xs
xsm
sm
md
lg

BCP ฟันกำไรอื้อ 9 เดือน 2.5 พันล. แม้น้ำมันผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บางจากปิโตรเลียม” ผลประกอบการไตรมาส3/2251 ขาดทุน 251 ล้านบาท จากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้น แม้มีกำไรแต่ต้นทุนก็สูงขึ้นตาม ขณะเดียวกันเมื่อราคาปรับลดต้องรับผลขาดทุนจากการสต๊อกน้ำมัน ส่วนภาพรวมงวด 9 เดือนกำไรยังโต 2,447 ล้านบาท ฟันรายได้จากการขายแล้วกว่า 106,527 ล้านบาท

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า ในไตรมาส3/2551 บริษัทมีผลการดำเนินงานจากงบการเงินรวมขาดทุน 251.58 ล้านบาท โดยคิดเป็นการขาดทุนต่อหุ้น 0.22 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรสุทธิ 507.77 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.45 บาท ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนกำไรสุทธิ 2,447.70 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.19 บาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2550 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,346.48 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.20 บาท

ขณะเดียวกัน เมื่อแยกเป็นงบการเงินเฉพาะกิจ พบว่า BCP ขาดทุนในไตรมาส3/2551 จำนวน 220.33 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส3/2550 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 497.949 ล้านบาท ขณะที่งวด9เดือนมีกำไรสุทธิ 2,439.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวด 9 เดือนของปีที่ผ่านมาซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,289.28 ล้านบาท

โดยสรุปฐานะทางการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 52,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 จำนวน 7,122 ล้านบาท มีหนี้สินรวมจำนวน 29,013 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 23,087 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมธุรกิจของบริษัทในปี2551 BCP ระบุว่าในด้านราคาน้ำมันตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ราคาน้ำมันปรับตัวในทิศทางขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่140.77 ดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)ต่อบาร์เรล ในวันที่ 4 ก.ค. 2551 (อ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบ) จากนั้นราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งสิ้นสุดไตรมาส 3 ราคาน้ำมันดิบดูไบมีราคาปิดที่ 87.66 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาปิดสิ้นไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ 136.30 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ทำให้ผู้ดำเนินธุรกิจด้านโรงกลั่นน้ำมันทั้งในและต่างประเทศได้รับผลกระทบด้านลบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน

สาเหตุที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วนั้น มาจากความกังวลต่อปัญหาด้านตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มขยายวงกว้างไปสู่ยุโรปและทั่วโลก กอปรกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลานานเริ่มส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของโลกให้ชะลอตัวลง นอกจากนั้นตัวเลขปริมาณสำรองน้ำมันของสหรัฐอเมริกาที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่

แม้ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นธุรกิจโรงกลั่นจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯต้องนำกำไรดังกล่าวไปซื้อน้ำมันดิบในราคาที่สูงขึ้น ในทางกลับกันเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวในทิศทางลดลงธุรกิจโรงกลั่นก็จะมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน แต่บริษัทฯจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมันดิบที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวและมีการบริหารปริมาณสินค้าคงเหลือให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและคงที่เพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

โดยผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ที่ประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ในวันที่ 24 ต.ค. 2551 มีมติลดกำลังการผลิตลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อพยุงราคาน้ำมัน โดยมีเพดานการผลิตอยู่ที่ระดับ 27.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่า ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยภายหลังเกิดปัญหาวิกฤตการเงินจะส่งผลให้อุปสงค์การใช้น้ำมันของโลกลดลงประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นการตัดสินใจลดกำลังการผลิตในครั้งนี้ของ OPEC จึงไม่เอื้อประโยชน์ต่อระดับราคาน้ำมันเท่าใดนัก โดย ณ ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่ม OPEC อาจพิจารณาปรับลดอัตราการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2551รวมทั้งอุปสงค์น้ำมันที่อาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันสามารถปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้

ส่วนภาพรวมด้านการผลิตและการจำหน่าย ในไตรมาส 3 ปี 2551 บริษัทฯ สามารถกลั่นน้ำมันได้เฉลี่ย 74.3 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ 83.6 พันบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเป็นช่วง Low Season แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 71.3 พันบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้เนื่องมาจากมีการส่งออกน้ำมันเตาประเภทกำมะถันต่ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทฯสามารถผลิตน้ำมันเตาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า จึงทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดีกว่าน้ำมันเตาทั่วไป ปัจจุบันน้ำมันเตาที่บริษัทฯผลิตได้เกือบทั้งหมดจะทำการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ โดยในไตรมาส 3 ปี 2551 บริษัทฯมีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 430 ล้านลิตร เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อนที่อยู่ที่ 309 ล้านลิตร

สำหรับการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันในช่วงไตรมาส 3 นี้ บริษัทฯมียอดจำหน่ายลดลง 1.2%เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการเฉลี่ยเดือนมกราคม - สิงหาคม 2551อยู่ในอันดับ 4 ที่ 14.0% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 12.6%

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานเฉพาะบริษัท บางจากฯ ในไตรมาส 3 ปี 2551 มี EBITDA จากผลประกอบการจริงจำนวน 1,568 ล้านบาท เมื่อรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันจำนวน -1,245 ล้านบาท(ประกอบด้วยผลขาดทุนจากสต๊อก 295 ล้านบาท และการปรับมูลค่าสินค้าลดลง-LCM จำนวน 950 ล้านบาท) จึงทำให้มีEBITDA รวม 323 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือน ปี 2551 รายได้จากการขายและการให้บริการตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีจำนวน 106,527 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายของบริษัท บางจากฯ จำนวน 105,801 ล้านบาท และรายได้จากการขายของบริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 14,982 ล้านบาท ในรายได้ดังกล่าวเป็นรายการระหว่างกันจำนวน 14,256 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขายน้ำมันสำเร็จรูปจากบริษัทฯ ให้แก่บริษัท บางจากกรีนเนท

ด้านหนี้สินรวมของBCP ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 มีจำนวน 29,013 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินของบริษัทฯ จำนวน 28,896 ล้านบาท ของบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท บางจากกรีนเนท จำนวน 570 ล้านบาท และบริษัทบางจากไบโอฟูเอล จำนวน 55 ล้านบาท ในหนี้สินดังกล่าวเป็นหนี้ระหว่างกัน จำนวน 507 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้าจำนวน 481 ล้านบาท

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน 5,081 ล้านบาท ได้แก่ กู้เงินระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 1,020 ล้านบาท รวมถึงเบิกเงินกู้ระยะยาวจำนวน 14,221 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายสำหรับโครงการ PQI และชำระคืนเงินกู้เดิม (Refinance) โดยจ่ายคืนเงินกู้ระยะยาวจำนวน 9,824 ล้านบาท เพื่อการ Refinance เงินกู้เดิม และจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2550 ให้ผู้ถือหุ้นไปจำนวน 336 ล้านบาท (จำนวน 1,119 ล้านหุ้น ปันผลหุ้นละ 0.30 บาท) ดังนั้น ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 บริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคงเหลือจำนวน 2,178 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสดที่เป็นเงินทุนโครงการ PQI จำนวน 1,057 ล้านบาท และสำหรับใช้ดำเนินงานทั่วไปจำนวน 1,121 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น