(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Why Trump or Harris might sell out to China
by Noah Smith
01/08/2024
มีความเสี่ยงที่การดำเนินธุรกรรมทางการทูตของ ทรัมป์ อาจส่งผลให้เกิดการต่อรองกันครั้งมโหฬารเพื่อรีเซตความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ขณะที่ในกรณีของ แฮร์ริส นั้น เธออาจจะมองหาทางกลับไปใช้นโยบายมีปฏิสัมพันธ์กับจีนของยุคโอบามา แทนที่จะยืนหยัดดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับปักกิ่งของ ไบเดน อย่างต่อเนื่อง
สำหรับชาวอเมริกันบางคนบางกลุ่มแล้ว คำถามที่ถูกต้องสมควรต้องถาม ไม่ใช่คำถามที่ว่า “ผู้สมัคร (รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนนี้) คนไหนที่จะยืนหยัดต่อสู้กับจีน?” หรอก หากแต่เป็นคำถามที่ว่า “จริงๆ แล้ว สหรัฐฯควรที่จะยืนหยัดต่อสู้กับจีนหรือไม่?” ต่างหาก
ยังคงมีพวกที่มีแนวความคิดแบบก้าวหน้า (progressive) บางคนบางกลุ่ม ซึ่งเชื่อว่า การที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนหันเหเข้าสู่แดนลบนั้นเป็นสิ่งที่อเมริกาก่อให้เกิดขึ้น และดังนั้นถ้าหากเราเลือกที่จะแก้ไขแล้ว เราก็สามารถที่จะเพียงแค่ยุติ “การกวัดแกว่งดาบท้าทาย” และหยุดยั้ง “ความกระหายที่จะก่อสงคราม” แล้วหันทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปสู่โลกแห่งปี 2012
นอกจากนั้นยังมีบางคนบางกลุ่มในหมู่พวกที่มีแนวความคิดแบบฝ่ายขวา ซึ่งคิดว่าสหรัฐฯควรที่จะทอดทิ้งปล่อยเอเชียเอาไว้กับอำนาจครอบงำครองความเป็นใหญ่ (hegemony) ของจีน, ถอยร่นกลับมาอยู่ด้านหลังของพวกน่านน้ำมหาสมุทรของเราเอง และโฟกัสเน้นหนักอยู่ที่พวกสงครามวัฒนธรรมภายในบ้าน – ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็คือวิธีการอย่างเดียวกับที่พวกเขาเสนอแนะให้ใช้ในการรับมือกับเรื่องของรัสเซียและยูเครน
พวกกลุ่มต่างๆ ผู้คนต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผิดพลาดทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสหรัฐฯที่จะต้องยืนหยัดต่อสู้กับจีน ไม่ใช่เพียงแเฉพาะแค่สิ่งที่พวกเขากำลังพยายามกระทำกับสหรัฐฯในเวลานี้เท่านั้น – ซึ่งได้แก่ การบีบบังคับให้เราต้องสละละเลิกการพัฒนาทางอุตสาหกรรม (deindustrialize) [1], หว่านโปรยความแตกแยกเข้ามาในองคาพยพทางการเมืองของเรา [2], ควบคุมการพูดจาแสดงความคิดเห็นของเรา [3] ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลโพ้น, และอื่นๆ อีกในทำนองเดียวกันนี้ – แต่ยังเนื่องจากสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาจะกระทำกับสหรัฐฯต่อไปอีกถ้าหากสหรัฐฯเอาแต่นั่งเฉยๆ และปล่อยให้พวกเขาเป็นฝ่ายชนะในสงครามเย็นครั้งที่ 2
เนื่องจากทราบดีว่าสหรัฐฯคือผู้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นปรปักษ์คู่แข่งขันซึ่งมีอันตรายมาก คณะผู้นำปัจจุบันของจีนจึงพร้อมจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อทำให้ปรปักษ์คู่แข่งขันรายนี้อ่อนแอลง ในช่วงเวลาก่อนปี 2016 การที่สหรัฐฯใช้นโยบายจำพวก “การเมีปฏิสัมพันธ์” (Engagement) ด้วย ไม่ได้ประสบความสำเร็จทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นพวกโปรอเมริกาขึ้นมาเลย และมันก็จะยิ่งประสบความสำเร็จน้อยลงไปอีกในปัจจุบันนี้ บางทีในบางวันบางเวลาอนาคตข้างหน้า สหรัฐฯกับจีนอาจจะกลายเป็นเพื่อนมิตรกันอีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับในเวลานี้แล้ว สิ่งที่จำเป็นสำหรับสหรัฐฯ คือการสร้างดุลแห่งอำนาจขึ้นมา
โชคดีมากทีเดียวที่บางทีชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่สุด ดูจะมีความตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นนี้กันอยู่แล้วในระดับของการหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณ ความคิดเห็นที่มีต่อจีนนั้นต่างอยู่ในแดนลบอย่างแข็งแกร่งในตลอดทั่วทั้งกลุ่มประชากรทุกๆ กลุ่ม –ไม่ว่าจะเป็นพวกมีแนวความคิดแบบอนุรักษนิยมหรือพวกเสรีนิยม, คนแก่เฒ่าหรือคนหนุ่มสาว
และชาวอเมริกันส่วนข้างมากชนิดท่วมท้นทีเดียวต่างบอกว่า การจำกัดกีดกั้นอำนาจและอิทธิพลของจีน คือสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯสมควรถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ
โจ ไบเดน และคณะบริหารของเขานั้นมีความแข็งแกร่งเหนียวแน่นมากๆ ในการรับมือกับจีน [6] –แข็งแกร่งเหนียวแน่นยิ่งเสียกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยแรกแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขาด้วยซ้ำไป
