"ไอเอ็มเอฟ" แถลงการณ์เตือน อาจมีแบงก์ยุโรปหลายแห่ง ตกอยู่ในจุดเสี่ยงล้มละลายเพิ่มขึ้น ขณะที่วิกฤตการเงินในสหรัฐ ยังควบคุมไม่อยู่ รัฐบาลงัดแผน 4 เข้าสกัด โดยใช้ชื่อว่า "Money Market Investor Funding Facility" เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในระบบ และผ่อนคลายความวิตกกังวลของสถาบันการเงิน โดย "เฟด" อัดฉีดเข้าตลาดเงินอีก 5.4 แสนล้านดอลลาร์ โดยพุ่งเป้าไปที่กองทุนรวม หลังขาดสภาพคล่องหนักจากการที่ประชาชนแห่ถอนหน่วยลงทุน ขณะที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ของสหรัฐ 2 แห่ง กำลังเผชิญมรสุมการเงินที่เลวร้ายที่สุด
วันนี้ ( 22 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกแถลงการณ์เตือนว่า อาจมีธนาคารในยุโรปอีกหลายแห่งที่เสี่ยงต่อการล้มละลาย ทั้งนี้ แถลงการณ์ล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ระบุว่าธนาคารในยุโรปหลายแห่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีเงินทุนไม่เพียงพอ อันอาจนำมาซึ่งการประกาศขายทรัพย์สิน ควบรวมกิจการ หรือล้มละลายในที่สุด
"แม้วิกฤตการณ์ด้านการเงินที่ลุกลามเข้าสู่ยุโรปยังไม่อยู่ในระดับรุนแรง แต่เราคาดว่าจะมีธนาคารในยุโรปล้มละลายอีก เนื่องจากธนาคารหลายแห่งยังคงประสบปัญหาในการระดมทุน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการมีความรู้สึกไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจ"
นอกจากนี้ ยังพบว่า สถาบันการเงินถูกกดดันให้ลดอัตราการปล่อยกู้เนื่องจากวิกฤตการณ์ในตลาดการเงินทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ซึ่งธนาคารในยุโรปมีประสบการณ์ในเรื่องนี้น้อยกว่าธนาคารในสหรัฐ นอกจากนี้ กองทุน SWF และนักลงทุนสถาบันในยุโรปยังไม่ค่อยให้ความสนใจเข้าลงทุนในธนาคาร ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ตลาดยุโรปผันผวนและทำให้ธนาคารประสบความยากลำบากในการลงระดมทุน อย่างไรก็ตาม เราแนะนำว่าแทนที่รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงและแทนที่ธนาคารเองจะเลือกขายสินทรัพย์ของตนเอง อุตสาหกรรมธนาคารในยุโรปควรรวมตัวกันเพื่อเสริมสร้างสถานะเงินทุนให้แข็งแกร่งขึ้น
ไอเอ็มเอฟ ยังระบุเพิ่มเติมว่า วิกฤตการเงินในสหรัฐจะยิ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจและภาคการเงินในยุโรปยิ่งขึ้นไปอีก พร้อมกับเปิดเผยผลสำรวจช่วง 6 เดือนหลังสุด ที่ระบุว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรทั้ง 15 ประเทศ แทบจะอยู่ในภาวะชะงักงัน และคาดว่าในปีหน้า เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟยืนยันว่า จะยังไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบในยุโรป โดยถึงแม้เศรษฐกิจในปีหน้าจะชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อก็จะน้อยลง เปิดทางให้สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้
มีรายงานข่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นยุโรปล่วงหน้าร่วงลงในวันนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะฉุดรั้งผลประกอบการของบริษัทเอกชนลดลงด้วย ขณะที่ค่าเงินยูโรดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
**แบงก์ชาติอังกฤษ ชี้ระบบธนาคารถึงจุดเลวร้ายที่สุด หลัง WW I
นายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวสุนทรพจน์ให้กับผู้บริหารที่เมืองลีดส์ถึงวิกฤตการธนาคารครั้งเลวร้ายที่สุดของอังกฤษ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง โดยยอมรับว่า วิกฤตดังกล่าวอาจจะดึงเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น ผู้บริหารระดับนโยบายจะเป็นต้องลงมือหาวิธีรับมือในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมากเกินไป
ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งการให้สินเชื่อที่น้อยลง ตลอดจนความต้องการภายในประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นเวลานานส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างหนัก คณะกรรมการนโยบายการเงินจะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อรับประกันว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับเป้าหมาย
นายเมอร์วิน กล่าวต่อไปว่า ราคาบ้านในอังกฤษจะตกลงอย่างต่อเนื่อง และเงินปอนด์ก็อาจจะอ่อนค่าลงอีก ขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกอร์ดอน บราวน์ ต้องเข้ามาช่วยเหลือระบบการธนาคาร และจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2534
