xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ฟุ้งหนี้เน่า Q4 ปี 50 ลดฮวบเหลือแค่ 2.7 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยยอดหนี้เอ็นพีแอลทั้งระบบไตรมาส 4 ปี 50 ลดลง 27,667 ล้านบาท เหตุธุรกิจส่วนใหญ่ต่างมียอดหนี้ที่เกิดจากลูกหนี้รายใหม่และรีเอ็นทรีน้อยลง ขณะที่เอ็นพีแอลในระบบที่ลดลงเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ดีขึ้นเช่นกันมีเพียงธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจเหมืองแร่และย่อยหินสวนกระแสกลับมียอดปรับโครงสร้างหนี้น้อยลงกว่าไตรมาสก่อน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แยกตามประเภทธุรกิจล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 4 ของปี 2550 พบว่า ในระบบสถาบันการเงินมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 457,588 ล้านบาท คิดเป็น 7.31% ของสินเชื่อรวม โดย มียอดเอ็นพีแอลลดลง 27,667 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 3 ที่มีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 485,255 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะยอดเอ็นพีแอลโดยรวมของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นเกิดจากเหตุผลมีลูกหนี้รายใหม่จำนวน 41,756 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่มีลูกหนี้รายใหม่ลดลงมีเพียงธุรกิจการสาธารณูปโภคและธุรกิจการเหมืองแร่และย่อยหินเพิ่มขึ้น 3,284 ล้านบาท และ 95 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนี้ที่เกิดจากลูกหนี้รายเก่าที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ (รีเอ็นทรี) 16,544 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลดลงเช่นกันมีเพียงธุรกิจก่อสร้างเพิ่มขึ้น 699 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 498 ล้านบาท การพาณิชย์ 405 ล้านบาท และธุรกิจการเหมืองแร่และย่อยหินเพิ่มขึ้น 207 ล้านบาท

ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจากเหตุผลอื่นๆ มียอด 9,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสุทธิ 657 ล้านบาท โดยหากพิจารณาเป็นรายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการพาณิชย์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 712 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจก่อสร้าง 262 ล้านบาท ธุรกิจการอุตสาหกรรม 82 ล้านบาท ธุรกิจการบริการ 54 ล้านบาท การสาธารณูปโภค 42 ล้านบาท การเกษตร ประมงและป่าไม้ 38 ล้านบาท และการเหมืองแร่และย่อยหิน 18 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับลดลง 483 ล้านบาท เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลลดลง 37 ล้านบาท และธุรกิจการธนาคารและธุรกิจการเงิน 31 ล้านบาท

สำหรับเอ็นพีแอลที่ลดลงเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 23,246 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละธุรกิจต่างปรับโครงสร้างหนี้ได้มากขึ้นมีเพียงธุรกิจการสาธารณูปโภคที่น้อยลง 26 ล้านบาทเทียบกับไตรมาสก่อน ธุรกิจการเหมืองแร่และย่อยหินน้อยลง 16 ล้านบาท รวมทั้งธุรกิจอื่นๆน้อยลงกว่าไตรมาสก่อน 1 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ลดลงด้วยเหตุผลอื่นมีจำนวน 72,102 ล้านบาท โดยธุรกิจส่วนใหญ่ต่างมีหนี้ลดลงกว่าไตรมาสก่อน ยกเว้นธุรกิจก่อสร้างหนี้น้อยกว่าไตรมาสก่อน 4,138 ล้านบาท และธุรกิจสาธารณูปโภค 77 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น