xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.อ่วมหนี้เสียฉุดกำไร วอนคลังเลื่อนใช้ IAS39

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธอส.อ่วม “ขรรค์” ครวญภาวะเศรษฐกิจรุมเร้า ขณะที่เกณฑ์จัดชั้นหนี้ทำพิษ จุกเอ็นพีแอลพุ่ง 11.84% อ้อนคลังเลื่อนบังคับใช้ไอเอเอส 39 แบงก์รัฐออกไปปี 55 หวั่นปล่อยกู้สนองนโยบายรัฐยาก เผยผลประกอบการครึ่งปีกำไรลดเหลือ 727 ล้านบาท หลังเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัว

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารปรับเปลี่ยนวิธีการจัดชั้นหนี้จากระบบนับงวดค้าง เป็นแบบนับวันสะสม (เดย์พาสดิว) ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ทางเทคนิคพุ่งขึ้นทันที 30,000 ล้านบาท คาดว่า สิ้นปีนี้จะมีเอ็นพีแอลพุ่งขึ้นไปอีก 50,000 ล้านบาท พร้อมยอมรับว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพกลับเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีความผันผวน แต่ ธอส.ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ธอส.กำลังพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยวางแผนงาน 3 ประการที่จะลดเอ็นพีแอล และมีเป้าหมายว่าสิ้นปีนี้จะมีเอ็นพีแอลไม่เกิน 80,000 ล้านบาท จากช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีเอ็นพีแอล 68,991 ล้านบาท หรือ 11.84% จากปีก่อนที่มีเพียง 5.81%

“การเปลี่ยนวิธีคำนวณทำให้ลูกค้าสวัสดิการต่างกว่า 70,000 บัญชี รวมมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทนั้นมีปัญหาเอ็นพีแอลทางเทคนิคทันที เพราะหลังจากที่ธอส.อนุมัติสินเชื่อแล้ว ต้นสังกัดของลูกค้าสวัสดิการเหล่านั้นตัดบัญชีในงวดแรกไม่ทันตามวันที่กำหนด ต้องมาเริ่มตัดบัญชีทันในงวดที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งหากนับตามระบบเดิมที่ใช้มา 20-30 ปี จะยังไม่เป็นเอ็นพีแอลเพราะยังไม่ครบ 90 วัน แต่ระบบใหม่นี้ ค้างชำระเพียงวันเดียวก็เริ่มนับเอ็นพีแอลแล้ว และทำให้ลูกค้าสวัสดิการทั้งหมดมีปัญหาดังกล่าวขึ้นมาทันที ทั้งนี้ได้เริ่มแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยเหลือเพียง 10,000-20,000 บัญชีเท่านั้น”

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ธอส.จะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเข้าสู่ระบบรวมศูนย์ และสำหรับลูกค้าสวัสดิการนั้น เมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว อาจจะเก็บเงินใน 2 งวดแรกทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น นอกจากนี้จะติดตามหนี้ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งจ้างบุคคลภายนอกติดตามหนี้บางประเภทออกไป

นอกจากนี้ ธอส.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ไอเอเอส 39 ออกไปจากเดิมที่ต้องใช้ภายในปี 2552 นี้ เป็นปี 2555 โดยระหว่างนี้จะพยายามตั้งสำรองให้ได้ปีละไม่น้อยกว่า 20% เนื่องจาก หากตั้งสำรองตามเกณฑ์ธปท.ทันที จะมีผลทำให้ธอส.ขาดทุน กระทบต่อฐานะธนาคารในแง่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) และจะปล่อยกู้ไม่ได้ ขณะที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังเองยังไม่ได้เพิ่มทุนให้

ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 34,523 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่ปล่อยได้ 45,309 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 582,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.74% มีสินทรัยพ์รวม 637,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.67% มีสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) 7,425 ล้านบาท ทำให้มีผลกำไรสุทธิ 727 ล้านบาท ลดลง 4.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ 80,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,700 ล้านบาท

“ครึ่งปีแรก ถ้าเราไม่ต้องสำรองตามเกณฑ์ เราจะทำกำไรได้มากกว่า แต่ได้ต้องตั้งสำรองไป 4,092 ล้านบาท และถ้าใช้ไอเอเอส 39 จริงๆ แล้วต้องสำรองที่ 50% หรือเพิ่มอีกรวมแล้วเป็น 9,000 ล้านบาท แม้ว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีเอ็นพีแอลเพิ่มมากขึ้น แต่เราต้องพยายามทำให้สถานการณ์คงที่ให้ได้และประคองให้ผ่าน 1-2 ปีนี้ไปให้ได้ก่อน”

***ลงนามร่วม บตท.ปล่อยกู้ 500 ล้าน

ล่าสุด ธอส.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) จัดทำโครงการซื้อขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยคงที่ เป็นโครงการนำร่องวงเงิน 500 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ประชาชนกู้หรือรีไฟแนนซ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ในวงเงินขั้นต่ำรายละ 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท กู้ได้ไม่เกิน 85% ของราคาประเมิน มีให้เลือก 3 แบบคือ ดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี ดอกเบี้ย 3.99% คงที่ 2 ปี ดอกเบี้ย 4.99% และคงที่ 5 ปี ดอกเบี้ย 6.99% จากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวเอ็มอาร์อาร์-0.25% นาน 30 ปี เฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑลเท่านั้น

นางดวงพร อาภาศิลป์ กรรมการและผู้จัดการ บตท. กล่าวว่า หลังจากโครงการนำร่องครั้งนี้แล้ว เร็วๆ นี้ มีแผนจะแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) วงเงิน 4,000 ล้านบาทร่วมกันอีก โดยเริ่มต้นอาจจะเริ่มที่ 1,000 ล้านบาทก่อน นอกจากนี้ บตท. ยังมีแผนจะทำซีเคียวริไทเซชั่นสินเชื่อคงค้างขององค์กรเองอีก 2,000 ล้านบาทในปีนี้ และกำลังเตรียมร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย

ปัจจุบัน บตท.มียอดสินเชื่อคงค้างเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยหากนับจากขนาดพอร์ตที่เหมาะสมและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จะต้องมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งภายใน 1-2 ปีนี้บตท.กำลังพยายามเพิ่มพอร์ตให้ได้ และมีเป้าหมายเพิ่มไปถึง 10,000 ล้านบาทในอนาคตอันใกล้

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษา รมช.คลัง กล่าวว่า เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังทำงานร่วมกันให้มากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เริ่มต้นแล้ว และโครงการนี้ได้คิดดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม มีประโยชน์ต่อประชาชนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น