ขณะนี้ อังกฤษยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าเสถียรภาพ แต่แผนการระดมทุนเข้าระบบการธนาคารทั้งในอังกฤษและต่างประเทศที่มีอยู่น่าจะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตไปได้และนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเมื่อมองย้อนกลับมา
นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมอังกฤษ เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นในภาคการผลิตอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2523 และราคาบ้านเดือนก.ย.ร่วงลงแตะระดับต่ำในรอบอย่างน้อย 6 ปี ขณะที่ Niesr คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปีหน้าจะร่วงลง 0.9% และการใช้จ่ายผู้บริโภคจะลดลง 3.4%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อเวลา 07.08 น.ตามเวลากรุงลอนดอน ดัชนี Dow Jones Euro Stoxx 50 Index ซึ่งเป็นดัชนีล่วงหน้าที่ชี้วัดตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรป ร่วงลง 79 จุด หรือ 3.1% แตะที่ 2,510 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ล่วงหน้าเดือน ธ.ค. ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลง 1.7% และดัชนี MSCI Asia Pacific Index ดิ่งลง 4.8%
นายแมท บัคแลนด์ นักวิเคราะห์จาก CMC Markets กล่าวว่า ราคาหุ้นธนาคาร HBOS และรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ มีแนวโน้มร่วงลง หลังจากนายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษ กล่าวแถลงการณ์ และคาดว่า ราคาหุ้นของบีเอชพี บิลลิตัน จะร่วงลง หลังจากบริษัทคาดการณ์ว่า ยอดขายอาจซบเซาลง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังร่วงลงแตะระดับต่ำในรอบ 20 เดือน เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มตกลงสู่ภาวะถดถอย
บลูมเบิร์ก รายงานเพิ่มเติมว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงมาอยู่ที่ 1.2956 ยูโรต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนตัวที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2550 ก่อนที่จะอยู่ที่ 1.2970 ยูโรต่อดอลลาร์ เมื่อเวลา 12.15 น.ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงโตเกียว จากระดับเมื่อวานนี้ในตลาดนิวยอร์กที่ 1.3063 ยูโรต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2547
นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.75% ในเดือน มิ.ย.ปีหน้า หลังจากที่ได้ลดดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ไป 0.50% เหลือ 3.75% เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่จัดทำร่วมกันกับธนาคารกลางรายใหญ่ๆ ของโลก
**วิกฤตในสหรัฐเอาไม่อยู่ "เฟด" อัดฉีดอีก 5.4 แสนล.
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐเตรียมเผยแผนกู้วิกฤตการเงินแผนที่ 4 ด้วยการใช้งบประมาณกว่า 540,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18 ล้านล้านบาท เข้าซื้อบัตรเงินฝาก , ตราสารหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดกองทุนรวมที่ซบเซาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนักลงทุนต่างแห่กันมาถอนเงินออกไปจำนวนมาก
นายเบน เบอร์นันกี ประธานเฟด กล่าวยอมรับว่า การจัดตั้งวงเงินพิเศษเพื่อซื้อตราสารพาณิชย์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น และช่วยลดภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ
"ตลาดการเงินตึงตัวมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สถาบันการเงินมีความยากลำบากในการระดมทุน มาตรการปล่อยเงินกู้ครั้งล่าสุดมูลค่า 5.40 แสนล้านดอลลาร์ เป็นความพยายามครั้งล่าสุดที่จะระบายสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน เนื่องจากระบบการเงินประสบปัญหาตึงตัวมาโดยตลอด นับตั้งแต่การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอยเร็วขึ้น เฟดจึงต้องยื่นมือเข้าคลี่คลาย"
