xs
xsm
sm
md
lg

รุ่น3 “ซอโสตถิกุล” ร้อนวิชา ทุ่ม200ล.เพิ่มผลิต-ขยายฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจเนอรเรชั่น 3 ตระกูล “ซอโสตถิกุล คุมรองเท้าผ้าใบนันยาง ลั่นทุ่ม 200 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ หวังแตกโปรดักส์ไลน์ครั้งใหญ่ อัดฉีด 30 ล้านบาท ลุยตลาดช่วงเปิดเทอม ส่งรองเท้าผ้าใบนันยาง ไลท์ ขยายฐาน ลั่นหากราคายางพาราพุ่ง 100 บาทต่อกก. พิจารณาปรับราคาสินค้า  สิ้นปียอดขายโต 15%

นายชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าผ้าใบนันยาง เปิดเผยว่า ตนเองเป็นทายาทรุ่นที่ 3 แห่งตระกูลซอโสตถิกุล โดยได้เข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ดูแลฝ่ายผลิตที่โรงงาน ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ภายใต้การใช้งบ 100-200 ล้านบาท จะสรุปในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และเริ่มสร้างโรงงานภายใน 3 ปี

โรงงานแห่งใหม่นี้บริษัทฯจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มจากปัจจุบันกำลังผลิตกว่า 5 แสนคู่ต่อเดือน เพื่อรองรับการแตกผลิตภัณฑ์ไลน์ใหม่ อาทิ รองเท้ากีฬา ได้แก่ รองเท้าฟุตบอล แบดมินตัน และการสร้างซับแบรนด์ใหม่ๆ ตลอดจนรองรับการขยายตลาดต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น จากปัจจุบันส่งออกไปยังตะวันออกกลาง พม่า ลาว เขมร เป็นต้น

ล่าสุดต้อนรับช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม ได้พัฒนารองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ “นันยาง ไลท์” มีจุดขายคือความเบา เพื่อขยายฐานกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมและกลุ่มเด็กนักเรียนชายระดับประถม จากปัจจุบันฐานลูกค้านันยางเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนชายระดับมัธยม ขนาด 31-38 บาท จำหน่าย 259 บาท สูงกว่านันยางคลาสสิก 10 บาท พร้อมกันนี้ได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ “นันยาง ไม่ประหลาด” ปีนี้บริษัทฯได้เตรียมงบการตลาด 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%

ตลาดรองเท้าผ้าใบมีมูลค่ารวม 2,100 ล้านบาท หรือในเชิงปริมาณ 10 ล้านคู่ ปีที่ผ่านมาเติบโต 3% ส่วนแนวโน้มในปีนี้คาดว่าตลาดรองเท้าผ้าใบระดับอีโคโนมี หรือมาจากจีน ราคาเฉลี่ยกว่า 100 บาท เป็นตลาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 50% จะมีอัตราการเติบโตสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของแม่พ่อลดลง ส่วนตลาดกลางราคา 200-300 บาท ซึ่งนันยางมีส่วนแบ่ง 50-60% และรองเท้าผ้าใบพรีเมียม ราคา 300 -600 บาท สัดส่วน 5% โดยในช่วงเปิดเทอมการแข่งขันตลาดรองเท้าจะมีความรุนแรง โดยเฉพาะของพรีเมียม บริษัทฯได้จัดโปรโมชันแถมถุงเท้า 1 คู่

นายชัยพัชร์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯยังไม่มีแผนที่จะปรับราคารองเท้าผ้าใบเพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น 10-20% โดยเฉพาะราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้น 70 บาทต่อกก.มาเป็น 80-90 บาทต่อกก. ซึ่งหากปรับเพิ่มเป็น 100 บาทต่อกก. บริษัทฯจึงพิจารณาปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้ามีรายได้เติบโต 15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเติบโต 7-8% โดยแบ่งเป็นการเติบโตจากรองเท้าผ้าใบนันยางคลาสสิก 10% และรองเท้าใบไลท์ 5% ขณะที่ส่วนแบ่งโดยรวมเพิ่มอีก 4% จากปัจจุบันกว่า 20%
กำลังโหลดความคิดเห็น