รมว.คลัง เผย รัฐเตรียมทยอยปล่อยมาตรการกระตุ้น ศก.อีกหลายชุด ลั่นงัดมาตรการชุดใหญ่ประเคนอุ้มภาค อสังหาฯ ทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อให้จีดีพีโตได้ถึง 6% ตามเป้าหมาย
วันนี้ (26 มี.ค.) นายแพทย์ (นพ.) สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายของภาครัฐกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อความเติบโตแบบยั่งยืน ในงานสัมมนา “อสังหาริมทรัพย์ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2008” โดยระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งที่เป็นภาษี และไม่ใช่ภาษี ซึ่งคาดว่าจะมีออกมาอีกหลายชุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีอะไรบ้าง แต่จะครอบคลุมในหลายภาคส่วน ซึ่งขอศึกษารายละเอียดชัดเจนก่อน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในอีกสักระยะหนึ่ง
นพ.สุรพงษ์ ยอมรับว่า ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังมีปัญหาอีกนาน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในลักษณะที่เป็นการพัฒนาในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีมาตรการกระตุ้นในระยะสั้นไปแล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลเตรียมออกมาตรการระยะยาวเพิ่มเติมให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีผลครอบคลุมในทุกระดับชั้นตั้งแต่กลุ่มรากหญ้าจนไปถึงนักธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเน้นการพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปี 2551
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า มาตรการทางภาษีที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งของเก่าและของใหม่ จะทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนมากขึ้นในการซื้อบ้านซึ่งถือเป็นอีกทางหนึ่งของการออมเงินของประชาชน เพราะเชื่อว่าหนี้สินที่เกิดจากการซื้อบ้านเป็นหนี้ที่มีคุณภาพและสามารถใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นแหล่งทุนต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 51 เติบโตเพิ่มขึ้นราว 0.2-0.3% จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ไว้ที่ 5.5%
นอกจากนี้ คาดว่า จะทำให้สัดส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 6.3% เป็น 6.5-7.0% และหากรวมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก, ไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ อาจจะเติบโตขึ้นเป็น 20% ของจีดีพี
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในปี 2550 ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าประมาณ 264,035 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของ GDP ในขณะที่ภาคการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของ GDP เมื่อรวมกันจะมีสัดส่วน 6.3% ของ GDP ดังนั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์จึงถือเป็นธุรกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเข้าไปกระตุ้นความเชื่อมั่นเป็นลำดับแรก
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก เพราะประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องไปเน้นที่ภาคการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่สถานการณ์ตลาดโลกและค่าเงินได้บั่นทอนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องวางนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างถาวร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการด้านภาษีที่กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดี หาก พ.ร.ฎ.ที่ออกมาเพื่อรองรับมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้ ก็จะเชิญ 3 สมาคม ซึ่งได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มาร่วมประกาศใช้มาตรการภาษีดังกล่าวต่อสาธารณะชนอย่างเป็นทางการด้วย
รองนายกฯ และ รมว.คลัง เชื่อว่า หลังจากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้จะช่วยทำให้บรรยากาศการโอนและการซื้อที่อยู่อาศัยมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งนอกจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน จะมีโครงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้มีรายได้น้อยในการซื้อบ้านแล้ว เชื่อว่า สถาบันการเงินอื่นๆ จะเสนอเงื่อนไขพิเศษในการให้สินเชื่อบ้านตามมาเช่นกัน
นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ายังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น และล่าสุดรัฐบาลจะเซ็นสัญญาการกู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(JBIC) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยเชื่อว่าในระหว่างปี 2552-2555 จะได้เห็นความแน่นอนของการก่อสร้างรถไฟฟ้าในทุกสายตามนโยบายที่รัฐบาลวางไว้
นพ.สุรพงษ์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานต่อไปจนครบวาระ 4 ปี แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งอุบัติเหตุทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศ เพราะการขับเคลื่อนประเทศคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีเพียง 36 คนเท่านั้น ซึ่งต้องมาจากนักวิชาการ ประชาชน และองค์กรภาคต่างๆ
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2551 เติบโตเพิ่มขึ้นราว 0.2-0.3% จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ไว้ที่ 5.5%
นอกจากนั้น จะทำให้สัดส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 6.3% เป็น 6.5-7.0% และหากรวมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอาจจะเติบโตขึ้นเป็น 20%