xs
xsm
sm
md
lg

คลังบ้าเลือด! ออกพันธบัตร 5 แสน ล.ลุยเมกะโปรเจกต์-สู้วิกฤต ศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังมีแผนออกพันธบัตร 5 แสน ลบ.เน้นลงทุนเมกะโปรเจกต์ สู้ภาวะ ศก.โลกผันผวน เตรียมเข็นพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษเฉพาะสาดมั่วทุกกลุ่ม ลดความเสี่ยงต้นทุนการเงิน และดอกเบี้ยขาขึ้น

วันนี้ (18 มิ.ย.) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนจะออกพันธบัตรวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2552 โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท รัฐบาลรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ 2 แสนล้านบาท และพันธบัตรเพื่อระดมทุนมาใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับอายุพันธบัตร คาดว่า จะมีตั้งแต่ พันธบัตรระยะสั้น 2 ปี, อายุ 5 ปี, อายุ 10 ปี, อายุ 20 ปี ไปจนถึงอายุ 30 ปี โดยจะมีการเชิญดีลเลอร์เข้ามาสอบถามความเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการพันธบัตรของตลาด ทั้งวงเงินและอายุพันธบัตร

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจกับการลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องการเงินกู้ระยะยาว จึงต้องพิจารณาการออกพันธบัตรให้มีความหลากหลาย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังมีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษจำหน่ายให้เฉพาะกลุ่มในปีงบประมาณ 2552 เช่น พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษเพื่อเยาวชน พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษเพื่อภูมิภาค เป็นต้น

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2552 สบน.อาจจะไม่มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งปกติกำหนดจะออกขายเดือนละ 500 ล้านบาท ซึ่งได้กำหนดวงเงินซื้อขั้นสูงรายละไม่เกิน 5 แสนบาท แต่พันธบัตรพิเศษนี้จะไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง แต่จะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาซื้อแทน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า พันธบัตรพิเศษเพื่อเยาวชนหรือการศึกษาจะมีอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดบวกพรีเมียม 15% วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาให้แก่เยาวชน โดยอาจจำกัดอายุผู้เรียนไม่เกิน 15 ปี

ขณะที่การออกพันธบัตรพิเศษเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค จะเน้นการขายพันธบัตรให้แก่ประชาชนในต่างจังหวัด วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยผลตอบแทนที่กำหนดอาจสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปเพื่อจูงใจให้ประชาชนลงทุนมากขึ้น ส่วนรูปแบบและอายุของพันธบัตรยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สบน.ยังมีแนวคิดออกพันธบัตรที่มีผลตอบแทนผูกพันกับเงินเฟ้อ (Inflation Link Bond) โดยอัตราดอกเบี้ยจะลอยตัวตามเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเงินต้นที่จะไม่ลดค่าเงินลงทุน จึงน่าจะเป็นพันธบัตรที่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น เชื่อว่านักลงทุนจะเข้ามาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งมีเงินลงทุนจำนวนมาก แต่ปัจจุบันได้หันไปลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศมาก ดังนั้น สบน.ต้องการดึงเงินทุนเหล่านี้ให้กลับมาในประเทศ

ส่วนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่ พ.ร.บ.สบน.ฉบับใหม่เปิดช่องทางให้สามารถจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการระดมเงินจากการออกพันธบัตรเพื่อนำไปลงทุนต่างประเทศได้นั้น นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็น เพราะทางการมีแผนใช้เงินค่อนข้างมากทั้งเพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ แต่ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าอาจจะสามารถพิจารณาการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้ เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะจัดทำงบประมาณที่ขาดดุลลดลง หรือเข้าสู่สมดุลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น