ทีดีอาร์ไอ เตือนพรรคพลังไข่แม้ว เปิดเกมดัน “สมัคร” นั่งนายกฯ ต่ออีกครั้ง ไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมือง แนะให้คำนึงถึงความชอบธรรมในสังคม เพราะอาจถูกมองว่าไม่เคารพศาล คาดเป้าหมาย พปช.หวังเพิ่มดีกรีความรุนแรง-ความแตกแยกในสังคมให้เพิ่มมากขึ้น
วันนี้ (10 ก.ย.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิด และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชน (พปช.) ออกข่าวว่าจะผลักดันให้ นายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งนั้น เรื่องนี้พรรค พปช.คงต้องพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้น หากต้องการฝืนกระแสสังคม
ผอ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวเตือนว่า รัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมทางการเมือง และความเหมาะสมของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ และต้องเป็นที่ยอมรับจากสังคม เพื่อยุติความขัดแย้งและเป็นทางออกให้การเมืองเดินหน้าต่อไป
“ผมมองว่า หากพรรค พปช.ยังยืนกรานที่จะเลือก นายสมัคร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกครั้งจะไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมือง เพระเหมือนไม่เคารพศาล และจะเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า พรรค พปช.ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน และเมินกระแสความถูกต้องชอบธรรมในสังคม”
ด้าน นายอัมมาร สยามวาลา รักษาการประธาน ทีดีอาร์ไอ มองทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ คือ การยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อยุติปัญหาโดยเร็วที่สุด
นายอัมมาร กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ยังยึดถือในกระบวนการรัฐธรรมนูญอยู่ เมื่อเห็นว่าประชาชนหลายกลุ่มไม่ยอมรับก็ควรยุติปัญหาโดยการยุบสภาโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อต่อไป จะทำให้ประชาชนในประเทศแตกแยกกันมากขึ้น
นายอัมมาร กล่าวอีกว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายสมัคร ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองลดความรุนแรงลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปของพรรคพลังประชาชน หากสนับสนุนให้นายสมัคร กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นายอภิสิทธิ์ ลิมป์ธำรงกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน มองผลกระทบด้านการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น โดยประเด็นความกังวลอยู่ที่พรรค พปช.ยืนยันว่า จะเสนอนายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งหากพรรคร่วมรัฐบาลให้ความเห็นชอบ ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น เพราะการกลับมาเป็นนายกฯ ครั้งใหม่ของนายสมัคร จะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่รุนแรงมากกว่าเดิมในแง่ความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งตอนนี้ นอกจากจะเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งที่ลุกลามในวงกว้างแล้ว ยังก้าวเข้าสู่ภาวะสุญญากาศอย่างเต็มตัว