xs
xsm
sm
md
lg

“อีลิท” ไปกันใหญ่ลงทุนนอกลู่ เผย 2 บิ๊กควงพนักงานตบเท้าออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พนักงานอีลิทไม่มั่นใจองค์กร ชักแถวเข้าโครงการ “จำใจจาก” เกินคาดกว่าเท่าตัว “สุรพงษ์” เตรียมควักกระเป๋าจ่ายชดเชย 10 ล้านบาท  เผย 10 เดือนแรกได้ยอดขายเพียง 60 ใบ แต่ยังคุยไม่ลดเป้า 400 ใบ เปรยสถานการณ์เช่นนี้แตะ 200 ใบ ก็เก่งแล้ว   ระบุ เดินหน้าแผนลงทุนในกองทุนรวม แต่ไม่รีบ เหตุสภาพตลาดยังไม่เอื้อ

แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท เปิดเผยว่า  จากการทำโครงการ “จำใจจาก” ที่ ทีพีซี จัดขึ้น เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้เล็กลง ด้วยการปรับลดพนักงาน โดยเฉพาะผู้บริหารระดับบนที่มีมากกว่างานที่รับผิดชอบ  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายองค์กร  ปรากฏว่า มีพนักงานยินดีเข้าร่วมโครงการนี้มากถึง 25 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 13 คน  จากพนักงานทั้งหมดขององค์กรที่มี   124 คน

โดยในที่นี้มี 2 ผู้บริหารหลัก ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย คือ  นางสาวณัฐธยาน์  อินทรสูตร รองผู้จัดการใหญ่ และ นายชาญศักดิ์ ชูประสิทธิ์ รองผู้จัดการใหญ่ระดับ 10 ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ โดยสาเหตุหลักที่พนักงานเข้าร่วมโครงการนี้มากกว่าเป้าหมาย เป็นเพราะเกิดความไม่มั่นใจในความมั่นคงขององค์กร จึงเลือกที่จะเข้าโครงการ เพื่อรับข้อเสนอพิเศษค่าชดเชยการจ้างงาน ที่ได้มากกว่าตามกฎหมายกำหนดอีก 1 เท่าตัว  โดยทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการจำใจจากนี้ จะมีผลในวันที่ 1 พ.ย.ศกนี้  รวมเป็นเงินที่ ทีพีซี ต้องจ่ายเพื่อชดเชยต่อพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นราว 10 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การทำงานของ อีลิทการ์ด มีปัญหามาตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งเปลี่ยนผู้บริหารก็หลายชุด แต่ภาพลักษณ์ขององค์กรก็ไม่ดีขึ้น โดยยังถูกมองว่าเป็นองค์กรที่มีการเมืองเข้าครอบงำ และก่อตั้งมาบนผลประโยชน์ทับซ้อน มากกว่าจุดประสงค์การจัดตั้งที่แท้จริง เป็นผลให้ผลงานไม่เป็นไปตามคาดหวัง ทั้ง เป้าหมายการจำหน่ายบัตรสมาชิก หรือแผนลงทุนอื่นๆ

***คุยกองทุนฯรุมจีบ***

ทางด้าน นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร และรักษาการผู้จัดการใหญ่ ทีพีซี กล่าวว่า  ในวันที่ 27 ตุลาคม นี้ เตรียมเสนอแผนการลงทุนหารายได้เพิ่มเข้าบริษัทต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารเพื่อพิจารณา โดยการลงทุนในที่นี้ คือ การลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งหลังจากที่ได้ประกาศแนวคิดออกไป มี บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง ทำแผนการลงทุนมาเสนอ เช่น บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี(MFC) ซึ่งเป็นของธนาคารออมสิน และ บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย หรือ KTAM ของธนาคารกรุงไทย บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ และ บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ตลาดทุนมีความผันผวนและมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ทีพีซี จึงไม่ได้มุ่งหวังแค่การลงทุนในตลาดทุนเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลด้วย นอกจากนั้น ในภาวะที่ประเทศมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทีพีซี ยังมีแนวคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจเข้าไปลงทุนในกองทุนพยุงหลักทรัพย์ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่กำลังมีปัญหา

“ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว เราต้องมีแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ ไม่ต้องรีบร้อน ขณะเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมุ่งหาผลกำไรเป็นอันดับแรก แต่หากสามารถใช้เงินลงทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศไทย แม้ได้ผลตอบแทนน้อยลงไปบ้างก็ควรที่จะทำ ในฐานะที่ทีพีซีก็เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจเช่นกัน”

****ปากแข็งไม่ลดเป้ายอดขายบัตร

สำหรับวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทีพีซีเพียงเล็กน้อย เพราะสหรัฐฯไม่ใช่ตลาดเป้าหมายหลัก ส่วนประเทศเกาหลีซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ ทีพีซี ขณะนี้มีความกังวลเรื่องสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยการโรดโชว์ล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา มีคำถามจากตลาดเกาหลีมากว่า สถานการณ์การเมืองของไทยจะได้ข้อยุติเมื่อใด เพราะภาพความรุนแรงที่ออกสื่อทั่วโลกนั้นมีผลด้านจิตวิทยามาก ทำให้ตลาดเกาหลี และอีกหลายประเทศชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีแผนปรับลดเป้าหมายการจำหน่ายบัตรสมาชิกอีลิท ที่ปีนี้ตั้งไว้ 400 ใบ แต่หากสถานการณ์การเมืองไทยยังไม่นิ่ง ทำให้แผนการตลาดที่ ทีพีซีดำเนินการอยู่อาจเห็นผลน้อยลง ซึ่งอาจมีผลให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ยังเชื่อว่า อย่างน้อย ทีพีซี ต้องได้ยอดจำหน่ายบัตรสมาชิกปีนี้ไปน้อยกว่า 200 ใบ โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มคอร์ปอเรท ที่หลังจากโรดโชว์แล้วมีผลตอบรับที่ดีมีผู้สนใจจำนวนมาก ล่าสุดเดือนตุลาคม มียอดสมาชิกใหม่เพิ่มมาอีกราว 10 ราย รวมเป็นยอดสมาชิกใหม่ของปีนี้ประมาณ 60 ใบ

“ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่มียอดสมาชิกใหม่เข้ามามากสุด โดย 3-4 ปี ที่ผ่านมา จะได้สมาชิกใหม่ช่วงนี้ประมาณ 100 กว่าราย ปีนี้เราก็หวังจะได้ยอดขายเหมือนทุกปี” นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะนี้ อีลิท มีเงินสดประมาณ 600-700 ล้านบาท โดยจะจัดแบ่งมาประมาณ 50% หรือ 300 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนต่อยอดหารายได้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะฝากธนาคารเพื่อเป็นสภาพคล่อง โดยขณะนี้มีบัตรสมาชิกประมาณ 2,000 ราย หลังจากตั้งมา 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น