สหรัฐฯภายใต้ไบเดน ถึงแม้ยังไม่ได้ลงแรงใช้ความพยายามที่จะชุบชีวิตพลิกฟื้นฐานทางอุตสาหกรรมกลาโหมของอเมริกาขึ้นมาใหม่ แต่สหรัฐฯก็มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นแล้วไม่ว่าจะในเรื่องการร่วมมือประสานงานกับเหล่าพันธมิตรในเอเชีย, การเพิ่มพูนความช่วยเหลือทางทหารและการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน, การสร้างฐานทัพใหม่ๆ ขึ้นในฟิลิปปินส์, การกระตุ้นส่งเสริมให้พวกบริษัทอเมริกันถอยห่างออกมาจากจีนและหันไปตั้งฐานในที่อื่นๆ, การออกมาตรฐานควบคุมจำกัดการส่งออกที่มีประสิทธิภาพสูงมากเอากับอุตสาหกรรมชิปของจีน, การเริ่มที่จะสร้างพวกอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศของตัวเองขึ้นมา, และการกระทำอย่างรวดเร็วว่องไวเพื่อสกัดกั้นระลอกคลื่นของสินค้าส่งออกจากจีนที่กำลังไหลบ่าเข้าท่วมท้นอุตสาหกรรมสหรัฐฯ
เมื่อผมตั้งคำถามขึ้นมาว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไปจะ “ยืนหยัดต่อสู้กับจีน” หรือไม่นั้น โดยพื้นฐานแล้วผมกำลังถามว่าพวกเขาจะปรับปรุงเพิ่มพูนยกระดับ –หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังคงดำเนิน—นโยบายต่างๆ เหล่านี้หรือไม่
โชคร้ายจริงๆ มันไม่มีหลักประกันอย่างสมบูรณ์สุดขีดใดๆ เลยว่าเรื่องที่ผมกล่าวมาข้างบนนี้จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน เมื่อมาถึงเรื่องนโยบายเกี่ยวกับจีนแล้ว มีเหตุผลหลายๆ ข้อที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งทั้งสองคนนี้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส ทว่าในการประมาณการของผมนั้น ทรัมป์คือผู้ที่สร้างความวิตกกังวลให้มากกว่านักหนา
จุดอันตรายระดับพื้นฐานที่อาจส่งผลทำให้ ทรัมป์ และ แฮร์ริส ไม่ยืนหยัดต่อสู้กับจีน
สำหรับทรัมป์นั้น อันตรายข้อใหญ่เลยคือการที่เขาไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องพิสูจน์อะไรกันอีกแล้ว
ยังจำวลีที่พูดกันว่า “มีแต่นิกสันเท่านั้นที่สามารถเดินทางไปจีน” ได้ไหมครับ? เมื่อครั้งที่ ริชาร์ด นิกสัน เปิดประตูความสัมพันธ์กับประเทศจีนในยุคเหมา เจ๋อตง ตอนต้นทศวรรษ 1970 นั้น เขาสามารถทำเช่นนั้นได้ก็เนื่องจากเครดิตความน่าเชื่อถือของเขาในเรื่องจุดยืนต่อต้านคอมมิวนิสต์ ชนิดที่ทำให้เขาจะไม่ถูกกล่าวโทษถอดถอนจากตำแหน่งจากการติดต่อกับจีนอย่างแน่นอน นั่นแหละจึงทำให้เขามีคุณสมบัติความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่จะเดินหน้าติดต่อทาบทามเปิดสัมพันธ์กับระบอบปกครองคอมมิวนิสต์สักรายหนึ่ง โดยที่จะไม่ถูกมองว่ามันเป็นพฤติการณ์การขายตัวมุ่งต่อต้านอเมริกัน
ความรับรู้ความเข้าใจของผู้คนทั่วไปที่ว่านิกสันคือเหยี่ยวต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าว เปิดทางให้เขาสามารถทำตัวเป็นพิราบในทางสาระเนื้อแท้ได้ ในทำนองเดียวกัน ความรับรู้ความเข้าใจของสาธารณชนในปัจจุบันนั้นมีอยู่ว่า ทรัมป์คือเหยี่ยวที่ต่อต้านจีนอย่างสุดๆ เขากระทำอะไรไปแล้วมากมายทีดียวในวาระแรกของการดำรงตำแหน่งของเขา จนกระทั่งสร้างความรับรู้ความเข้าใจเช่นนี้ขึ้นมาได้
เขาโยนทิ้งนโยบายเก่าที่มุ่งเน้น “การมีปฏิสัมพันธ์” กับจีน และเริ่มต้นเปิดสงครามการค้า เขาประกาศบังคับใช้มาตรการควบคุมจำกัดการส่งออกบางอย่างบางรายการ, ใช้ความพยายามในการขุดรากถอนโคนการทำจารกรรมมุ่งล้วงความลับของฝ่ายจีน, พยายามที่จะแบน ติ๊กต็อก, และประณามจีนสำหรับเชื้อโรคโควิด เหล่านี้ทำให้ทรัมป์ได้รับเครดิตอย่างมากมายมหาศาลในฐานะที่เป็นบุรุษผู้พร้อมยืนหยัดลุกขึ้นมาต่อสู้กับจีน
ทว่าเนื่องจากเขามีเครดิตเช่นนี้นั่นเอง ทรัมป์จึงสามารถที่จะหักเลี้ยวหันกลับ 180 องศาในวาระสมัยสองของเขา โดยที่จะแทบไม่ก่อให้เกิดผลพ่วงทางการเมืองใดๆ ขึ้นมาเลย ถ้าหากเขาโยนทิ้งมาตรการควบคุมการส่งออก, เพิกถอนการให้ความสนับสนุนแก่ไต้หวัน, เชิดใส่พวกพันธมิตรในเอเชีย, ยกเลิกความพยายามในการบีบบังคับให้ ติ๊กต็อก ปิดกิจการ, และล้มเหลวไม่ได้ฟื้นชีพกู้คืนความเข้มแข็งทางทหารของอเมริกาในเอเชีย มันก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนชาวอเมริกันจะยังคงคิดว่าเขาเป็นเหยี่ยวที่กล้าแข็งกร้าวใส่จีนอยู่นั่นเอง เพราะว่า ... ครับ เพียงเพราะว่าเขาคือโดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้นเอง จนกระทั่งในอีก 10 ปีถัดไป พวกเราจึงอาจจะพบว่าพวกเรากำลังขบคิดพิจารณาอย่างสะใจและเจ็บแสบกับวลีที่ว่า “มีแต่ทรัมป์เท่านั้นที่สามารถสยบให้จีนได้” ถึงขนาดนี้
ส่วนสำหรับ แฮร์ริส อันตรายอยู่ตรงที่ว่าเธออาจจะมีมุมมองว่าคณะบริหารของเธอไม่ใช่สิ่งที่ต่อเนื่องจากคณะบริหารไบเดน แต่เธอกำลังเลือกที่จะเดินหน้าต่อจากสิ่งที่ บารัค โอบามา เหลือทิ้งเอาไว้ โอบามานั้นโดยภาพรวมเป็นประธานาธิบดีที่ใช้ได้ทีเดียว ทว่าไม่ใช่ในเรื่องจีน ซึ่งเขากระทำความผิดพลาดอย่างใหญ่โต การประกาศ “ปักหมุดที่เอเชีย” (pivot to Asia) ของเขาโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงถ้อยคำโวหาร และเขายังคงยึดติดแน่นอยู่กับความหวัง [7] ที่ว่า การใช้นโยบาย “การมีปฏิสัมพันธ์” –ตัวอย่างเช่น การปล่อยให้จีนกระทำทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตของโลก – จะเป็นสาเหตุทำให้ประเทศนั้นหันมาเปิดกว้างนิยมความมีเสรี
ทัศนคติเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความอิ่มเอมนิ่งนอนใจอย่างเป็นอันตรายยิ่งมาแล้วในตอนต้นทศวรรษ 2010 และการนำเอานโยบายเช่นนี้กลับมาอีกในตอนนี้จะต้องถือเป็นความบ้าทึ่มไร้สติ ทว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ แฮร์ริส อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงในเรื่องนี้ ตรงนี้แหละคือรูปแบบพื้นฐานของความวิตกกังวลของผม หลังจากนี้ขอให้เรามาพิจารณาลงรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจงเพิ่มมากขึ้นอีกนิด ว่า แฮร์ริส และ ทรัมป์ อาจจะกระทำความผิดพลาดล้มเหลวเกี่ยวกับจีนขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง
ทรัมป์อาจจะยอมขายอเมริกาเพื่อแลกกับเงินทองผลตอบแทนที่เขาจะได้รับ
ในหนังสือเรื่อง “Wireless Wars” [8] ของ โจนาธาน เพลสัน (Jonathan Pelson) ผู้เขียนคนนี้เล่าเรื่องราวของชายชาวสหราอาณาจักรผู้หนึ่งที่มีนามว่า จอห์น ซัฟโฟล์ก (John Suffolk) ซัฟโฟล์กผู้นี้เคยเป็นนายใหญ่ด้านสารสนเทศ (chief information officer) ของสหราชอาณาจักร โดยที่ในระหว่างเวลานั้นเขาได้เคยเตือนประเทศชาติเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นจากหัวเว่ย
ทว่าในเวลาต่อมา เขาก็ถูก หัวเว่ย ว่าจ้างให้ดำรงตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ความมั่นคงทางไซเบอร์ทั่วโลก” (global cybersecurity officer) [9] ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงชนิด 180 องศา และกลับกลายเป็นผู้ออกความเห็นสนับสนุน หัวเว่ย อย่างแข็งขันที่สุด [10] มันเป็นบทเรียนที่น่าตระหนกบทเรียนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าจีนนั้นกระเป๋าหนักขนาดไหน และมันง่ายดายเพียงใดที่พวกเขาจะสามารถซื้อหาผู้ที่คอยวิพากษ์วิจารณ์พวกเขา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ถึงแม้สาวกผู้ติดตามเขาจะต้องไม่ยอมรับมัน แต่ในความเป็นจริงนั้น ทรัมป์มีความโน้มเอียงที่จะสนับสนุนใครก็ตามซึ่งมอบเงินทองผลประโยชน์ก้อนโตๆ ให้เขา เรื่องนี้มีหลักฐานอันน่าเจ็บปวดเกิดขึ้นยืนยันเมื่อไม่นานมานี้ หากย้อนหลังไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อตอนที่ ทรัมป์ เกิดพลิกผันจุดยืนของเขาอย่างกลับหน้ามือเป็นหลังตีนในเรื่องของการยุบเลิกกิจการ ติ๊กต็อก การหันหัวเลี้ยวกลับไปอีกทิศทางหนึ่งกันเลยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากมีอภิมหาเศรษฐีนามว่า เจฟฟ์ ยาสส์ (Jeff Yass) ผู้มีหุ้นจำนวนมากใน ติ๊กต็อก อยู่ในครอบครอง ได้ไปพบปะกับทรัมป์ และให้สัญญากับเขาว่าจะบริจาคเงินรณรงค์หาเสียงก้อนใหญ่ให้เขา ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในตอนนั้น: [11]
และแล้ว ในทันใดนั้น บริษัทจีนแห่งนี้ก็พบผู้ที่จะมาช่วยชีวิต ผู้ช่วยชีวิตคนนั้นมีชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ในการหักหัวเลี้ยวชนิดไปเป็นตรงกันข้ามอย่างน่าตื่นตะลึง ทรัมป์ ได้ออกมาประกาศ [12] ต่อต้านการแบน ติ๊กต็อก ดังนี้:
โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนกับจะออกมาปกป้อง ติ๊กต็อก แพลตฟอร์มสื่อสังคมซึ่งกำลังเผชิญความเป็นไปได้ที่จะถูกรัฐสภาสั่งยุบเลิกกิจการ [13] โดยในข้อความหนึ่งที่โพสต์เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (7 มี.ค. 2024) บนแพลตฟอร์โซเชียลมีเดีย “ทรูธ โซเชียล” (Truth Social) ของเขา –แพลตฟอร์มเดียวกันกับที่มีประสบการณ์เผชิญความโกรธเกรี้ยวของผู้คนอย่างกว้างขวาง [14] เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีผู้นี้พยายามที่จะทวิตแบบสดๆ ระหว่างที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังกล่าวปราศรัยแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union)
“ถ้าหากพวกเขากำจัด ติ๊กต็อก ไปแล้ว เฟซบุ๊ก และ ซัคเกอร์ชมัค (Zuckerschmuck) ก็จะสามารถขยายธุรกิจของพวกเขาเพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่าตัว ผมไม่ต้องการให้ เฟซบุ๊ก ผู้ซึ่งโกหกคดโกงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สามารถทำธุรกิจได้ดีขึ้นกว่าเดิม พวกเขาเป็นศัตรูของประชาชนที่จริงแท้รายหนึ่งอย่างแน่นอน!” ทรัมป์เขียนเอาไว้เช่นนี้เมื่อคืนวันพฤหัสบดี [15]
(ซัคเกอร์ชมัค Zuckerschmuck โพสต์ของ ทรัมป์ แทนที่จะเขียนชื่อ ซัคเกอร์เบิร์ก อย่างถูกต้อง กลับเขียนคำๆ นี้ โดยที่ schmuck เป็นคำด่า แปลว่า ไอ้โง่ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Schmuck_(pejorative) - ผู้แปล)
อีกไม่นานต่อมา พวกผู้จงรักสัตย์ซื่อต่อขบวนการ MAGA (Make America Great Again) อย่างเช่น วิเวก รามาสวามี (Vivek Ramaswamy) ก็เข้าแถวออกมาแสดงทัศนะเห็นดีเห็นงามกับ ทรัมป์ [16]
