ไอเอ็นจีแบงก์ ธนาคารใหญ่ 1 ใน 20 ของโลก ยอมรับผลขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร หลังถูกกระทบจากวิกฤตการเงิน-ปรับลดมูลค่าทางบัญชี ทำตัวเลขไตรมาส 3 ติดลบ 478 ล้านยูโร เผยราคาหุ้นดิ่งลงถึง 27.5% หลังข่าวลือ ธนาคารกำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก "บลุมเบิร์ก" ชี้ สถานการณ์ร่อแร่ไม่ต่างจาก เอไอจี ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ล่าสุด งดจ่ายโบนัสให้ผู้บริหารทุกคน หากลาออก ก็จะได้เงินชดเชยเงินเดือนไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น
วันนี้ (12 พ.ย.) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ING Groep NV ซึ่งเป็น 1 ใน 20 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก เปิดเผยตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 3 ปีนี้ เป็นมูลค่าสูงถึง 478 ล้านยูโร ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งแรก นับตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทในปี พ.ศ.2534 หลังจากบริษัทปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีมูลค่า 1.51 พันล้านยูโร
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศอัดฉีดเงิน 1 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าช่วยเหลือธนาคาร ING ซึ่งเป็น 1 ใน 20 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยนายวูเตอร์ บอส รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การทุ่มเงินจำนวนจำนวนมากครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเป็นการให้หลักประกันแก่บัญชีเงินฝากของ ING
ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่าง ING กับกระทรวงคลังและธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์มีขึ้นหลังจากที่ ING เปิดเผยว่า ธนาคารอาจต้องขาดทุนราว 500 ล้านยูโร ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินและราคาหุ้นที่ดิ่งลงถึง 27.5% ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวที่ว่า ING กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ภายใต้แผนการช่วยเหลือครั้งนี้ ING จะสามารถนำเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดให้นี้ เข้าไปมาซื้อหุ้นคืนได้ทุกเวลา นอกจากนี้ ข้อตกลงระบุว่า ING จะต้องงดจ่ายเงินโบนัสประจำแก่ผู้บริหารระดับสูงทุกคน และหากผู้บริหารลาออกก็จะได้เงินชดเชยเงินเดือนไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น
นายมิเชล ทิลแมนท์ ประธานธนาคาร ING กล่าวว่า การอัดฉีดเงินครั้งนี้จะทำให้สถานะการเงินของธนาคารเข้มแข็งขึ้น และธนาคารยอมรับสถานภาพที่จะตามมา หลังจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยื่นมือเข้ามาพยุงกิจการในครั้งนี้
สำนักข่าวบลุมเบิร์ก รายงานว่า สถานการณ์ของ ING ในขณะนี้ไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินให้กับบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) มูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา