ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.50 อยู่ที่ 70.4 เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ระบุ ราคาน้ำมัน และค่าเงินบาท ยังเป็นปัจจัยลบสำคัญ
วันนี้ (10 ม.ค.) นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.2550 โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 70.4 เพิ่มขึ้นจาก 69.3 ในเดือน พ.ย.2550 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 71.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.4
สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.2550 ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ส่งผลทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกแก่ผู้บริโภคและนักลงทุน และการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศว่า GDP ปี 2550 โต 4.5% และคาดการณ์ปี 2551 จะโตได้ 4.5-5.0%,
นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนที่สำคัญอีกประการ คือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ย อาร์/พี 1 วัน ไว้ที่ 3.25% และการส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.2550 ขยายตัวถึง 24.5%
ขณะที่ปัจจัยลบยังคงเป็นปัญหามาจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง และภาวะเงินบาทแข็งค่า
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผลผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยประจำเดือนธันวาคม 2550 และแนวโน้มใน 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมดีขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมาที่ร้อยละ 70.4 โดยมีปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกกับผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดว่าการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ที่เป็นผลจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น รวมถึงปัจจัยจากภาคการส่งออก การคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังคงมีปัจจัยลบอยู่ที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าและราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ยังคงคาดการณ์ว่า ในช่วงนี้การบริโภคยังคงขยายต้วไม่มากนัก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ความไท่ชัดเจนทางการเมืองว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังปรับตัวไม่สูงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 แต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในกลางไตรมาสที่สองของปี 2551 หรือหลังจากที่รัฐบาลใหม่เริ่มดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดช่วงกลางไตรมาสที่สองเป็นต้นไป หากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่แพงเกินกว่าระดับปัจจุบันมากนัก