ทั้งนี้ มาตรการครั้งล่าสุดของเฟดใช้ชื่อว่า "Money Market Investor Funding Facility" มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นสภาพคล่องในระบบและผ่อนคลายความวิตกกังวลของสถาบันการเงิน เพราะที่ผ่านมานั้น ระบบการเงินของสหรัฐตึงตัวอย่างมากเนื่องจากสถาบันการเงินลังเลที่จะปล่อยกู้ ซึ่งทำให้ทั้งผู้บริโภคและภาคเอกชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า แผนการดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ทั่วโลกปรับตัวลดลง และจะทำให้ภาวะตึงตัวในตลาดการเงินคลี่คลายลง โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟดร่วมกับกระทรวงการคลังสหรัฐ ประกาศมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งวงเงินพิเศษเพื่อซื้อตราสารเชิงพาณิชย์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น และปล่อยกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อระบายสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสและญี่ปุ่นก็เพิ่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเข้าไปช่วยพยุงธนาคารและสถานบันการเงินในประเทศ ซึ่งจนถึงขณะนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทุ่มงบประมาณมากถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 112 ล้านล้านบาทไปแล้ว เพื่อเข้าไปรับประกันเงินฝากและเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคาร ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็เตรียมปล่อยกู้ให้แก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ปากีสถาน ไอซ์แลนด์ และยูเครน
วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ที่เผชิญภาวะถดถอยอย่างหนัก เห็นได้จากตลาดบ้านที่เมืองฟอร์ต ไมเออร์ รัฐฟลอริดา ซึ่งเคยเฟื่องฟูแบบสุดๆ เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน แต่ตอนนี้ตลาดบ้านซบเซาอย่างหนัก มีบ้านติดจำนองปล่อยทิ้งร้างจำนวนมาก เจ้าของบ้านยอมปล่อยให้แบงก์ยึด เพราะผ่อนส่งค่างวดไม่ไหว คาดว่าตอนนี้มีบ้านถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่ในเมืองนี้มากถึง 1,000 หลัง เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ปีก่อนถึง 400% บ้านว่างๆ พวกนี้ยังนำมาซึ่งปัญหาสังคม เพราะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของพวกหัวขโมยและแก๊งอาชญากรรมต่าง
***"ฟอร์ด-ไครสเลอร์" ขาดสภาพคล่องหนัก รายใหญ่ถอนทุน
รายงานข่าวแจ้งว่า ฟอร์ด มอเตอร์ โค และไครสเลอร์ แอลแอลซี กำลังทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐตกที่นั่งลำบาก หลังจากที่ นายเคิร์ก เคอร์โคเรียน มหาเศรษฐีชื่อดังเจ้าของบริษัททราซินดา คอร์ป และ สตีเฟ่น เฟนเบิร์ก นายใหญ่แห่งเซอร์เบอร์รัส แคปิตอล เมเนจเม้นท์ แอลพี ถอนหุ้นออกจากบริษัททั้งสองแห่ง จนอาจทำให้ตลาดยานยนต์สหรัฐขาดที่พึ่งในการระดมทุนก้อนใหม่ๆ ขณะที่ยอดขายมีแนวโน้มดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี
บริษัททราซินดาเปิดเผยว่า บริษัทอาจขายหุ้นในฟอร์ด ขณะที่เซอร์เบอรัสกำลังหาทางควบรวมกิจการไครสเลอร์กับเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป หรือผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ทั้งนี้ ยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดขึ้นเมื่อราคาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้นแตะที่ 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และวิกฤตสินเชื่อขยายวงกว้างลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่นๆหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส อิงค์ ประสบภาวะล้มละลายจนส่งผลกระทบต่อการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ของสหรัฐ
นายโทมัส สตอลแคมป์ อดีตประธานไครสเลอร์ คอร์ป กล่าวยอมรับว่า เราไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านี้จะหาแหล่งเงินทุนจากที่ไหนได้อีกจนกว่าตลาดจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งความหวั่นวิตกต่อธุรกิจรถยนต์จะบรรเทาลงก็ต่อเมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้ามีความชัดเจนมากกว่านี้
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของนายเคอร์โคเรียนและเฟนเบิร์กที่หวังถอนเงินทุนออกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ค่ายรถควบรวมกิจการกันมากขึ้นในขณะที่ตลาดสินเชื่ออยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งหมายความว่า จีเอ็ม, ไครสเลอร์ และฟอร์ดจะเผชิญความยากลำบากในการหาเงินทุนมาเสริมสร้างสภาพคล่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า มูลค่าหุ้นของจีเอ็มซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐร่วงลง 83% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อวานนี้ หุ้นจีเอ็มขยับขึ้น 1 เซนต์แตะที่ 6.54 ดอลลาร์ ส่วนหุ้นฟอร์ดดิ่งลง 74% ในช่วงปีที่ผ่านมา