ผู้บริหาร อาร์เอส ยันความชอบธรรมเก็บค่าลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2008 สำหรับผู้ที่เปิดทีวีถ่ายทอดสดในเชิงพาณิชย์ ชี้ ราคาถูกเท่าโซดา 3 ขวด หรือเบียร์แค่ 1 ขวดเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรม สถานบันเทิง และร้านข้าวต้มโต้รุ่ง รุมสวดยับ
วันนี้ (30 มี.ค.) นายยรรยง อัครจินดานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยถึงกรณีเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งยุโรป (ยูโร 2008) โดยระบุว่า เป็นการจัดเก็บสำหรับผู้ที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจ เพื่อดึดดูดลูกค้า แต่จะไม่เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์กับการรับชมเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน ผ่านระบบฟรีทีวีปกติ
นายยรรยง กล่าวว่า อาร์เอส ขอยืนยันความถูกต้องของสิทธิ์ในการจัดเก็บ และมั่นใจว่า ราคาที่จัดเก็บอยู่ในอัตราที่ต่ำ โดยกำหนดราคาค่าลิขสิทธิ์ใน 2 อัตรา พร้อมทั้งมอบส่วนลด 40% ให้ผู้สนใจซื้อลิขสิทธิ์ก่อนจะมีการถ่ายทอดการแข่งขันโดยจ่ายเงินช่วงเดือน มี.ค.นี้ แบ่งเป็น จอขนาดไม่เกิน 50 นิ้ว ราคา 2,000 บาท ลดเหลือ 1,200 บาทต่อ 31 นัด คิดเป็น 39 บาทต่อนัด หรือเท่ากับซื้อโซดา 3 ขวด จอขนาด 50 นิ้วขึ้นไป ลดเหลือ 3,000 บาท คิดเป็น 97 บาทต่อนัด เท่ากับสั่งเบียร์ 1 ขวด ถือว่าถูกมาก คงไม่ลดราคาลงจากนี้แล้ว
นายยรรยง กล่าวอีกว่า สำหรับความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์กับทรู วิชันส์ ซึ่งมีช่องฟรีทีวีอยู่ในระบบการถ่ายทอดอยู่แล้วนั้น ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ ซึ่ง ทรู วิชันส์ อาจต้องซื้อลิขสิทธิ์เพิ่มในแง่ของการนำเทปบันทึกการแข่งขันไปออกอากาศซ้ำ ขณะที่การเรียกเก็บกับช่องเคเบิลทีวีนั้น บริษัทจะเจรจาและชี้แจงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้บริษัทจะเน้นการสื่อสารข้อมูลการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสมาคมโรงแรมไทยและสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงจะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละท้องที่ และเตรียมพนักงาน 200 คน ช่วยสอดส่องดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่า 5 วันแรกของการถ่ายทอดจะมีการละเมิดสูง
สำหรับรายละเอียดในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าว ในการแพร่ภาพฟุตบอลยูโร 2008 จะเรียกเก็บจากสถานประกอบการต่างๆ ตั้งแต่โรงแรม สวนอาหาร ผับ บาร์ ไปจนถึงร้านอาหารริมถนน ที่มีการเผยแพร่ภาพการถ่ายทอดสด เพื่อเรียกลูกค้าเข้าร้าน โดยคิดราคาเหมา 2,000 บาท และ 5,000 บาท หากร้านประกอบการใดฝ่าฝืน จำคุก 4 ปี ปรับ 800,000 บาท
นายสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ กรรมการและผู้อำนวยการสายงานกฎหมายและปราบปราม บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด หรือ TCC ในเครือบริษัท อาร์เอส กล่าวว่า TCC เป็นตัวแทนในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และอนุญาตให้มีการแพร่เสียงแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโรฯ จากบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (RSBS) ซึ่งที่ผ่านมา ได้รณรงค์ให้ผู้ประกอบการตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ร้านอาหาร สวนอาหาร ภัตตาคาร ศูนย์อาหาร คาเฟ่ ผับ ลานเบียร์ โรงเบียร์ ให้ดำเนินการขออนุญาตใช้สิทธิ์ให้ถูกต้อง
“เรายืนยันว่า เราได้ลิขสิทธิ์ถูกต้อง การชมฟุตบอลตามบ้านเราไม่ยุ่ง แต่การชมตามร้านอาหาร โรงแรม ผับ ลานเบียร์ โรงเบียร์ ที่ใช้การถ่ายทอดสดฟุตบอลเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน ตรงนี้ต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง ซึ่งต่างประเทศก็เก็บ” นายสุทธิ์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจได้รับสิทธิ์ในการเผยแพร่รายการยูโร 2008 ระหว่างวันที่ 7-29 มิ.ย.2551 ที่จะถึงนี้ รับส่วนลด 40% เมื่อชำระค่าลิขสิทธิ์ภายในวันที่ 31 มี.ค.2551 และรับส่วนลด 20% เมื่อชำระค่าลิขสิทธิ์ภายในวันที่ 1 เม.ย.2551 ถึง วันที่ 30 พ.ค.2551
