xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตน้ำมันพุ่ง-ก๊าซหุงต้มขาดแคลน “สมัคร”จวกสันดานเอาเปรียบตุนก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- คนไทยทำใจรับมือวิกฤติน้ำมันพุ่งดีเซลเขตกทม.แตะ 42.64 บาทต่อลิตรแล้วแนวโน้มยังวิ่งต่อ ขณะที่ก๊าซหุงต้มเริ่มเห็นขาดแคลนหลังรถยนต์หันใช้เพิ่มเหตุหนีน้ำมันแพง "ปตท."ยันไม่กักตุนสัปดาห์นี้จะคลี่คลายเหตุนำเข้าจะมาถึงไทย 2 ก.ค. ทำใจนำเข้าราคาพุ่ง 950 เหรียญต่อตันชี้หากปล่อยไว้นำเข้าเพิ่มอาจก่อปัญหาเหตุคลังไม่พอรองรับ วงในแย้มราคาก๊าซหุงต้มจ่อขึ้น 18-20 บ.ต่อกก.สำหรับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเพื่อสกัดการใช้ผิดประเภทแต่ต้องรอนโยบายรัฐฟันธง ส่วน“สมัคร” จวกพวก “สันดาน”เอาเปรียบตุนก๊าซ LPG รอขาย 1 ก.ค.คาด 30 อ้างหมดสต๊อก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(29มิ.ย.) เชลล์ แห่งประเทศไทย ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ทั้งเบนซินและดีเซลลิตรละ 80 สต. ทำให้ราคาเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 44.19 บาท ดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 42.64 บาทหลังจากก่อนหน้าเอสโซ่ได้แจ้งปรับขึ้นไปก่อนหน้าเพียงวันเดียวเนื่องจากราคาลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงโดยคาดว่าในที่สุดผู้ค้ารายอื่นคงต้องปรับตามและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกรณีที่ลิเบียลดการผลิตลงเพื่อตอบโต้สหรัฐที่จะฟ้องร้องโอเปกเกี่ยวกับการคุมปริมาณน้ำมันซึ่งลิเบียนั้นมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันส่งออกประมาณ 1.9 ล้านลิตรต่อวัน

นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือสบพ. กล่าวสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้มีระดับรายจ่ายและรายรับที่ใกล้สมดุล โดยมีรายรับมากกว่ารายจ่ายเพียง 85 ล้านบาท เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่มีรายรับมากกว่า 155 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯยังมีภาระในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล พลังงานทดแทน และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนซึ่งคงจะต้องหารือกระทรวงพลังงานในการบริหารจัดการเพื่อดูแลฐานะการเงินไม่ให้ติดลบ

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) หรือก๊าซหุงต้ม กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายอมรับว่าปริมาณก๊าซหุงต้มในประเทศเกิดการตึงตัวเนื่องจากมีความต้องการใช้ ค่อนข้างมากโดยเฉพาะภาคขนส่งทำให้ปั๊มก๊าซฯบางแห่งมีก๊าซฯไม่พอป้อนกับลูกค้าซึ่งจากการสอบถามเกิดจากปัญหาการนำเข้าของปตท.ล่าช้าแต่คาดว่าปัญหาน่าจะคลี่คลายได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้

“ ทราบว่าการนำเข้าช้าไปกว่าแผนเล็กน้อยตลาดจึงเริ่มมีการขาดแคลนบ้างในปั๊มบางแห่ง แต่ส่วนของภาคครัวเรือนยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะทางกรมธุรกิจพลังงานหรือธพ.นั้นมีนโยบายชัดเจนที่จะให้ผู้ค้าดูแลส่วนนี้ก่อนเป็นลำดับแรกเพราะการใช้ในรถยนต์และอุตสาหกรรมเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์”นายชิษณุพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตามกรณีที่ราคาดีเซลที่สูงขี้นจาก 25 บาทต่อลิตรมาอยู่ระดับประมาณ 42 บาทต่อลิตรส่งผลกระทบต้นทุนการขนส่งของผู้ค้าก๊าซหุงต้มเฉลี่ย 30 สตางค์ต่อลิตร(4-5บ./ถัง 15 กิโลกรัม) แต่ผู้ค้าไม่ได้ปรับราคาเพิ่มส่วนของก๊าซครัวเรือนเพราะทำตามนโยบายของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ขอร้องไว้โดยผู้ค้าจะขอดูนโยบายราคาก๊าซหุงต้มของกระทรวงพลังงานที่จะแยกราคาเป็น 2 ส่วนในช่วงสิ้นเดือนก.ค.ระหว่างภาคครัวเรือน กับภาคขนส่งและอุตสาหกรรม โดยหากครัวเรือนไม่ปรับขึ้นเลยทางผู้ค้าฯก็อาจต้องยื่นขอปรับราคาค่าขนส่งดังกล่าว

