ธปท.วิตกขาดดุล 5.6 หมื่นล้าน ชี้ภาวะน้ำมันกำลังบั่นทอนเสถียรภาพศก. และภาวะเงินเฟ้อในอัตราเร่งกดดันความเชื่อมั่น แต่มีภาคเกษตรเข้ามาเป็นตัวช่วย ขณะที่การลงทุนเอกชนเริ่มทรุดอีกครั้ง
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ประเทศไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 1,768 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 1,661 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลมากสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ มิ.ย. 2548
นางอมรา กล่าวว่า สาเหตุหลักของการขาดดุลการค้า เนื่องจากการนำเข้ามีมูลค่า 15,399 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 41.5% โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสูงถึง 79.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพราะราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจาก 64.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็น 103 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 61.9%
"มูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมาก ที่สำคัญมาจากผลของการนำเข้าน้ำมัน โดยในเดือนเม.ย. 51 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 103 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล จากเดือนเม.ย.50 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล หรือสูงขึ้นถึง 61.9% โดยสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันคิดเป็น 23% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด"
ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงการนำเข้าทองคำที่สูงถึง 616% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นางอมรา กล่าวว่า สาเหตุที่การนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เนื่องจากฐานของเดือนเม.ย.50 ต่ำ แต่ไม่น่ากังวลเพราะมูลค่านำเข้าทองคำคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
"การนำเข้าทองคำในเดือน เม.ย.ที่ดูว่าอัตราการขยายตัวสูงนั้นเป็นเพราะเดือนเม.ย. 50 ฐานต่ำ ซึ่งถ้่าหักการนำเข้าทองคำออกแล้วจะทำให้การส่งออกดีขึ้นหรือไม่นั้น คงไม่มากเพราะสัดส่วนน้อย แต่ตัวที่ทำให้ดุลการค้าแย่จริงๆ คือ น้ำมัน"
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2/51 ขณะนี้ยังตอบอะไรไม่ได้มาก แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาถือว่าในส่วนของภารผลิตน่าจะโตต่อได้ รวมถึงภาคการเกษตร การส่งออก แต่สิ่งที่ห่วง คือ ดุลการค้า ที่เกรงว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้น
"แต่ที่ห่วงคือว่า ถ้า Term of Trade ที่เราเสียไปเรื่อยๆ อาจะทำให้ภาคการค้าที่เราหวังจะเป็น Income ที่จะเข้าอาจจะน้อยลง และจะกลับไปกดดันเงินเฟ้อได้"
ทั้งนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเหล็ก และค่าวัสดุก่อสร้าง ทำให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน เม.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 5.6% ขณะที่เดือน มี.ค. อยู่ที่ 7.4% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนนี้ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43 จาก 47.3 ในเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ 69.1% ลดลงจากเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจเดือน เม.ย. เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากผลิตผลทางการเกษตรที่กลับมาขยายตัวดี
ด้านเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.2% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5.3% จากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดเร่งตัวขึ้นมาก ทำให้ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่พลังงานและอาหารสด ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน 1.7% มาอยู่ที่ 2.1%
นางอมรา กล่าวว่า เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากวันที่ 16 พ.ค. 2551 ที่ 1.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันฐานะการซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ 1.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 1.99 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