xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นรัฐบาลดัน “กม.ทรัพย์สิน” พ่วงแก้ไขภาษีอสังหาฯใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตารัฐบาลใหม่ผลักดันกฎหมายภาษีทรัพย์สิน หลัง สนช.ชุดรักษาการแค่ศึกษากรอบของผลดีและผลเสียของกฎหมาย คาดการจัดเก็บจะอิงราคาประเมิน ด้านเลขาธิการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุ เป็นเรื่องดีของการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทำให้การจัดสรรงบประมาณของแผ่นดินมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งควรมีคณะกรรมการพิจารณาภาพรวมภาษีอสังหาฯเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ รักษาการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงประเด็นการพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ทาง สนช.ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพียงแต่เป็นการศึกษาและวางกรอบ เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศเข้ามาดำเนินการต่อ ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดวิธีการคิดภาษีจากเดิมที่เป็นแบบเหมาจ่าย เปลี่ยนมาเป็นแบบคิดตามราคาประเมิน โดยวิธีการนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มฐานการจัดเก็บภาษีให้กว้างขึ้น

“เรื่องของภาษีที่ดิน เป็นอะไรที่ต้องมองให้ละเอียด เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งหากพิจารณาในด้านผลดีแล้ว จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันนายทุนเก็งกำไรที่ดิน ช่วยเพิ่มฐานภาษีให้กว้างขึ้น ท้องถิ่นสามารถนำภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นไปพัฒนาเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น แทนที่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางอย่างเดียว และหากเศรษฐกิจท้องถิ่นดี เศรษฐกิจประเทศก็น่าจะดีขึ้น แต่หากมองในมุมของผลกระทบแล้ว ประชาชนระดับรากหญ้า เช่น ชาวนาชาวไร่ ก็ต้องเสียภาษีด้วย แม้อัตราจะไม่สูง แต่ก็เป็นเพิ่มภาระ ดังนั้น การศึกษาร่างกฎหมายภาษีที่ดิน ทาง สนช.จะคำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองและสังคมจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลใหม่ ก็ควรชั่งน้ำหนัก ว่า จะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมมากน้อยแค่ไหน” นายสมชาย กล่าว

ก่อนหน้านี้ อัตราภาษีตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว กำหนดว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บภาษีไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่ประกอบเชิงพาณิชย์เก็บไม่เกิน 0.1% ภาษีที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกิน 0.5%

นอกจากนี้ ยังให้มีคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำหน้าที่ทบทวนอัตราภาษีทุก 4 ปี ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ ก็น่าจะให้ทุกๆ ฝ่ายรับมือ และสามารถปรับตัวได้ภายในระยะ 2 ปี โดยทางกรมที่ดินจะทำแผนที่ระวางดิจิตอลเชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนที่ดิน 30 ล้านแปลง ค่าใช้จ่ายประมาณ 4,500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินราคา และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2544-2550 รายได้ของ อปท.จัดหาเอง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต มีสัดส่วนประมาณ 8.9-12.09% เมื่อเทียบกับรายได้รวมทั้งหมดของ อปท.ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมาก

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เลขาธิการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แสดงความเห็นว่าเดิมที คิดว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.และเกิดผลในรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจากนี้ไปคงต้องรอรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหาร จะมีการดำเนินการอย่างไรกับการเก็บภาษีที่ดิน

“หากในอนาคตรัฐบาลตัดสินใจผลักดันเป็นกฎหมาย ก็ควรมีคณะกรรมการพิจารณาภาพรวมเกี่ยวกับภาษีอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพื่อเข้ามาดูว่า ภาษีอสังหาฯจะทำให้ที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เท่าไร เพราะเหตุผลที่ว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ยกเว้นที่อยู่อาศัยทุกประเภท ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา จะต้องคำนึงผลในวงกว้าง และต้องมีเหตุผลที่อธิบายให้แก่ประชาชนได้อย่างชัดเจน” นายอิสระ กล่าวและว่า

ในปัจจุบัน การซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ มีการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาซื้อขาย (ซึ่งมีการกันภาษีประมาณ 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะให้ท้องถิ่นเก็บได้) ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน ภาษีเงินได้ รวมถึงอากรแสตมป์ รวมแล้วมีภาระค่าใช้จ่ายกว่า 9%

ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ก็อาจจะลดความซ้ำซ้อนทางภาษี เช่น อาจจะลดค่าธรรมเนียมการโอน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น