(MAGA ย่อมาจาก Make America Great Again ซึ่งเป็นคำขวัญรณรงค์หาเสียงสำคัญของทรัมป์ -ผู้แปล)
พวกผู้สังเกตการณ์พากันเสนอทฤษฎีอย่างรวดเร็ว เกี่ยวกับเหตุผลที่ทำไม ทรัมป์ จึงพลิกกลับตาลปัตรเช่นนี้ นั่นคือ เมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์ได้พบปะหารือฉันมิตร [17] กับอภิมหาเศรษฐี เจฟฟ์ ยาสส์ [18] ผู้ซึ่งมีหุ้นคิดเป็นมูลค่า 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ครับ คุณอ่านตัวเลขถูกต้องแล้ว) ในบริษัทที่มีจีนเป็นเจ้าของแห่งนี้:
ชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ไม่เอาด้วย (กับความต้องการที่จะบีบบังคับให้มีการขาย ติ๊กต็อก) ก็คือ เจฟฟ์ ยาสส์ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ผู้มีแนวความคิดอนุรักษนิยม ซึ่งมีหุ้นเป็นมูลค่าประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์ใน ติ๊กต็อก และกำลังมีรายงาน [19] ว่าได้ข่มขู่ที่จะตัดความสนับสนุนทางการเงิน สำหรับชาวพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนร่างกฎหมายบังคับ ติ๊กต็อก ล้มเลิกกิจการ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยาสส์ ได้ไปเยือน มาร์-อา-ลาโก (Mar-a-Lago รีสอร์ตสนามกอล์ฟส่วนตัวในรัฐฟลอริดาของทรัมป์ -ผู้แปล) ที่ซึ่ง ทรัมป์ ได้กล่าวยกย่อง [20] ยาสส์ว่า เป็นคน “มหัศจรรย์” และสื่อหลายกระแสรายงานในทำนองที่ว่า ยาสส์ อาจจะมีการบริจาคเงินอย่างใจกว้างให้แก่ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์
ทรัมป์ กำลังต้องการเงินอย่างร้ายแรง [21] ทีมรณรงค์หาเสียงของเขากำลังลำบากต้องการเงินทุน ขณะที่ตัวเขาเองก็ตกอยู่ในความยุ่งยากวุ่นวายทางกฎหมายเช่นกัน เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ บวกกับประวัติความเป็นมาในเรื่องการคอร์รัปชั่นคดโกงของเขาแล้ว มันจึงเป็นเรื่องฟังขึ้นอย่างที่สุด ที่ว่าเขาได้ขายตัวเองให้แก่พันธมิตรคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อแลกกับเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ
ทฤษฎีนี้ยิ่งมีความหนักแน่นขึ้นอีกจากข้อเท็จจริงที่ว่า เคลลีแอนน์ คอนเวย์ (Kellyanne Conway) อดีตที่ปรึกษาของ ทรัมป์ กำลังได้รับการว่าจ้างจาก กลุ่ม “Club for Growth” (สโมสรเพื่อการเติบโต้ขยายตัว) ให้พยายามดำเนินการเพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของ ไบต์แดนซ์ (ByteDance บริษัทจีนที่เป็นบริษัทแม่ของ ติ๊กต็อก -ผู้แปล) [22] ในรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้งนี้ เจฟฟ์ ยาสส์ คือผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของคลับแห่งนี้
ดังนั้น มันจึงมีอันตรายอย่างเห็นชัดเจนว่า เรื่องเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลของจีนนั้นมีเงินหนาพร้อมจับจ่ายยิ่งกว่าอภิมหาเศรษฐีใดๆ หรือบริษัทแห่งไหนๆ หรือ ... ครับ ยิ่งกว่าทุกๆ คนทุกๆ บริษัทไม่ว่าใครหน้าไหน ถ้าหากทรัมป์จะขายอเมริกาให้แก่ผู้ที่เสนอราคาประมูลสูงที่สุดแล้ว ผู้เสนอราคาสูงที่สุดดังกล่าวก็จะต้องเป็นจีน
ทรัมป์อาจจะใช้วิธีโฟกัสไปที่ “ชัยชนะ” ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นชัยชนะที่กลวงใน
ระหว่างสมัยแรกแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา ทรัมป์ได้ขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีนหลายรอบ อีกทั้งใช้มาตรการควบคุมการส่งออกมาเล่นงานพวกบริษัทจีนอย่าง หัวเว่ย และ แซดทีอี (ZTE) ทว่าหลังจากนั้นเขาก็ถอยหลังกลับไปบางส่วนในความพยายามทั้งสองประการนี้ ภายหลังจีนให้คำมั่นสัญญาที่ว่างเปล่ากลวงใน และใช้แรงบีบคั้นที่ค่อนข้างเล็กน้อยมาก
ในปี 2020 ทรัมป์ตกลงเห็นชอบที่จะยุติการขึ้นภาษีศุลกากรเอากับจีน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จีนจะซื้อหาสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯ – อย่างที่เรียกขานกันว่า “ข้อตกลงเฟสที่หนึ่ง” (phase one agreement) ทรัมป์ได้กระทำตามสิ่งที่เขาใช้เพื่อการต่อรองในคราวนั้น พร้อมกับอวดอ้างว่ามันเป็นชัยชนะอันใหญ่โตสำหรับนโยบาย “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” (Making America Great Again) ของเขา ทว่าจีนนั้นเพียงแต่หลอกลวงและแทบไม่ได้ซื้ออะไรเลยจากสหรัฐฯ [23] โดยเราสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้:
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนาม [24] ในสิ่งที่เขาเรียกว่า เป็น ‘ข้อตกลงการค้าครั้งประวัติศาสตร์’ กับประเทศจีน ซึ่งเป็นการผูกมัดจีนให้ต้องซื้อหาสินค้าออกสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2021 อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงวันนี้ แง่มุม “ครั้งประวัติศาสตร์” ที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้เพียงแง่มุมเดียวของข้อตกลงดังกล่าว ก็คือ ความล้มเหลวของมัน ...
