xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นไทยพุ่งฉลุย วอนนักการเมืองกู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.คงพุ่งสูงสุดในรอบ 6 เดือนถึง 1 ปี หลังเลือกตั้งผ่านฉลุย และถ้าตั้งรัฐบาลได้เร็ว ทีมเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นแน่ไตรมาส 2 ปีนี้ แต่หากการเมืองไม่ชัดเจน น้ำมันขึ้นไม่ยั้ง ค่าบาทยังแข็ง ความเชื่อมั่นทรุดต่อแน่ ขณะที่หอการค้าไทย วอนนักการเมืองลดความขัดแย้ง เดินหน้ากู้วิกฤติเศรษฐกิจ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธ.ค.2550 ที่สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,260 คน วันที่ 24-30 ธ.ค.2550 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.4 เพิ่มขึ้นจาก 69.3 ในเดือนพ.ย.50 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 71.0 เพิ่มขึ้นจาก 70.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.4 เพิ่มขึ้นจาก 89.1 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นมาอยู่ที่ 77.3 จาก 76.2 ในเดือนพ.ย.50 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 70.9 เพิ่มขึ้นจาก 70.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 77.1 จาก 76.0

สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยดี และส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกกับผู้บริโภค และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่าปี 2550 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 4.5% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) 1 วันไว้ที่ 3.25% ต่อปี การส่งออกเดือนพ.ย.ขยายตัวสูงถึง 24.5% มูลค่า 14,611 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
'
ขณะที่ปัจจัยลบ ยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และระดับราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ทำหลังการเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งประชาชนคลายความกังวลด้านการเมืองลงไป จึงทำให้ดัชนีทุกรายการจึงปรับตัวดีขึ้นหมดมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการยังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจสถานการณ์ต่างๆ อยู่เช่นเดิม

“ตอนที่สำรวจเราทำช่วงหลังเลือกตั้งจนถึงสิ้นปี ยังไม่ได้รวมปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ทั้งปัญหาการเมืองที่ยังไม่ลงตัว ราคาน้ำมันแพงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซินทะลุระดับราคาที่มีผลในเชิงจิตวิทยาที่ลิตรละ 30 และ 33 บาทไปแล้ว แต่หากในเร็วๆ นี้ มีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ รัฐบาลใหม่มีนโยบายเศรษฐกิจชัดเจน เอกชนลงทุนต่อ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มขับเคลื่อนได้ไตรมาส 2 ปีนี้ ทั้งปีจะโตได้ 4.5-5% แต่หากรัฐเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน เศรษฐกิจปีนี้อาจโตเกิน 5%”

อย่างไรก็ตาม หากการเมืองไม่ชัดเจน และราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินไปเกินหลักจิตวิทยาที่ดีเซลลิตรละ 32 บาท และเบนซินลิตรละ 35 บาท รวมทั้งยังมีปัญหาการแข่งค่าของเงินบาทที่มากกว่าค่าเงินของประเทศในภูมิภาค ความเชื่อมั่นจะทรุดต่อแน่นอน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในปีนี้ ปัจจัยที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย อันดับ 1 คือ สถานการณ์การเมือง ซึ่งหากยังไม่นิ่ง และยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน และไม่เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายใน เศรษฐกิจจะไม่ขับเคลื่อน ทั้งที่ปีนี้ การบริโภคภายในจะเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกจะชะลอตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อันดับ 2 คือ ราคาน้ำมัน เชื่อว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกจะขึ้นไปที่ 110 เหรียญ/บาร์เรล และค่าเงินบาทแข็งค่า เชื่อว่า จะมาอยู่ที่ 32.50-33 บาท/เหรียญแน่นอนในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวมากนัก

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองต่างๆ ลดความขัดแย้งทางการเมือง จัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จโดยเร็ว มีบุคคลที่จะเป็นทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ ความสามารถ ทำงานได้จริง ที่สำคัญเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ได้

นอกจากนี้ ยังต้องทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวต่ำกว่าเพื่อนบ้านมาก ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เดินหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ให้สำเร็จ และส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น