นายสิทธิพร หาญญานันท์ กรรมการสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลโดยด่วน เพราะขณะนี้บริษัท อาร์เอสบีเอส เจ้าของลิขสิทธิ์ ได้แจ้งเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2008 ถึงจอละ 1,600-5,000 บาท ซึ่งเมื่อคิดกับสมาชิกโรงแรมที่มีจอมากกว่า 2,000 จอ จึงถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มาก
ทั้งนี้ การถ่ายทอดเป็นการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี ซึ่งเป็นช่องสาธารณะสามารถเปิดดูได้อิสระ ไม่ได้ถ่ายผ่านเคเบิลทีวี โรงแรมไม่ได้ใช้ฟุตบอลยูโรทำการตลาด และการถ่ายทอดครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีการจัดเก็บลิขสิทธิ์เกิดขึ้น
นายเจียร แก้วกิติชัย ฝ่ายการตลาด บริษัท คิสส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวมาในลักษณะเดียวกันการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อช่วงที่ผ่านมา ที่มีการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์แพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลจากร้านประกอบการต่างๆที่ใช้โอกาสช่วงมีการแข่งขันฟุตบอลมาเป็นจุดดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน
เพราะฉะนั้นจึงมองว่าร้านประกอบการต่างๆ ควรที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตรงส่วนนี้ให้กับทางอาร์เอส ซึ่งเขาเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์การแพร่ภาพ เนื่องจากกว่าเขาจะได้ลิขสิทธิ์การแพร่ภาพให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับชมกัน ต้องแลกกับการลงทุนจำนวนมากเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์ตรงนี้มา แต่ก็ขอให้ทางอาร์เอสจัดเก็บอย่างเป็นธรรมด้วย
“ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ผมพอจะรับทราบรายละเอียดบ้างแล้ว และมองว่าทางอาร์เอสเอง หากจะจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ก็ต้องจัดเก็บให้มีความเป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมนั้น หากเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากเขา คิดว่ามันเกินไป เนื่องจากโรงแรมเองมีห้องพักจำนวนมาก แต่ละห้องพักมีโทรทัศน์อยู่ภายใน หากเรียกเก็บตรงส่วนนี้ ก็คงต้องจ่ายค่าแพร่ภาพลิขสิทธิ์เป็นเงินจำนวนมาก”
นายอมร ผู้จัดการสวนอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า ตนเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้บรรดาสถานบันเทิงยามค่ำคืน ก็มีภาระหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เป็นยุคข้าวยากหมากแพง แถมต้องผจญกับนโยบายจัดระเบียบสังคมที่กำหนดให้สถานบริการทุกแห่งปิดเร็ว ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการน้อยลง จนแทบจะยุบกิจการทิ้งแล้ว
“พวกเราจะตายกันอยู่แล้ว ลูกค้าก็น้อย ของก็แพง ทุกอย่างแพงหมด ค่าอาหาร ค่าวัตถุดิบ ต้นทุนสูงขึ้นทั้งสิ้น ยังจะต้องมาจ่ายค่าเปิดทีวีถ่ายทอดบอลให้ลูกค้าดูอีก มันจะอะไรกันนักหนา จะให้เจ๊งกันหมดหรืออย่างไร”
ขณะที่เจ้าของสถานบริการ อาบ อบ นวด ย่านถนนพระราม 9 ยอมรับว่า ธุรกิจช่วงนี้ ค่อนข้างซบเซา ลูกค้าหดหายไปเป็นจำนวนมาก แต่หากมีการถ่ายทอดฟุตบอลนัดสำคัญ สถานบริการของเขาก็จะคึกคักขึ้นมา และช่วยให้พวกเขาอยู่ได้
ด้านผู้ประกอบการผับย่านรัชดาซอย 4 แสดงความกังวล การจัดเก็บลิขสิทธิ์ของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยบอกว่า ตนเองยังไม่ทราบว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์อย่างไรบ้าง เพราะไม่เห็นมีการบอกกล่าวหรือประชาสัมพันธ์ให้ทราบ โดยเกรงว่าในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลทางเจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะส่งพวกหน้าม้าเข้ามาสุ่มจับจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทางร้าน
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการร้านข้าวต้มโต้รุ่ง และร้านค้าริมถนนหลายแห่ง ก็แสดงความสงสัยการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องแบบนี้ แต่พอมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทยที่ชื่อ นายเฉลิม อยู่บำรุง ก็มีการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ใช้ช่องว่างอำนาจทางกฎหมายเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ทั้งโต๊ะพนันบอล บ่อน หวย อาจเป็นนโยบายเก็บหัวคิวแบบถูกกฎหมายรูปแบบใหม่ ของท่าน รมต.มหาดไทย