รัฐบาลชาย สบช่องขึ้นราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่งฯ ตามแผนแยกราคาก๊าซ 2 ตลาด หวังนำเงิน 1 หมื่นล. จ่ายชดเชยอุ้ม ปตท. โยนที่ประชุม กพช.จิ้มตัวเลข 13 พ.ย.นี้ อ้างเป็นช่วงเวลาเหมาะสม สะท้อนราคาจริงในตลาดโลก คาดปรับราคาในรอบแรก 20 บ./กก.
วันนี้ ( 6 พ.ย.) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการแยกราคาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ออกเป็น 2 ตลาด โดยยอมรับว่า กระทรวงพลังงาน ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมธุรกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG โดยขณะนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายการแยกราคาก๊าซ LPG ออกเป็น 2 ราคา ได้แก่ การใช้ในภาคขนส่ง/อุตสาหกรรม และการใช้ภาคครัวเรือน เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธาน กพช. พิจารณาในวันที่ 13 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะได้นำเสนอแนวทาง กลไกในการปรับราคาก๊าซ LPG ดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุม กพช. พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จาก 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือเพียง 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน รวมทั้งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ยอดใช้ก๊าซ LPG ในประเทศลดลงเช่นกัน
การแยกราคาก๊าซครั้งนี้ ก็เพื่อสะท้อนราคาที่แท้จริงในตลาดโลก ทั้งนี้ โดยยืนยันว่า การปรับราคา LPG ครั้งนี้ จะทยอยปรับไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และปรับขึ้นครั้งแรกไม่เกิน 8 บาทต่อกิโลกรัม ตามราคาตลาดโลก รวมทั้งจะพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการสำรอง LPG เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 ของปริมาณการค้า เป็นร้อยละ 1 ในส่วนของผู้ค้ามาตรา 7 ที่ต้องหารือกันอีกครั้ง ส่วนราคาที่จะเสนอเข้าไปนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาขายปลีกอยู่ที่18.13 บาทต่อกิโลกรัม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยอดการใช้แอลพีจีลดลงจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ทำให้การนำเข้าแอลพีจีของไทยลดลงจาก 100,000 ตันต่อเดือน ลงมาอยู่ที่ 80,000 ตันต่อเดือน ส่งผลให้การนำเข้าแอลพีจีเดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค.นี้จะอยู่ที่ 60,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น ส่วนในปีหน้าต้องพิจารณาประกอบกับราคาน้ำมันและยอดการใช้แอลพีจี
นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับเพิ่มปริมาณสำรอง LPG เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1% จากปริมาณการค้าทั้งปี ขณะเดียวกันขณะนี้ ปตท.ต้องแบกรับภาระการนำเข้า LPG แล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท คาดสิ้นปีนี้เป็น 1 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงยืนยันว่าพร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยกับ ปตท.ทันทีที่มีเงินเพียงพอ แต่ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท
โดยกระทรวงฯได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าติดตามสถานการณ์ค่าการตลาดของสถานีบริการแอลพีจีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งได้เตรียมมาตรการรองรับในการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มผู้ใช้ต่างๆ เช่น กลุ่มรถแท็กซี่ ที่ได้มอบหมายให้ ปตท. เตรียมออกโปรโมชั่นพิเศษในการรับเปลี่ยน LPG มาเป็น NGV แทน
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาถึง 5 ชุดได้แก่ คณะกรรมการแก้ปัญหาและตรวจสอบ LPG ไปต่างประเทศ , คณะกรรมการดูแลความปลอดภัยและการใช้ผิดประเภท , คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการเก็บเงินเข้ากองทุน , คณะกรรมการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และคณะกรรมการดูแลแก้ไขในกลุ่มรถแท็กซี่ เพื่อดูแลภารกิจป้องกันการลักลอบถ่ายเท หรือจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน เร่งทำการศึกษาแนวทางการสำรองก๊าซหุงต้มในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคา LPG และป้องกันการขาดแคลนในอนาคตต่อไป
“แม้ขณะนี้ กระทรวงพลังงานจะมีภาระสะสมจากการชดเชยการนำเข้ามากถึง 7,300 ล้านบาท แต่ยอดการชดเชยชะลอตัว จากการนำเข้าก๊าซ LPG ลดลง แต่นโยบายการแยกราคา LPG ดังกล่าว จะทำให้การใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม มียอดการใช้ลดลง และให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริง ส่วนในภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้มีผลกระทบ” นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย