ผู้จัดการออนไลน์ – อ้างคดีขาดอายุความ สรรพากรคืนเงินประกันค่าภาษี “พี่หญิงอ้อ” หน้าด้านๆ 546 ล้านบาท รมช.คลัง แบะท่าทำอะไรไม่ได้อ้างตามขั้นตอน ปฏิเสธแทรกแซงกรมสรรพากรเอื้อครอบครัวทักษิณ สังเกตผู้ต้องหาคดีนี้ และ ขรก.ที่เกี่ยวข้องอาจได้ประโยชน์หากนำกรณีนี้ไปต่อสู้ในชั้นศาล
จากกรณีที่มีข่าวระบุว่า กรมสรรพากรได้คืนเงินค่าวางประกันผู้เสียภาษีจำนวน 546 ล้านบาทให้กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีเลี่ยงภาษีจากการซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 164 บาท รวม 738 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ของครอบครัวชินวัตรที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน เนื่องจากคดีหมดอายุความ
รายงานข่าวระบุด้วยว่า นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร ได้อ้างว่า คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีหุ้นกรณีของนายบรรณพจน์ ซึ่งมีคณะกรรมการจาก 3 องค์กร คือ อัยการ กระทรวงมหาดไทย และกรมสรรพากร ได้มีมติ 2 ต่อ 1 เสียง ให้นายบรรณพจน์ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากขาดอายุความเกิน 5 ปี โดยผลสรุปของคณะกรรมการอุทธรณ์อย่างเป็นทางการดังกล่าวทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถเก็บภาษีหุ้นย้อนหลังได้ และต้องคืนเงินภาษีที่ผู้เสียภาษีวางประกันไว้ก่อนหน้านี้จำนวน 546 ล้านบาท ให้ผู้เสียภาษี
ล่าสุด วันนี้ (3 มี.ค.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า ผู้บริหารกรมสรรพากรได้ชี้แจงกับตนว่าจากการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้มีมติเห็นชอบว่า ขั้นตอนการเรียกเก็บภาษีในวงเงินดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนจัดเก็บได้ เนื่องจากคดีหมดอายุความ 5 ปี ซึ่งแม้ตนเองจะกำกับดูแลกรมสรรพากร แต่ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานในเรื่องนี้ อีกทั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้แต่งตั้งมาก่อนหน้านี้ และเดินหน้าไปตามกฎหมาย
ส่วนจะมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง ย้อนหลังเกี่ยวโยงไปถึง นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งถูกตัดสินให้มีความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น นายประดิษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องขั้นตอนทางกฎหมาย เช่นเดียวกับการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์เรื่องการจัดเก็บภาษีหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายพานทองแท้ และ นางสาวพิณทองทา ชินวัตร นั้น ยืนยันว่า ให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมและตามกรอบกฎหมาย โดยจะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือกดดัน
อนึ่ง มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่คดีภาษีดังกล่าวหมดอายุความอาจจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาภาษีหุ้นดังกล่าวที่อยู่ในชั้นศาล รวมถึงกรณีที่อดีตผู้บริหารกรมสรรพากรหลายคนถูกคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสินให้ผู้บริหารกรมสรรพากรมีความผิดฐานละเว้นการเก็บภาษีหุ้นดังกล่าวจนถูกไล่ออกจากราชการ โดยสามารถนำกรณีดังกล่าวนี้ไปต่อสู้ในชั้นศาลหรือต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์กับสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้อีกด้วย
ย้อนคดีภาษีบรรณพจน์ 546 ล.
