xs
xsm
sm
md
lg

สคบ.เร่งมือกฎคุมโฆษณา เอกชนหวั่นเนื้อหาคลุมเครือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคบ.ดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน ร่วมสัมมนา “ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาที่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค พ.ศ. ....” ส่วนใหญ่เห็นชอบ แต่ติดที่ต้องการขอให้ลงรายละเอียดและร่างคู่มือกำกับเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง มองเส้นทางสู่ผลบังคับใช้ยังอีกยาวไกล อย่างเร็วต้นปีหน้าได้เห็น

วานนี้ (8 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ  สคบ.ได้จัดประชุมสัมมนา  “ร่างกฏกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาที่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค พ.ศ. ....” โดยมี นางรัศมี วิศทเวทย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประธาน ซึ่งในการประชุมมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฏกระทรวงดังกล่าว จำนวนกว่า 200 คน

นางรัศมี วิศทเวทย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า  ปัจจุบันมีการโฆษณาที่เข้าข่ายในลักษณะที่อาจฝ่าฝืน มาตรา23  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่ได้กำหนดไว้ว่าการโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก  

ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ไม่สามารถใช้กฏหมายดังกล่าวดำเนินการได้ จึงทำให้เกิดช่องว่างในการควบคุมผู้ประกอบธุรกิจในการโฆษณาสินค้าและบริการ จึงได้มีการจัดสัมมนา “ร่างกฏกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาที่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค พ.ศ. ....” ประกอบมาตรา 23 แห่ง ระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็น

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนี้ มี 2 ข้อใหญ่ คือ ข้อ.1 การโฆษณาที่กระทําด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเข้าลักษณะอันอาจเป็นอันตราย ต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจแก่ผู้บริโภค คือ  ก.การนำสัตว์มาแสดงให้เห็นถึงความดุร้าย หรือการทารุณต่อสัตว์ หรือการใช้วิธีที่เสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกาย หรือชีวิตแก่บุคคลหรือสัตว์ ข.การนำอาวุธหรือวัตถุระเบิดมาแสดงให้เห็นว่าได้นำมาใช้เพื่อกระทำผิดกฏหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ ค.การนำวัตถุอันตรายมาแสดงให้เห็นวิธีการฉีด พ่น เข้าหาบุคคลหรือสถานที่ที่มีบุคคล หรือบริเวณที่มีภาชนะอาหารตั้งอยู่หรือแสดงให้เห็นว่ามีการสูดดม

ง.การนำวัตถุหรือสิ่งอื่นใดอันมีลักษณะที่น่ารังเกียจน่าขยะแขยง หรือน่ากลัว หรือทำให้เข้าใจ ว่าเป็นวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย มาวาง ตั้ง หรือแขวน หรือทำให้ปรากฏไม่ส่าด้วยวิธีการใดๆ ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวไม่สบายใจหรือวิตกกังวล จ.การใช้บุคคลมาแสดงท่าทางที่เสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิต ฉ.การส่งข้อความไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ได้รับข้อความหรือบุคคลในครอบครัวตกใจกลับไม่สบายใจหรือที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในครอบครัว

ข้อ.2 การโฆษณาที่กระทำด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเข้าลักษณะอันก่อให้เกิดความรำคาญอย่างต่อเนื่อง  ข.การใช้เสียงดังเกินปกติหรือเสียงดังผิดปกติ หรือใช้เสียงในบางช่วงบางตอนดังเกินปกติ หรือผิดปกติหรือลากเสียงยาวเกินปกติ หรือใช้ภาพหรือแสงที่ก่อให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วน หรือไม่สบายใจโดยไม่สมควร

โดยเนื้อหาในร่างกฏกระทรวงนี้ มีตัวแทนจากผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นไว้หลายท่าน อาทิเช่น นายวิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เห็นด้วยที่ร่างกฏกระทรวงนี้จะเกิดขึ้น แต่อยากให้มีการกำกับรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้อื่นนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง บนพื้นฐานความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะร่างฉบับดังกล่าว ยังมองว่าไม่ชัดเจน ส่วนตัวแทนจากทางกรมประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นไว้ว่า เห็นด้วยเช่นเดียวกัน แต่อยากเสนอแนะให้มีเรื่องของการจัดทำคู่มือนำมาประกอบกับร่างฉบับนี้ด้วย

ขณะที่ตัวแทนจากทางภาคเอกชน อย่าง ยูนิลีเวอร์ แสดงความกังวลว่าด้วยเรื่องของสินค้าบางประเภท เช่น น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่ต้องโฆษณาแบบต้องสูดกลิ่นนั้น อาจอยู่ในข่ายของข้อที่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายได้ จึงอยากให้การชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ด้วย เพื่อที่จะนำมาปฏิบัติและทำการโฆษณาได้อย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม นางรัศมี ได้กล่าวว่า ร่างนี้เป็นแค่กรอบแบบกว้างๆ ซึ่งต่อไปจะมีการจัดคู่มือควบคู่ไปด้วย โดยขั้นตอนต่อไป ยังคงเปิดโอกาสให้ส่งความคิดเห็นเข้ามาได้ จนกว่าจะมีการนำร่างนี้มาประกาศใช้ ซึ่งมองว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะสคบ.ต้องมีการยกร่างและรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการสอดส่องวินิจฉัยโฆษณา

หลังจากนั้น จึงจะนำร่างนี้เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เพื่อที่จะนำเสนอแก่คณะครม.ให้เห็นชอบ หลังจากนั้น จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการส่งไปที่กฤษฎีกา ว่าจะผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็จะต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนาม จึงจะแล้วเสร็จ และจะประกาศใช้ต่อไปได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ หากไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด คาดว่า ต้นปีหน้าร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น