"ปั๊มบางแห่งได้ขึ้นแล้ว 30 สตางค์ต่อกก.ส่วนของภาคขนส่งเพราะปั๊มสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพราะไม่ได้ถูกควบคุมเหมือนกับครัวเรือน "นายชิษณุพงศ์กล่าว

นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาก๊าซหุงต้มในปั๊มเกิดการขาดแคลนและบางสถานีบริการขึ้นป้ายแอลพีจีหมดนั้น ปตท. ขอยืนยันว่าได้มีการจ่ายแอลพีจีให้แก่ลูกค้าของ ปตท. และ ผู้ค้ามาตรา 7 ตามที่กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนดในปริมาณปกติเสมอมา โดยก่อนหน้านี้ 1-2 วัน อาจมีปัญหาการขนส่งจากคลังก๊าซเขาบ่อยาที่ศรีราชามายังคลังก๊าซบางจากล่าช้า จากความแออัดของท่าเรือแต่ขณะนี้ทุกอย่างปกติแล้วประกอบกับสัปดาห์หน้าก๊าซหุงต้มที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมาเพิ่มเติมอีก 22,000 ตัน และคาดว่าจะมีการทยอยนำเข้าตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้มีปริมาณก๊าวหุงต้มจำหน่ายในประเทศอย่างเพียงพอ

ปัจจุบันการใช้ก๊าซหุงต้มในประเทศเพิ่มสูงขึ้น 14.2% โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการใช้ในรถยนต์ ถึง 22.7% สาเหตุจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก และประชาชนหันมาใช้แอลพีจีทดแทนเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าปกติ และหากโครงสร้างราคายังคงเป็นเช่นในปัจจุบัน ในอนาคตก็อาจทำให้เกิดปัญหาถังเก็บจ่ายรองรับการนำเข้าของ ปตท. ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ปตท. มีปั๊มก๊าซหุงต้มเพียง 36 แห่ง จาก 236 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนเพียง 15% ขณะที่มีส่วนแบ่งตลาดในภาคขนส่ง 7% ที่เหลือเป็นของผู้ค้ามาตรา 7 อื่น และขอยืนยันว่าปัญหาก๊าวหุงต้มที่ขาดแคลนนี้ ปตท. ไม่ได้กักตุน

นายสุรงค์ บูลกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การค้าระหว่างประเทศปตท. กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้การนำเข้าก๊าซหุงต้มของปตท.ช้าจากแผนไปเล็กน้อยจากที่จะมาได้ 27-28 ก.ค.นี้จะเป็นมาถึงไทยประมาณ 2 ก.ค.แทนเนื่องจากเรือที่บรรทุกก๊าซฯนำเข้ามาจากตะวันออกกลางต้องไปจัดส่งที่เกาหลีใต้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากเรือมีความจุได้ 4 หมื่นตันแต่ปตท.ต้องสั่งนำเข้าล็อตละไม่เกิน 2 หมื่นตันเนื่องจากท่าเรือที่เขาบ่อยา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีของปตท.มีความจุเพียง 2 หมื่นตันเท่านั้นเพราะเดิมไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการนำเข้าก๊าซหุงต้ม

“เราเองไม่คิดว่าการใช้ก๊าซหุงต้มจะสูงขึ้นมากระดับนี้จนต้องนำเข้าซึ่งขณะนี้การนำเข้ามาแล้ว 2 ล็อตรวม 4 หมื่นตัน ราคาล็อตล่าสุดสูงถึง 950 เหรียญต่อตันขณะที่ราคาในประเทศกำหนดไว้เพียงไม่เกิน 320 เหรียญต่อตันทำให้ปตท.ต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือติดลบแล้วรวม 600 ล้านบาท”นายสุรงค์กล่าว

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กล่าวว่า ขณะนี้การผลิตก๊าซหุงต้มของไทยอยู่ที่ 3 แสนตันต่อเดือนขณะที่การใช้สูงขึ้นมากจนทำให้ต้องนำเข้าตั้งแต่เม.ย.เฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นตัน ดังนั้นในที่สุดแล้วคงจะต้องมีการปรับราคาส่วนของภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเพิ่มแต่จะเพิ่มเท่าใดและเมื่อใดนั้นคงไม่สามารถระบุได้โดยจะดำเนินการทันทีเพื่อป้องกันการกักตุนเพราะหากข่าวออกไปก่อนอาจทำให้ปัญหาการตึงตัวอาจจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากราคาก๊าซหุงต้มส่วนขนส่งและอุตสาหกรรมไม่ปรับขึ้นแรงก็อาจจะไม่จูงใจให้คนใช้ลดลงก็เป็นได้แต่ทั้งหมดต้องอยู่ที่นโยบายรัฐ

