จักรภพ ประกาศใช้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล โดยประสานการทำงานร่วมกับสำนักโฆษกของรัฐบาล มาแปลกเปิดทางเอกชนบริหาร พร้อมให้กรอบนโยบายการทำงานแก่กรมประชาสัมพันธ์หลายข้อ ทั้งยกช่อง 11 เป็นเนชันไวด์ตามนโยบายช่อง 11 แห่งชาติ ประเมินความพร้อมบริหารคลื่นวิทยุเองมากขึ้น
วานนี้ (25 ก.พ.) นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมประชุม และมอบนโยบายในการปฏิบัติงาน ณ กรมประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นทางการ โดยมีนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคณะผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ให้การต้อนรับและรับฟังนโยบาย
นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงประเด็นเกี่ยวกับสื่อไว้เพียงประโยคเดียวที่ว่า “ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว” ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักที่ตนจะต้องทำออกมาให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลเกี่ยวกับสื่อ ทั้ง กรมประชาสัมพันธ์ อสมท และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
“กรมประชาสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล เพราะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องมีการนำเอาเนื้อหาสาระไปปรับเปลี่ยนในการเผยแพร่ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะพยายามให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับทางสำนักโฆษกของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน อันจะเผยแพร่สิ่งที่รัฐบาต้องการให้ประชาชนรับทราบอย่างถูกต้อง”
ทางรัฐบาลมองว่า กรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่หลักในการหาข้อเท็จจริง และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ส่วนการหารายได้ไม่ใช่นโยบายหลักของกรมประชาสัมพันธ์ เพราะไม่ได้เป็นองค์กรแสวงหากำไร ดังนั้น หากต้องทำจริง ขอเป็นการทำงานที่มีกำไรเพียง 10% เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรจะดีกว่า อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้มองว่าไม่สนับสนุนในเรื่องของการผูกขาดสื่อ ดังนั้นเรื่องการทำงานของกรมประชาสัมพันธ์ หากทำไม่ได้จริงๆ ค่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นแบบไม่แสวงหากำไรเช่นกันด้วย ที่สำคัญในเรื่องของเทคโนโลยี
เป็นอีกเรื่องที่ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ นายจักรภพ ได้วางนโยบายและทิศทางการทำงานของกรมประชาสัมพันธ์แบบกว้างไว้ถึง 10 ข้อ ได้แก่ มุ่งเน้นสร้างความสามัคคีให้เกิดแก่คนในชาติ สร้างสมดุลความจริงให้เกิดขึ้น ต้องมีความน่าเชื่อถือของการเผยแพร่ข่าวสาร สร้างเครือข่ายการเผยแพร่ข่าว สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบ ให้พนักงานเกิดความภาคภูมิในในองค์กรของตน ไม่เผยแพร่ สนับสนุนให้ประชาชนหลงเชื่อข้อมูลข่าวสารที่เป็นผลร้ายต่อรัฐบาล โดยไม่สามารถกล่าวถึงแหล่งที่มาได้ และไม่กระทำการใดๆ ที่จะเป็นการสกัดข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนหลงผิด ซึ่งทั้ง 10 ข้อนี้ จะต้องอยู่ใต้แนวทางการทำงานใน 3 ภาวะ คือ 1.แนวทางบริหารสื่อและประชาสัมพันธ์ในภาวะปกติ 2.แนวทางบริหารสื่อและประชาสัมพันธ์ในภาวะสำคัญ และ 3.แนวทางบริหารสื่อและประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ
ดันช่อง 11 สู่ทีวีสาธารณะ
นายจักรภพ กล่าวต่อว่า ทางด้านของช่อง 11 ตามที่เสนอปัญหามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนบุคลากรที่มีน้อย การติดขัดในเรื่องการเบิกจ่าย หรือสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ยังมีความล่าช้า มองว่า ต้องมาดูกันว่าทิศทางต่อไปของช่อง 11 จะเป็นเช่นไรก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะแก้ไขได้ ทั้งนี้ ตนมองว่า ต้องการให้ช่อง 11 เป็นอีก 1 ช่องที่มีความเป็นทีวีสาธารณะ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น จึงมองว่า เบื้องต้นควรที่พยายามทำให้อีก 12 สถานีของช่อง 11 ที่มีอยู่ทั่วประเทศ มีการทำงานเข้าสู่ศูนย์กลาง หรือให้มีความเป็นเนชันไวด์ ภายใต้นโยบายช่อง 11 แห่งชาติ โดยยึดเอาการออกอากาศตามช่อง 11 กรุงเทพฯเป็นหลัก อีกทั้งจะผลักดันให้ทางช่อง 11 มีฝ่ายข่าวขึ้นเป็นของตัวเอง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ นโยบายหลักที่มอบให้ทางช่อง 11 อย่างเป็นทางการ มีอยู่ 9 ข้อ คือ 1.ควรพัฒนาช่อง 11 สู่ความเป็นโทรทัศน์สาธารณะ โดยต้องเร่งแก้เชิงระบบการทำงานก่อน 2.ต้องมีอิทธิพลทางบวก แก่ผู้รับสารทั่วประเทศ 3.การประเมินสถานีย่อยสู่สถานีหลัก 4.การสร้างรูปแบบสร้างสรรค์ของการถ่ายทอดสดให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น 5.การพัฒนาสู่ความเป็นดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ 6.เตรียมตัวนำสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ สู่ระบบ ไว-แมกซ์ 7.พัฒนาดูแลบุคลากรต่างๆ สู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น 8.พัฒนารูปแบบสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับหน่วยงานอื่นๆ และ9.การฟื้นฟูฝ่ายข่าว และสนับสนุนสถานี
ชูนโยบายบริหารคลื่นวิทยุเอง
ส่วนในเรื่องของสื่อวิทยุ ที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของอยู่หลายคลื่น ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเอฟเอ็ม หรือเอเอ็ม โดยเฉพาะเอฟเอ็ม 6 คลื่นในกรุงเทพฯ ได้แก่ 88 เอฟเอ็ม, 92.5 เอฟเอ็ม, 93.5 เอฟเอ็ม, 95.5 เอฟเอ็ม, 97 เอฟเอ็ม และ 105 เอฟเอ็ม ที่ปัจจุบันได้ให้ทางเอกชนเข้ามาบริหารอยู่หลายคลื่นนั้น
นายจักรภพ กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายประเมินความพร้อมในการบริหารคลื่นวิทยุเองมากยิ่งขึ้น โดยจะพยายามให้ทางกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ผลิตรายการเอง ทั้งนี้ หากในวันหนึ่ง กสช.เกิดขึ้น จะได้พูดได้ว่ากรมประชาสัมพันธ์มีศักยภาพในการเป็นผู้ครอบครองคลื่นวิทยุที่มีอยู่นี้ได้
ก่อตั้งทีวีกีฬาของรัฐ
อย่างไรก็ตาม นายจักรภพ ยังได้กล่าวถึงโครงการที่รัฐบาลจะก่อตั้งสถานีโทรทัศน์กีฬาและนันทนาการขึ้นด้วย โดยจะร่วมมือกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะมาดูแลเรื่องของคอนเทนต์รายการต่างๆ ซึ่งจะนำเอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่แล้วมาทำ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสถานีโทรทัศน์อาเซียน ในฐานะที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานอาเซียนเป็นระยะเวลาปีครึ่ง ตั้งแต่เดือน ก.ค.2551 นี้เป็นต้นไป
ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่ นายจักรภพ ได้กล่าวไว้ ยังมีอีกหลายหัวข้อ อาทิ จะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ผลิตใหม่ขึ้น เพื่อรองรับนักศึกษาจบใหม่ ที่มีความคิดแต่ไม่มีทุน ให้สามารถนำเสนอผลงานต่อไป ต้องการให้ดึงกลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชน ให้เข้ามาร่วมมือกันในการเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสารของกรมประชาสัมพันธ์ในอนาคต หรือการใช้ภาษาไทยที่อยู่ในขั้นการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องของกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งนโยบายการเชิดชูคนไทยที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในระดับโลก ที่ควรส่งเสริมให้บุคคลเหล่านี้ เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนมากขึ้น