาสูบเตรียมตั้งโต๊ะแถลงเปิดประมูลใหม่ทำตามเงื่อนไข ครม.ปี 50

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า การเปิดประมูลเพื่อเลือกสถานที่ก่อสร้างโรงงานยาสูบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 นั้น การยื่นซองประกวดราคามีนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นตรงตามเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพียง 1 รายคือ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท บริเวณพื้นที่รอยต่อจังหวัดระยองและชลบุรี จึงได้สั่งการเริ่มกระบวนการประมูลใหม่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด

“ผมก็อยากให้การประมูลเสร็จสิ้นในปีนี้แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการติดขัดเล็กน้อยเนื่องจากมติ ครม.เมื่อต.ค. 50กำหนดให้ต้องอยู่ในนิคมเท่านั้น จึงอาจเกิดความล่าช้าได้ซึ่งหากโครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ก็อาจยื่นขอแก้ไขมติ ครม.ใหม่ให้สามารถใช้ที่ดินราชพัสดุ ในบริเวณที่มีความเหมาะสมเช่นเดียวกับที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้เช่นกัน”

นายประจวบ ตันตินนท์ ผู้อำนวยการ โรงงานยาสูบ กล่าวว่า ในวันนี้จะเปิดแถลงข่าวเชิญให้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 36 แห่งที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานครตามมติ ครม. ให้เข้ามารับฟังว่าสิ่งที่โรงงานยาสูบต้องการคืออะไรแล้วเขาสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขหรือปรับเปลี่ยนอะไรให้สอดคล้องตามความเป็นจริงได้บ้างเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูลมากขึ้น

“ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าการเปิดประมูลก่อสร้างโรงงานในครั้งที่ 3 นี้จะสามารถทำได้ทันในสิ้นปีนี้หรือไม่เพราะเหลือเวลาเพียงเดือนครึ่งซึ่งหากไม่ทันปีหน้าก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะยังมีภารกิจส่งมอบโรงงานยาสูบให้เป็นสวนสาธารณะในกลางเมืองอีกด้วย” นายประจวบกล่าว

***ระบุทีโออาร์แคบเกินไป

รายงานข่าวระบุว่า ในการประมูลครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาที่รมช.คลังสั่งให้ดำเนินการใหม่นั้นเนื่องจากการยื่นซองประกวดราคาเข้ามาจำนวนกว่า 10 รายนั้นมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณสมบัติตรงตามทีโออาร์เพียง 2 ราย และที่เหลือเพียงนิคมเหมราชนั้นเนื่องจากให้เวลาในการยื่นซองน้อยเกินไป จึงทำให้ผู้ยื่นซองอีกรายไม่มีความพร้อมไม่สามารถยื่นขอแก้เกณฑ์ที่ติดขัดกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จึงมีการสั่งให้เริ่มนับหนึ่งการประมูลใหม่

ในขณะที่นิคมเหมราชนั้นติดปัญหาเรื่องฟรีโซนของกรมศุลกากร เพราะทางเข้าออกของพื้นที่ที่จะขายให้กับโรงงานยาสูบนั้นต้องใช้ทางเข้าออกผ่านบริเวณดังกล่าว แต่ในเอกสารประกวดราคานั้นทางโรงงานยาสูบได้กำหนดให้ทางเข้าออกต้องติดถนนใหญ่ซึ่งบริเวณโดยรองของพื้นที่ดังกล่าวยังติดกฎหมายผังเมืองเนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียวของนิคมอุตสาหกรรมเหมราชจึงเห็นควรให้เปิดประมูลใหม่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม ห่างจากกรุงเทพมหานครในรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร ภายในวงเงินลงทุนของโครงการฯ ประมาณ 16,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปี 2551 - 2555)

สำหรับเงินลงทุนค่าสินค้าและบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศ เห็นควรอนุมัติในหลักการให้โรงงานยาสูบฯ เบิกจ่ายเงินในวงเงินลงทุนที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจากต่างประเทศ ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง และจัดหาผู้รับดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา
กำลังโหลดความคิดเห็น