***ก๊าซหุงต้มภาคขนส่งฯควรขึ้น18-20บ./กก.
แหล่งข่าวจากปตท.กล่าวยอมรับว่า ราคาก๊าซหุงต้มล่าสุดรัฐต้องชดเชยกว่า 18 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) การปรับขึ้นเร็ว ๆ นี้คงจะต้องขึ้นในส่วนนี้ไปก่อนคือต้องไม่น้อยกว่า 18 บาทต่อกก.เพื่อลดการชดเชยและเมื่อต้องรวมกับการลดภาระรายจ่ายของรัฐก็อาจจะต้องเพิ่มราคาไปอีกอย่างน้อย 2-3 บาทต่อกก.ดังนั้นมีแนวโน้มว่าราคาอาจจะปรับขึ้นอย่างน้อย 20 บาทต่อกก.ส่วนของภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ซึ่งหากจะให้สะท้อนทั้งหมดควรปรับถึง 30 บาทต่อกก.ด้วยซ้ำแต่ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะกล้าหรือไม่

***แท็กซี่ร้องทบทวนแผนขึ้นราคาแอลพีจี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา40 องค์กรรถแท็กซี่ ชุมนุมเรียกร้องให้ รมว.พลังงาน ทบทวนนโยบายปล่อยลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้มโดยนำรถแท็กซี่กว่า 50 คัน มาจอดบนถนนหน้าอาคารรัฐสภา เพือขอพบ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพราะหวั่นว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายปล่อยลอยตัวค่าเชื้อเพลิงก๊าซแอลพีจี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งตัวแทนออกมาพบ และรับหนังสือจากผู้ขับรถแท็กซี่ ทั้งนี้ ในหนังสือที่ 40 องค์กรรถแท็กซี่ยื่นไป มีใจความสำคัญในการเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทบทวนนโยบายดังกล่าว และให้พิจารณาแยกราคาก๊าซหุงต้มกับก๊าซเชื้อเพลิงออกจากกัน จากนั้นจึงได้สลายการชุมนุมไป

***“สมัคร” จวกพวก “สันดาน”เอาเปรียบตุนก๊าซ LPG
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ในช่วงถามตอบจากผู้ฟังทางบ้านที่แจ้งขณะนี้ปั๊ม LPG ในกรุงเทพฯ ไม่มีแก๊สขาย ขาดทุนเดือดร้อน ไม่เป็นไรขอให้หาวิธีแก้ว่า ไม่ต้องแก้ วันที่ 1 กรกฎาคม เขาปรับปรุงราคา ก็ออกมาขายธรรมดา ต้องบอกเลยมันเป็นสันดานของคนพวกนี้ เล็ก ๆ น้อย ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ แต่อยากว่านักพวกกักตุน คนที่อยากได้น้ำมันขึ้นราคาก็รีบไปเติม ก็เป็นความรู้สึกนึกคิด

“ที่ผมใช้คำว่าสันดานนั้นคือคนพวกที่ทำอย่างนี้ ไม่กี่วันนี่ละครับแล้วก็หากินกับตรงนี้ ทนสักวันสองวันเถอะครับ ดีไม่ดีหาเติมไม่ได้หยุดมันเลยวันจันทร์ วันอังคารก็ออกมาแล้วครับ ราคาใหม่ ไม่ได้แพงขึ้นไปเท่าไรหรอก แต่บังเอิญเขากำหนดไว้ เขากำหนดล่วงหน้าไปครึ่งปีค่อนปีว่าวันนี้ เป็นสันดานของคนพวกนี้ละครับที่มันทำกัน ผมกล่าวหาได้เต็มที่เลย พอถึงวันอังคารวันที่ 1 ราคาเปลี่ยนใหม่ก็ออกมาก็มีใช้ ไม่ลำบากยากเข็ญอะไรนักหนา เป็นสันดานของพวกที่ทำมาหากินแบบเอาเปรียบ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็เอา”นายสมัคร กล่าวและว่า ราคาก๊าซจะปรับขึ้นในวันที่ 1 นี้ เขาประกาศล่วงหน้ามาตั้งครึ่งปี ก่อนตนเองเข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วต่อไปถึงปี 52 เขาก็จะขึ้นอีก แต่ว่าขึ้นแล้วก็จะเป็นประมาณเศษ 1 ส่วน 3 ประมาณสัก 15 บาทไม่เกินทำนองนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น