xs
xsm
sm
md
lg

ลือสะพัด! รัฐบาลเตรียมประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลือสะพัด รัฐบาลสรุปให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาทแล้ว ตามแนวคิดของนายกฯ ที่ลั่นวาจาไว้ กลางรายการสนทนาประสาสมัคร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาดนำเข้า ครม.พรุ่งนี้ เพื่อลงมติเห็นชอบ

วันนี้ (28 เม.ย.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า การหารือเบื้องต้นของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาล ตามแนวคิดของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อสรุปข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ คาดว่า จะเห็นชอบในหลักการให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลภายในประเทศ 5 บาทต่อกิโลกรัม ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก และโครงสร้างต้นทุนการผลิต

โดยเช้าวันนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมายอมรับว่า ตนเองได้เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ เพื่อขออนุมัติมาตรการและแผนแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ และปัญหาราคาน้ำตาลภายในประเทศ โดยจะขออนุมัติให้มีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาชดเชยค่าอ้อยขั้นสุดท้ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกตันละ 107 บาท เป็นตันละ 807 บาท

นอกจากนี้ จะเสนอมาตรการและแผนเรื่องดังกล่าว ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา ได้แก่ กระบวนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่อีก 1.5 เท่า, การปรับปรุงพันธุ์ที่มีความหวานเพิ่มขึ้น, การจัดหาแหล่งน้ำ, การจัดหาปุ๋ย, การขนส่ง และการเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นพลังงานทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ราวปีละ 6.7 หมื่นล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มเป็นปีละ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปพบและรับฟังปัญหาของตัวแทนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเข้าใจดีว่ามีปัญหามาก เพราะเวลานี้ราคาปุ๋ยแพงมากถึง 1,100 บาท เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกือบ 3 เท่าตัว ขณะที่ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานก็ถูกบีบราคาให้อยู่ที่ 14-15 บาทมานาน

“กว่าจะขอขึ้นได้แต่ละบาท ก็ทำเหมือนกับผู้บริโภคน้ำตาลจะต้องตายไปทันที ความจริงแล้วคนที่เดือดร้อนมากไม่ใช่ประชาชน เพราะใช้น้ำตาลไม่มาก แต่คนที่เดือดร้อนและทนไม่ได้คือพวกที่ทำธุรกิจน้ำอัดลม ซึ่งมันเกินเหตุ น้ำตาลกิโลหนึ่งเขาผลิตน้ำอัดลมได้หลายกระป๋อง ถ้าเขาจะขึ้นราคาน้ำอัดลมก็ให้ทำไปตามสมควรแก่เหตุ เพราะมันไม่ใช่ของจำเป็นกับร่างกาย แต่ถ้าขึ้นแพงมากเป็นกระป๋องละ 100 บาท เขาก็คงไม่กินกัน”

นายสมัคร กล่าวว่า เวลานี้ทุกอย่างขึ้นราคาหมด แต่อ้อยถูกกดราคาไว้ ดังนั้น เราต้องทำให้ชาวไร่อ้อยเขาลืมตาอ้าปากได้ เขาขอขึ้นราคาอ้อยเพียงให้พออยู่ได้ที่ 807 บาทต่อตัน ซึ่งตนก็รับปาก ซึ่งถ้าเป็นอ้อยพันธุ์ดี หรือใช้ระบบน้ำหยดราคาอ้อยก็จะเพิ่มขึ้นอีกครึ่งเท่า หรือประมาณ 1,200 บาทต่อตัน ดังนั้น ตนจะให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งผลิตพันธุ์อ้อยดีที่ปลูกแล้วได้อีกครึ่งเท่าให้กับเกษตรกร โดยเอาที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของส่วนราชการที่มีอยู่มากมาผลิตพันธุ์อ้อยให้ราษฎร

ส่วนเรื่องปุ๋ยตนก็จะเข้าไปจัดการให้ เวลานี้คนที่ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าปุ๋ยมีเฉพาะ 5 เสือ ทำให้กำหนดราคาได้เอง เราจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ตนกำลังเลือกบริษัทที่ทำมาหากินโดยสุจริตที่เขาจะร่วมมือกับรัฐบาล โดยจะให้มีใบอนุญาตใบที่ 6 ใบที่ 7 แล้วนำเข้าปุ๋ย และรัฐบาลก็จะเปิดทางเจรจาให้ด้วย แต่เมื่อนำเข้ามาแล้วตนก็ไม่สนับสนุนให้ทำปุ๋ยเคมี อยากให้ทำปุ๋ยออแกนิกมากกว่า และต้องทำให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ทำปุ๋ยปลอม

นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวสนันสนุนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร แสดงความเป็นห่วงเรื่องการบริโภคน้ำตาลในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และเครือข่ายคนไทยไร้พุง รณรงค์ลดการกินน้ำตาลของคนไทยให้น้อยลง เนื่องจากปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาล 20 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อคนต่อวัน

นายสง่า กล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และเครือข่ายคนไทยไร้พุงกำลังผลักดันมาตรการทางกฎหมายห้ามโรงเรียนขายน้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบ แต่เราจะมีขนมเพื่อสุขภาพมาทดแทน ซึ่งได้ประสานงานกับโรงงานผลิตขนม 4 แห่ง ผลิตขนมซองมีเกลือ น้ำตาล และไขมันน้อย 5 ชนิด ทำจากแป้งถั่วเขียว ถั่วหลือง นำไปทดสอบให้เด็กกิน ผลปรากฏว่า เด็กๆ ชอบไม่แตกต่างจากขนมกรุบกรอบต่างๆ จึงจะเปิดตัวขนมทางเลือกอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนขนมไทยที่มีกะทิ และน้ำตาลสูง เช่น ขนมชั้น เปียกปูน หม้อแกง ถั่วแปบ เราได้ทดลองสูตรขนมไทยให้มีน้ำตาลและกะทิลดลง โดยใช้กะทิจากถั่วเหลืองแทนมะพร้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น