บอร์ด กกพ.มีมติให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด มิ.ย.-ก.ย.นี้ ลดลง 6 สต./หน่วย หรือลดลง 2.05% พร้อมแสดงความกังวลการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น ช่วงเทศกาลแข่งขันบอลยูโรฯ แนะวิธีประหยัดเปิดทีวีเครื่องเดียวให้ดูกันหลายคน
วันนี้ (13 มิ.ย.) นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเรเตอร์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน มิ.ย.-ก.ย.ที่อัตรา 62.85 สตางค์ต่อหน่วย ลดลงจากรอบที่ผ่านมา 6.01 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนรอบใหม่นี้มีอัตราที่ 2.88 บาทต่อหน่วย หรือลดลง 2.05%
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาค่าเอฟทีดังกล่าว มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยปัจจัยลบ อาทิ ท่อส่งก๊าซจากแหล่งเยตากุนในพม่า ไม่สามารถจัดส่งได้ตามปกติ แต่คณะกรรมการเห็นว่ายังไม่ควรนำต้นทุนมาคำนวณค่าเอฟทีทั้งหมด เพราะการเจรจาค่าชดเชยจากผู้ผลิตก๊าซทั้ง 2 แหล่ง ยังไม่ได้ข้อยุติ
ขณะที่ปัจจัยบวก คือ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเพิ่มขึ้น และแผนการลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าฯ ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่มีภาระจากการลงทุน เมื่อนำปัจจัยทั้งหมดมาหักล้างกัน ทำให้ปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่นี้ได้ แต่ก็ขอให้ประชาชนเน้นประหยัดใช้ไฟฟ้าต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งแก่ตัวเองและประเทศ
สำหรับกรณีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 8.95 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.ที่ผ่านมา ปัญหาจากโครงการก๊าซธรรมชาติในแหล่งอาทิตย์เกิดความล่าช้า และท่อส่งก๊าซธรรมชาติเยตากุนมีปัญหา ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย.นี้ จะสูงขึ้น และได้รับผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงที่ปรับขึ้นตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มติของ กกพ.เห็นควรไม่ให้มีการส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผ่านค่าเอฟทีทั้งหมด เนื่องจากการเจรจาค่าชดเชยจากผู้ผลิตก๊าซทั้งสองแหล่งยังไม่ได้ข้อยุติ โดยไม่ให้ส่งผ่านในส่วนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในส่วนที่ ปตท.คาดว่าจะเรียกรับจากผู้ผลิตในแหล่งอาทิตย์และเยตากุน รวม 1,595 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาช่วยลดค่าเอฟทีได้ 3.41 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ กกพ.เห็นควรให้ กฟผ.ไปเจรจาร่วมกับกรมชลประทานในการบริหารการใช้น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 200 ล้านหน่วย ส่งผลให้ ค่าเอฟทีลดลงได้อีก 0.70 สตางค์ต่อหน่วย
ขณะเดียวกัน การคิดค่าเอฟทีครั้งนี้ ได้นำเงินจากการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและเงินสมทบที่ได้จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของ กฟผ.รวมทั้งสิ้น 5,082 ล้านบาท มาช่วยในครั้งนี้ ซึ่งสามารถปรับลดค่าเอฟทีลงได้อีก 10.85 สตางค์ต่อหน่วย
ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บจากประชาชนในบิลค่าไฟฟ้ารอบนี้ลดลงได้ 6.01 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 62.85 สตางค์ต่อหน่วย จึงเป็นข่าวดีสำหรับประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนหลายชนิด ทั้งภาคการผลิต อุตสาหกรรม และสินค้า เป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนได้อีกมาก ไม่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ในภาวะที่ประเทศต้องประสบกับวิกฤตราคาน้ำมันแพง และปัญหาค่าครองชีพ
“สำหรับวิธีที่จะช่วยประหยัดเงินค่าไฟได้มากที่สุด คือ การรู้จักประหยัดไฟฟ้า ใช้อย่างรู้คุณค่า และติดอุปกรณ์ประหยัดไฟ โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร การหันมาเชียร์บอลร่วมกันในครอบครัวโดยเปิดทีวีเครื่องเดียว ตั้งนาฬิกาปลุกแทนการเปิดทีวีทิ้งไว้ หรือถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังจบการแข่งขัน จะเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ง่ายๆ” นายดิเรก กล่าวสรุปทิ้งท้าย