สำหรับกรณีการเลี่ยงภาษีดังกล่าวนั้น มีพื้นเพมาจากการที่ นายบรรณพจน์ ได้รับการโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมานเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 ซึ่งมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยโอนหุ้นของคุณหญิงพจมาน ที่ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ ถือไว้แทน ขายให้นายบรรณพจน์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 164 บาท รวม 738 ล้านบาท โดยคุณหญิงพจมานเป็นคนจ่ายเงินค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น ร้อยละ 1 ในวงเงิน 7.38 ล้านบาท ทั้งนี้ คุณหญิงพจมานจ่ายเช็คให้ น.ส.ดวงตา แต่ปรากฏว่า เช็คกลับไปเข้าบัญชีเงินฝากของคุณหญิงพจมานที่เปิดใหม่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาเมื่อคณะกรรมตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้เข้าสอบสวนกรณีดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2549 นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. พร้อมด้วย นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวระบุว่า
นายบรรณพจน์ ได้รับสารภาพกับศาลรัฐธรรมนูญว่าตนเองไม่ได้เป็นคนจ่ายเงินซื้อหุ้น เท่ากับเป็นการรับหุ้นโดยเสน่หา แต่ก็ถือว่าเป็นเงินได้เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นที่ได้รับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 โดยนายบรรณพจน์ต้องเสียภาษีระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2540 ถึงมีนาคม 2541 แต่ตามแบบแสดงการเสียภาษี ภ.ง.ด.90 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 กลับไม่พบว่าได้เสียภาษี ซึ่ง นายบรรณพจน์ ได้สอบถามไปยังกรมสรรพากร กรมสรรพากรก็ตอบว่าเป็นเงินที่ได้รับการยกเว้นเนื่องในโอกาสขนบธรรมเนียมประเพณี
กระนั้นจากการตรวจสอบพบว่านายบรรณพจน์ซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 แต่แต่งงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2539 มีลูกคนแรกวันที่ 4 ธ.ค.2539 การให้หุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จึงไม่เข้าโอกาสประเพณีที่จะให้กัน เพราะไม่ใช่วันเกิดลูก หรือวันครบรอบแต่งงาน ซึ่งการให้หุ้นวงเงิน 738 ล้านบาท ถือเป็นวงเงินจำนวนมาก และศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า พี่น้องไม่จำเป็นต้องอุปการะกัน และไม่ต้องให้มากถึงขนาดนี้ก็ได้ ซึ่งไม่ใช่การให้โดยเสน่หา คตส.พิสูจน์ได้ว่าที่ผ่านมาคุณหญิงพจมานไม่เคยอุปการะพี่น้องคนอื่นเลย ขณะที่ นายบรรณพจน์ เป็นพี่บุญธรรม ดังนั้น นายบรรณพจน์ ต้องเสียภาษี โดย คตส.จะส่งเอกสารไปให้กรมสรรพากร เพื่อทำการประเมินเรียกเก็บภาษีภายใน 30 วัน นับจากวันที่กรมสรรพากรได้รับหนังสือ
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นของ คตส.ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 18 กรณีดังกล่าวไม่มีการลงโทษ เพียงแต่มีการชำระล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่ง นายบรรณพจน์ ต้องยื่นเสียภาษีภายใน 30 มี.ค.2541 แต่ นายบรรณพจน์ กลับไม่ได้ยื่น ซึ่งทาง คตส.ได้คำนวณภาษีที่เรียกเก็บไปตาม ภ.ง.ด.90 ที่ นายบรรณพจน์ ยื่นมาทั้งหมดและคำนวณเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดเอามาหักออกโดยมีผลต่างเท่าใดก็ต้องคิดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ซึ่งได้คำนวณจากวันที่ 1 เม.ย.2541 เป็นต้นมาเงินที่ต้องเก็บก็เพิ่มเป็นเท่าตัว โดยเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มคือ 273.06 ล้านบาท รวมกับต้องเสียเพิ่มเติมอีกเท่าตัว คือ 273.06 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น คือ 546.12 ล้านบาท โดย คตส.ระบุว่า ทาง คตส.ไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บภาษีและเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรในการเรียกเก็บภาษีที่ค้างชำระ
นอกจากนี้ ในคดีนี้ของนายบรรณพจน์ถือว่ามีความผิดอาญามาตรา 37 ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร เข้าข่ายปิดบังอำพรางหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเมื่อตรวจสอบลงไปแล้วจะพบว่าการหลีกเลี่ยงภาษีครั้งนี้ นายบรรณพจน์ ถึงขนาดยอมจ่ายหลายร้อยล้านบาท อันแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาทำผิดโดย คตส.ระบุด้วยว่า การดำเนินคดีอาญาในความผิดกรณีหุ้นครั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ต้องถูกดำเนินคดีประกอบด้วย นายบรรณพจน์, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี