xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” โต้ข่าวงาบสินบนอุโมงค์ฉาว กทม.เตรียมเปิดแถลง 15 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช (กลาง)
นายกฯ “สมัคร” ยันโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ กทม.ปี 46 โปร่งใส เพราะเป็นการทำสัญญาที่ถูกต้อง และไม่รู้จักผู้บริหาร นิชิมัตซึ แต่ถูกใส่ร้ายทางการเมือง โดยยกเป็นประเด็นเพื่อขับไล่รัฐบาล ลั่นเปิดแถลง 15 ก.ค.นี้ หลังการประชุม ครม.ด้านพรรค ปชป.จี้ “สมัคร” อย่างเบี่ยงประเด็น แต่ควรชี้แจงให้ชัดเจน เพราะกำลังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ “องอาจ” จวกใช้ช่อง 11 เอ็นบีที เกินเวลา ทำเหมือนเป็นทีวีส่วนตัว เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม

วันนี้ (13 ก.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการทุจริตโครงการก่อสร้างอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โยงใยผู้บริหารระดับสูงหลายคนในยุคที่ตนเองเป็นผู้ว่าราชการ กทม.โดยกรณีที่เกิดขึ้น ตนเองขอยืนยันว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการทำสัญญาที่ถูกต้อง ไม่ได้มีการให้เงินสินบนตามที่เป็นข่าว โดยเป็นโครงการที่มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท เพื่อวางท่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตชั้นใน

นายสมัคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก็มีการกล่าวหาในโครงการลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบความผิดปกติ นอกจากนี้ ตนเองก็ไม่มีความรู้จักกับผู้บริหารของนิชิมัตซึ ดังนั้น จึงสังเกตว่า การดึงเรื่องดังกล่าวอาจเพื่อเป็นประเด็นทางการเมือง โดยรวมกับคดีความต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่ให้นำไปสู่การขับไล่รัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารที่ 15 ก.ค.นี้ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนเองจะแถลงข่าวเรื่องสำคัญในเวลา 13.30 น.

**ปชป.ซัด “หมัก” จอมเบี่ยงประเด็น

นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช กล่าวชี้แจงในรายการสนทนาฯ เช้าวันนี้ แทนการพยายามเบี่ยงเบนประเด็น เนื่องจากความไม่โปร่งใสในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

“ท่านนายกฯ คงต้องชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบชัดเจนว่า อักษรย่อ 2 ส.และ 1 ธ.คือใคร ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทั้งหมดได้ยกโขยงมาอยู่ที่ทำเนียบ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครชี้แจงในเรื่องเหล่านี้ และแปลกใจว่า ทำไม นายสมัคร ไม่พูดเรื่องนี้ อาจจะเป็นเพราะน้ำในอุโมงค์ท่วมปากหรือฝาท่ออุโมงค์ทับอกก็ไม่ทราบ จึงไม่มีการชี้แจงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ทางพรรคยืนยันจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะเป็นเรื่องใหญ่”

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรค ปชป.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีข่าวที่นักธุรกิจญี่ปุ่นจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงใน กทม.เพื่อให้ได้รับงานโครงการก่อสร้างดังกล่าว ต้องขอชื่นชมว่า กรณีนี้อัยการโตเกียวมีฝีมือมาก เพราะเคยจัดการนายกฯญี่ปุ่นออกมาแล้ว วันนี้ เขาหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา และระบุว่า มีการจ่ายสินบนโดยระบุชื่อย่อ คือ 2 ส.และ 1 ธ.ซึ่ง นายสมัคร ได้เปิดเผยออกมาเองว่า ชื่อย่อทั้งหมดเป็นใครในรายการสนทนาประสาสมัคร และยังพูดอีกว่าอุโมงค์มีความสำคัญอย่างไร อีกทั้งยังบอกว่า การจ่ายสินบนทำไมจ่ายเป็นเงินเยน คำอธิบายดังกล่าว เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น ทั้งที่สังคมสงสัยว่าท่านเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ แต่กลับไม่ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ ให้ชัดเจน

