รมว.คมนาคม นัดผู้ประกอบการ รถเมล์-บขส.หารือแนวทางปรับขึ้นค่าโดยสาร วันนี้ “เจ๊เกียว” ลั่นเส้นตาย 11 พ.ค.ต้องจบ
วันนี้ (29 เม.ย.) มีรายงานข่าวว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ตามที่ยื่นข้อเรียกร้องมา ตนเองได้มอบหมายให้รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบกไปคำนวณต้นทุนการเดินรถ และกำหนดอัตราค่าโดยสาร และระยะเวลาที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องเป็นอัตราที่ช่วยลดภาระการขาดทุนของผู้ประกอบการและไม่เป็นภาระให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ได้มีการนัดหารือกับผู้ประกอบการในวันนี้ เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการด้วย
นายทรงศักดิ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะที่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวีทั่วประเทศเพียง 7% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่มาตรการสนับสนุนให้ใช้เอ็นจีวียังไม่เรียบร้อย ดังนั้นระยะเร่งด่วนนี้จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการปรับค่าโดยสาร เพราะราคาน้ำมันมีผลกระทบโดยตรงกับค่าโดยสาร โดยการปรับค่าโดยสารต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งในส่วนของรถโดยสารของเอกชน และรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ด้าน นางสุจินดา เชิดชัย (เจ๊เกียว) นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อหารือผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อต้นทุนการเดินรถ หลังจากเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ส่งสัญญาณไฟเขียวให้ผู้ประกอบการรถร่วมบริการสามารถปรับค่าโดยสาร เพื่อรองรับต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ดังนั้น ในส่วนของรถร่วมบริการที่เป็นสมาชิกของสมาคม ขอให้ภาครัฐ อนุมัติให้ผู้ประกอบการปรับค่าโดยสารรถร่วม บขส.อีก 9 สตางค์ต่อกิโลเมตร ตามข้อเรียกร้องที่สมาคมฯ เคยยื่นเสนอต่อกระทรวงคมนาคมไปแล้ว โดยการอนุมัติให้ปรับราคานี้ สมาคมฯ ขอให้คณะกรรมการฯ อนุมัติโดยเร็วที่สุด และขอให้มีผลตั้งแต่ 11 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป และหากไม่มีอนุมัติ ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มทยอยหยุดเดินรถ หลังขาดทุนต่อเนื่อง
ขณะที่ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ในวันนี้ บขส.ก็ต้องการขอปรับค่าโดยสารด้วย โดยจะขอขึ้นค่าโดยสารอีก 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารไปอยู่ขั้นที่ 15 เท่ากับรถร่วมบริการ ก่อนที่จะอนุมัติให้ปรับราคา ซึ่งหากได้รับการปรับราคา บขส.จะสามารถลดผลขาดทุนเดือนละ 25 ล้านบาท ได้ประมาณร้อยละ 40 นอกจากนี้ บขส.มีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาลขอให้มีการตรึงราคาเอ็นจีวีที่ กก.ละ 8.50 บาท ไปอีก 3 ปีจากเดิมสิ้นสุดปี 52 ซึ่งน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์มากขึ้น