นายองอาจ กล่าวว่า การจ่ายสินบนเป็นเงินเยน หรือเงินบาท ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องอธิบายเลย เพราะการรับเงินเยนจะนำมาแลกเป็นเงินไทยไม่ได้หรืออย่างไร หรือถนัดแต่รับเงินดอลลาร์ หรือเงินไทย เท่านั้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่พูด หรือแสดงจุดยืนเลยว่า เรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของประเทศชาติ และรัฐบาลมีหน้าที่จัดการให้เรื่องกระจ่าง

นายองอาจ ยังกล่าวอีกว่า นายสมัคร ได้ใช้เวลาพูดในรายการเกินเวลาปกติไป 30 นาที จึงอยากถามว่า ท่านเป็นเจ้าของเอ็นบีที และช่อง 11 หรืออย่างไร ขนาดสัปดาห์ก่อน เจ้าหน้าที่ยกป้ายบอกว่าหมดเวลา ก็ยังโดนตำหนิ ครั้งนี้เลยไม่กล้ายก แต่ นายสมัคร กลับพูดเพลินไปเรื่อย พูดตั้งแต่ 08.30-10.00 น.เป็นการใช้สื่อเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และโจมตีพรรค ปชป.

“เรื่องนี้ หาก นายสมัคร แน่จริง อยากให้เอาไปพูดกันในสภา หรือเปิดให้นักข่าวซักถามกรณีสินบน จะปิดปากแล้วมาพูดทำไมวันอาทิตย์ ตรงนี้คือความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ใช้สื่อของรัฐเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่กลับไปขอโทษกรมศิลปากรที่มีเทปจะออกอากาศต่อ แล้วไปขอโทษกรมศิลปากร ตรงนี้ยิ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะคนที่นายกรัฐมนตรีควรขอโทษ คือ ประชาชน มิใช่กรมศิลปากร”

ก่อนหน้านี้ นายสามารถ มะลูลีม ส.ส.ประชาธิปัตย์ อดีตประธานสภา กทม.ได้ออกมาเปิดเผยถึงการตรวจสอบโครงการอุโมงค์ฯ จากคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2546-2547 ซึ่งขณะนั้น ตนเป็นประธานสภา กทม.ได้เข้าไปชี้แจงข้อมูลถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ และได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการเปิดซองด้านเทคนิคที่ให้คะแนนอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ ให้สิทธิกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ตัดสินทั้งหมด เนื่องจากเป็นเรื่องแปลกที่หลายบริษัท ที่ล้วนมีความชำนาญการทำงานในโครงการใหญ่ของประเทศได้คะแนนด้านเทคนิคน้อย ถึงไม่ผ่าน จึงมองว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีตรวจสอบและให้คะแนนใหม่

นายสามารถ กล่าวว่า ประการสำคัญ คือ เมื่อเปิดซองเทคนิคไปแล้ว จึงไม่สามารถทราบได้เลยว่า ซองราคาของบริษัทที่ไม่ผ่าน ได้เสนอราคามาเท่าไร ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบหลายบริษัทเสนอราคาต่ำกว่ากิจการร่วมค้าไอเอ็น (อิตาเลียนไทย-นิชิมัสซึ) ด้วยซ้ำ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า การประกวดราคาจ้างเหมาโครงการดังกล่าว ไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใส และมีการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง

นายสามารถ ยังระบุอีกว่า ช่วงที่มีการร้องเรียนจากบริษัท สี่แสงการโยธา ว่า โครงการดังกล่าวไม่มีความโปร่งใส ผมได้พูดคุยกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และเมื่อได้ดูรายละเอียดข้อมูลต่างๆ แล้วยังกล่าวกับผม ว่า โครงการไม่ชอบมาพากล และดูเหมือนการกำหนดคุณสมบัติจะเอื้อกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยเฉพาะกิจการร่วมค้าไอเอ็น (อิตาเลียนไทย-นิชิมัตซึ) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะได้โครงการและในที่สุดก็ได้งาน กทม.ชิ้นนี้ไปจนได้ จึงอยากให้ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบเร่งหาความกระจ่างให้ประชาชนรับทราบ เพราะขณะนี้สร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กรของ กทม.เป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น