ข้อตกลงเฟสหนึ่งฉบับนี้ ผูกพันให้จีนมีพันธะต้องเพิ่มการซื้อหาสินค้าและบริการของสหรัฐฯบางอย่างบางประเภทในปี 2020 และปี 2021 ให้ได้อย่างน้อยที่สุดเพิ่มขึ้นมา 200,000 ล้านดอลลาร์จากระดับของเมื่อปี 2017 ... จีนได้ตกลงที่จะซื้อสินค้าออกสหรัฐฯอย่างน้อยที่สุด 227,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 และ 274,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพื่อให้ได้ยอดรวมเท่ากับ 502,400 ล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีดังกล่าวนี้
(จากรายงานการวิจัยเรื่อง China bought none of the extra $200 billion of US exports in Trump's trade deal ของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson Institute for International Economics หรือ PIIE)
ในที่สุดแล้ว ... จีนก็ยุติปิดฉากโดยที่ในสินค้าออกสหรัฐฯเพิ่มพิเศษมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ที่พวกเขาให้สัญญาว่าจะซื้อนั้น พวกเขาไม่ได้ซื้อหาอะไรเลย ช่างเป็นศิลปะแห่งการเจรจาทำข้อตกลง (The Art of the deal) ระดับยอดเยี่ยมจริงๆ
(หมายเหตุผู้แปล: The Art of the deal เป็นชื่อหนังสือตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1987 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเครดิตว่าเขียนร่วมกับนักหนังสือพิม์ โทนี ชวาร์ต Tony Schwartz เนื้อหาบางส่วนเป็นบันทึกความทรงจำ และบางส่วนเป็นคำแนะนำในการทำธุรกิจ ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ขายดิบขายดี และช่วยให้ ทรัมป์ กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Trump:_The_Art_of_the_Deal เห็นได้ชัดว่า โนอาห์ สมิธ บอกในที่นี้ว่าเป็น The Art of the deal ก็เพื่อประชดและเยาะหยัน ทรัมป์)
ทรัมป์ยังลดหย่อนผ่อนโทษให้ ZTE [25] สำหรับความผิดฐานล่วงละเมิดมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ แล้วเมื่อรัฐสภาอเมริกันพยายามที่จะเข้าแทรกแซง [26] เพื่อให้การลงโทษนี้ยังคงมีผลต่อไป ก็ปรากฏว่าประสบความล้มเหลว ต่อไปนี้คือสิ่งที่ แอดัม คินซินเจอร์ (Adam Kinzinger) อดีต ส.ส.ของพรรครีพับลิกัน ได้เขียนเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางทวิตเตอร์ ดังนี้:
ประวัติผลงานในสมัยแรกของ ทรัมป์ จริงๆ แล้วจึงไม่ใช่เป็นการแสดงท่าทีแข็งกร้าวเหนียวแน่นเอากับจีนสักเท่าใดหรอก – มันเป็นประวัติผลงานของการใช้นโยบายแข็งกร้าวเหนียวแน่นในตอนแรกๆ จากนั้นก็ตามมาด้วยการยอมจำนนต่างหาก จากเรื่องที่ว่ามานี้ และการพลิกกลับไปกลับมาในกรณีติ๊กต็อก มันทำให้ไม่มีความชัดเจนเอาเลยว่าทำไมเราจึงสมควรคาดหวังว่าวาระสองแห่งการดำรงตำแหน่งของเขาจะมีอะไรที่แตกต่างออกไป
ทรัมป์อาจหันมาปฏิบัติต่อไต้หวันด้วยวิธีอย่างเดียวกันกับที่ใช้ปฏิบัติต่อยูเครน
จุดใหญ่ที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งอาจเป็นชนวนปะทุนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงลุกลามใหญ่โต ก็คือ ไต้หวัน ถ้าจีนรุกรานเกาะแห่งนี้มันก็จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของพวกพันธมิตรของสหรัฐฯ (ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือญี่ปุ่น [27]), เป็นการตัดซัปพลายด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์จำนวนมากที่สหรัฐฯต้องได้มาใช้งาน, และบางทีมันยังอาจเป็นสัญญาณแสดงถึงจุดเริ่มต้นที่จีนจะมีฐานะครอบงำเอเชียโดยรวมเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ไบเดนกำลังนำพาสหรัฐฯก้าวห่างออกมาหน่อย จากการแสดงท่าทีแบบ “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” ที่ประเทศนี้ได้ยึดถือปฏิบัติมาแต่ไหนแต่ไร โดยเขาให้คำมั่นสัญญาซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะเข้าช่วยเหลือไต้หวัน [28] ในกรณีที่จีนบุกโจมตี สิ่งที่ ไบเดน กระทำนี้ถือเป็นก้าวเดินที่ถูกต้องแล้วใช่หรือไม่ หรือว่าที่จริงแล้วสหรัฐฯยังควรรักษาความกำกวมทางยุทธศาสตร์ในรูปแบบที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมเอาไว้ต่อไป เรื่องนี้คือเรื่องที่มีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อนในประชาคมความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่เห็นพวกผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศไม่ว่าคนไหนมีการเสนอแนะออกมาเลยก็คือ สหรัฐฯสมควรที่จะบ่งบอกอย่างเปิดเผยต่อสาธารชนว่ากำลังจะทอดทิ้งไต้หวัน แต่ว่านี่แหละจริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่ ทรัมป์ ดูเหมือนได้กระทำไปแล้วด้วยซ้ำ ในการพูดจาการแถลงอย่างต่อเนื่องเป็นชุดๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ [29] โดยเฉพาะที่เห็นชัดมากๆ ก็คือ เขาแสดงท่าทีเช่นนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์นิตยสารบลูมเบิร์ก บิสซิเนสวีก (Bloomberg Businessweek) นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2024 [30] โดยที่ในนั้นเขาตีกระหน่ำใส่ไต้หวันสำหรับการที่เกาะแห่งนี้ประสบความสำเร็จมากในการก่อตั้งโรงงานผลิตชิป รวมทั้งดูเหมือนจะเสนอแนะด้วยว่าการที่จะพิทักษ์ปกป้องไต้หวันนั้น เป็นเรื่องที่อเมริกาไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะขอคัดเนื้อหาตอนนี้ของบทความสัมภาษณ์ดังกล่าวมาให้พิจารณา ดังนี้:
เมื่อถูกสอบถามความเห็นเกี่ยวกับพันธะผูกพันของอเมริกาในการพิทักษ์ปกป้องไต้หวันจากจีน ซึ่งมองระบอบประชาธิปไตยเอเชียรายนี้ ในฐานะเป็นมณฑลของตนที่แยกตัวออกไป ทรัมป์ก็พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้ทั้งสองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯในช่วงหลังๆ นี้ต่างเห็นพ้องกันว่าต้องสนับสนุนไต้หวัน แต่ตัวเขาเองอย่างดีที่สุดก็คือไม่ค่อยกระตือรือร้นอะไรนักหรอก เกี่ยวกับการลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับการก้าวร้าวรุกรานของจีน ส่วนหนึ่งของความรู้สึกข้องใจไม่เต็มใจเช่นนี้ของเขา สืบเนื่องจากมาจากความรู้สึกโกรธเกรี้ยวในทางเศรษฐกิจ “ไต้หวันยึดเอาธุรกิจชิปของเราไปจากเรา” เขาบอก “ผมหมายความว่า เราน่ะงี่เง่าขนาดไหน? พวกเขายึดเอาธุรกิจชิปของเราไปหมดเลย พวกเขาร่ำรวยอย่างมโหฬารเลย” สิ่งที่เขาต้องการคือ ไต้หวันควรที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่สหรัฐฯสำหรับการปกป้องคุ้มครอง “ผมไม่คิดว่าเราจะมีความแตกต่างอะไรไปจากการขายกรมธรรม์ประกันภัย (ให้แก่ไต้หวัน ดังนั้นเราจึงสมควรได้รับเงินเป็นค่าปกป้องคุ้มครอง -ผู้แปล) แล้วทำไม? ทำไมเราจึงไม่ทำแบบนี้ล่ะ? เขาตั้งคำถาม
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนความสงสัยข้องใจของเขาก็คือ สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความยากลำบากในทางปฏิบัติที่จะเข้าพิทักษ์ปกป้องเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางอีกฟากหนึ่งของพื้นพิภพ “ไต้หวันน่ะอยู่ห่างออกไป (จากสหรัฐฯ) 9,500 ไมล์” เขากล่าว พร้อมกับเปรียบเทียบว่า “มันอยู่ห่างจากจีน 68 ไมล์” การละทิ้งพันธะผูกพันที่มีกับไต้หวัน จะต้องถือเป็นตัวแทนของการพลิกผันเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารครั้งหนึ่งในนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯทีเดียว -- มันมีความสำคัญพอๆ กับการยุติการให้ความสนับสนุนยูเครน ทว่า ทรัมป์ พูดเหมือนกับพรักพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรุนแรงในเงื่อนไขต่างๆ ของความสัมพันธ์เหล่านี้
ทรัมป์ยังตีกระหน่ำใส่ แนนซี เพโลซี จากการที่เธอเดินทางไปเยือนไต้หวันอีกด้วย [31]
คำพูดของทรัมป์เกี่ยวกับไต้หวัน ทำให้ชาวรีพับลิกันร่วมพรรคเดียวกันกับเขาถือว่า มันเป็นสัญญาณเตือนภัยที่กำลังส่งเสียงดังสนั่น [32] ซึ่งนี่คือความเข้าใจที่ถูกต้องทีเดียว ทว่าหากทรัมป์เกิดละทิ้งไต้หวันจริงๆ แล้ว คณะผู้นำพรรครีพับลิกันก็น่าที่จะยังคงเดินเรียงเคียงข้างเขาต่อไปอยู่ดี อันที่จริงในหลักนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงคราวนี้ของพรรครีพับลิกัน ได้มีการลบล้างไม่เอ่ยถึงไต้หวันใดๆ เลย [33] แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลากว่า 40 ปี ดังที่คอลัมน์ China Watcher ของเว็บไซต์ข่าว โพลิติโค (Politico) เขียนเอาไว้ดังนี้:
“เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1980 ที่ไต้หวันไม่ได้มีคุณค่าให้เอ่ยถึงแม้สักแห่งเดียว ในเอกสาร หลักนโยบายพรรค (party platform) ของคณะกรรมการแห่งชาติพรรครีพับลิกัน (Republican National Committee ใช้อักษรย่อว่า RNC) ซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ [34] เปรียบเทียบเอกสารล่าสุดนี้ กับหลักนโยบายในปี 2016 [35] (พรรครีพับลิกันไม่ได้ออกเอกสารหลักนโยบายในปี 2020) ซึ่งมีการพรรณนาถึงเกาะไต้หวันว่าเป็น “เพื่อนมิตรผู้ภักดี” และให้คำมั่นที่จะ “ช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตนเอง” การที่ RNC ตัดเอาเรื่องไต้หวันออกจากเอกสารหลักนโยบายเช่นนี้ ยังคงบังเกิดขึ้นมา ทั้งๆ ที่หน่วยงานทางการทูตของไต้หวันในวอชิงตัน ซึ่งก็คือ สำนักงานผู้แทนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (Taipei Economic and Cultural Representative Office) มีใช้ความพยายามกันอย่างเข้มข้นเพื่อโน้มน้าวหว่านล้อมให้เหล่าพันธมิตรในพรรครีพับลิกันทั้งหลาย นำเอาเรื่องไต้หวันบรรจุเข้าไปในหลักนโยบาย ทั้งนี้บุคคล 2 คนซึ่งคุ้นเคยกับความพยายามดังกล่าวนี้ บอกเล่าให้ China Watcher ฟัง ... ขณะที่ RNC ไม่ได้ตอบสนองใดๆ ต่อคำขอให้พวกเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
มันไม่จำเป็นต้องใช้อัจฉริยะด้านนโยบายการต่างประเทศสักคหนึ่งมาอยู่ตรงนี้หรอก สำหรับการดูให้ออกว่า ทรัมป์และคนของเขาอย่างน้อยที่สุดก็บางส่วนแหละ กำลังพิจารณากันอย่างแข็งขันที่จะให้ไต้หวันได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับยูเครน นี่คือการส่งสัญญาณของความอ่อนแอ [36] ไปถึงคณะผู้นำจีน และกระทั่งอาจกลายเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้าไม่กระทำแบบนี้แล้ว ก็ยังสามารถที่จะป้องปรามเอาไว้ได้
ยังดีที่ยังมีความเป็นไปได้ว่า จะมีจุดที่สดใสอยู่บ้าง นั่นคือ เจดี แวนซ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในทีมของทรัมป์ กำลังแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขัน [37] ในเรื่องการพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน [38[ และ โรเบิร์ต ซี. โอไบรเอน (Robert C. O’Brien) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ เป็นผู้ที่ป่าวร้องแนวความคิดในเรื่อง “สันติภาพผ่รความเข้มแข็ง” (peace through strength) [39] อย่างหนักแน่นมั่นคง ทว่ามันยังไม่ชัดเจนหรอกว่าผู้คนเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนต่อตัวทรัมป์ ในประเด็นเรื่องไต้หวันนี้
ขบวนการ “ทำให้อเมริกากลับยิ่งใหญ่อีกครั้ง” อาจตัดสินว่า สี จิ้นผิง คือเพื่อนมิตรของสหรัฐฯ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้เชื่อมั่นศรัทธาอะไรนักหรอกกับความโน้มเอียงของทรัมป์ที่ชอบพูดแสดงความชื่นชมเกี่ยวกับ สี จิ้นผิง [40] เขากระทำอย่างที่ว่านี้ตลอดวาระแรกแห่งการดำรงตำแหน่งของเขาทีเดียว [41] แม้กระทั่งขณะที่กำลังเบนเข็มนโยบายสหรัฐฯไปในทิศทางต่อต้านจีนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผมจึงคิดว่าถ้อยคำโวหารเช่นนี้เป็นเพียงข้อมูลที่ชวนให้หลงเข้าใจผิดเท่านั้น
สิ่งที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่านั้นมากมายนัก กลับเป็นหลักฐานที่ว่า ฐานทางการเมืองของทรัมป์ –หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือส่วนออนไลน์ของฐานทางการเมืองดังกล่าว— กำลังปรับเปลี่ยนไปสู่จุดยืนโปรจีน พอร์โท (Pourteaux) ผู้ใช้ทวิตเตอร์และอดีตบล็อกเกอร์รับเชิญของบล็อก Noahpinion ของผม [42] มีบันทึกการสนทนาทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องยาวเหยียด [43] ที่คอยแกะรอยติดตามคำพูดคำแถลงแบบต่อต้านการต่อต้านจีน (anti-anti-China statements) จากพวกบุคคลที่อยู่ในขบวนการ MAGA และพวกฝ่ายขวาออนไลน์
(หมายเหตุผู้แปล -MAGA ย่อมาจาก Make America Great Again ทำให้อเมริกากลับยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นคำขวัญทางการเมืองที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชอบใช้ ขบวนการ MAGA ยังใช้ในความหมายอ้างอิงถึงฐานเสียงทางการเมืองของทรัมป์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Make_America_Great_Again#:~:text=%22Make%20America%20Great%20Again%22%20(,his%20successful%202016%20presidential%20campaign.)
ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างบางอันของบทสนทนาทางออนไลน์ดังกล่าว :
ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงแนวความคิดแบบลัทธินิยมให้สหรัฐฯอยู่อย่างโดดเดี่ยว (isolationism) แต่ส่วนหนึ่งของมันก็มาจากแนวความคิดที่ว่า ศัตรูที่แท้จริงของ MAGA คือพวกนักเสรีนิยมชาวอเมริกัน (American liberals) และในการต่อสู้กับศัตรูตัวนี้ พวกผู้เผด็จการต่างชาติ อย่างเช่น ปูติน และ สี จิ้นผิง ก็ควรที่จะถือว่าเป็นพวก –พันธมิตร –กลุ่มพันธมิตระดับโลกของระบอบอัตตาธิปไตย (autocracy) อะไรทำนองนั้น ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) นั้น ดูเหมือนเห็นดีเห็นงามกับแนวความคิดนี้อย่างแน่นอน ทว่าตัว ทรัมป์ เอง [44] และพวกพันธมิตรของเขาบางส่วน – กระทั่งพวกคนอย่าง ไมค์ พอมเพโอ [45] (Mike Pompeo เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอ และต่อมาขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ) ซึ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวเหนียวแน่นเอากับจีนระหว่างสมัยแรกของทรัมป์ –ก็กำลังพูดสิ่งเดียวกันนี้ ดังเห็นได้จากตัวอย่างข้างล่างนี้:
ถ้าหาก ทรัมป์ ตัดสินใจว่าการประจบประแจงจีน แม้กระทั่งด้วยการยอมเสียสละไต้หวัน และการเปิดทางให้จีนครองอำนาจสูงสุดทางเศรษฐกิจ คือเรื่องจำเป็นสำหรับการมุ่งโฟกัสไปที่การต่อสู้กับพวกศัตรูภายในประเทศของ ทรัมป์ แล้ว เราทั้งหมดก็จะตกอยู่ในความลำบากยุ่งยากแบบเหมาเข่งแน่ๆ เวลานี้พวกคอมเมนเตเตอร์เยอะแยะเลย [46] [47] กำลังเริ่มรู้สึกวิตกกังวลกันแล้ว [48] แต่ในเมื่อ ทรัมป์ กลายเป็นตัวเก็งนำหน้าใครเพื่อนอย่างชัดเจน ในตลาดแห่งคำทำนายทายทัก และในการพยากรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสียแล้ว มันก็อาจจะเป็นความแตกตื่นที่น้อยเกินไปแถมยังสายเกินไปเสียแล้วอีกด้วย
แฮร์ริสอาจถอยกลับไปหานโยบาย “การมีปฏิสัมพันธ์” กับจีน ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าไปแล้ว
เมื่อมันเป็นเรื่องนโยบายว่าด้วยจีน ผมมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับ กมลา แฮร์ริส น้อยกว่าที่ผมมีกับ โดนัลด์ ทรัมป์ เยอะเลย แฮร์ริสนั้นไม่เหมือนกับทรัมป์ โดยทั่วไปแล้วเธอดูเหมือนกับใครบางคนซึ่งมีความโน้มเอียงที่จะต่อเนื่องดำเนินนโยบายต่างๆ ของพวกที่อยู่มาก่อนเธอ จอร์แดน ชไนเดอร์ (Jordan Schneider) แห่งพอดแคสต์ และจดหมายข่าว “ไชน่าทอล์ก” (ChinaTalk) มีบทสนทนาที่น่าสนใจทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ [49] ซึ่งเขาได้เสนอเหตุผลแจกแจงว่านโยบายจีนของ กมลา จะคล้ายคลึงกับของ ไบเดน ทั้งนี้ขอคัดบางตอนมาให้ดู ดังนี้:
แล้วก็มีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าจะมีคุณค่าควรแก่การพิจารณาหรือเปล่า นั่นคือ พวกนักชาตินิยมชาวจีนนั้นดูเหมือนพึงพอใจกับ ทรัมป์ มากกว่า แฮร์ริส [50]
แต่ถึงแม้ว่านี่ดูดีทีเดียว ทว่ามันก็ยังไม่ได้ทำให้ผมเกิดความมั่นอกมั่นใจอย่างเต็มที่หรอกนะ สิ่งหนึ่งก็คือ ถึงแม้ ไบเดน ออกประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีน ในระดับที่สูงกว่าที่สหรัฐฯเคยประกาศจัดเก็บในสมัยของ ทรัมป์ ด้วยซ้ำ แต่ แฮร์ริส กลับเป็นผู้ที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นภาษีศุลกากร ตลอดจนลัทธิกีดกันการค้า [51] อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา ย้อนหลังกลับไปได้ถึงเมื่อตอนที่เธอกำลังหาเสียงเพื่อให้ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีช่วงปี 2019 ถึง 2020
เธอดูเหมือนยินดีให้ความร่วมมือกับแนวความคิดในการจำกัดการค้าเสรีเมื่อเป็นการอ้างเหตุผลในนามของสิทธิทางแรงงานและความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทว่ายังคงดูไม่เหมือนกับว่ายอมรับภาษีศุลกากรในฐานะเป็นเครื่องมือของความมั่นคงแห่งชาติอย่างหนึ่ง [52] –เป็นหนทางหนึ่งในการสงวนรักษาความสามารถผลิตทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องพัวพันกับด้านกลาโหม ที่ต้องเผื่อเอาไว้สำหรับความเป็นไปได้ของการสู้รบขัดแย้งกับจีน
นอกจากนั้น ฟิลิป เอช กอร์ดอน (Philip H Gordon) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของ แฮร์ริส ได้เคยเสนอข้อคิดเห็นเอาไว้ระหว่างสมัยแรกของทรัมป์ [53] ว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับจีนถือเป็นนโยบายที่ฉลาดอย่างหนึ่ง และองค์ประกอบจำนวนมากเลยของนโยบายดังกล่าวนี้ สมควรที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนี้:
มันเป็นความจริงที่ว่าการละทิ้งนโยบายการเผชิญหน้าของยุคสงครามเย็น แล้วหันมาหาความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์มากขึ้นในตอนต้นทศวรรษ 1970 ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองภายในประเทศ (ในจีน) อย่างที่พวกมองการณ์แง่ดีบางรายคาดหวังเอาไว้ ทว่า ... มันก็เป็นยุทธศาสตร์จีนแบบที่สองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯมีความคิดเห็นแตกต่างกันน้อยมาก รวมทั้งก่อให้เกิดผลดีในวิถีทางต่างๆ เยอะแยะทีเดียว ... การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นมา แทบไม่ได้ทำให้จีนกลายเป็นพันธมิตรรายหนึ่งของสหรัฐฯ หรือลบเลือนความแตกต่างที่มีอยู่อย่างล้ำลึกระหว่างประเทศทั้งสอง แต่ผลประโยชน์ของการที่ไม่มีจีนเป็นศัตรูคือสิ่งที่เมื่อนับถึงตอนนี้ก็ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว จนกระทั่งส่วนใหญ่ของผลประโยชน์เหล่านี้ถูกถือเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียฉิบ ถ้าหากการโจมตีด้วยถ้อยคำโวหารของ (ไมค์) พอมเพโอ (Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในตอนนั้น) กลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่ลัทธิชาตินิยมของจีน และนำไปสู่การแข่งขันทางการทหารและทางการเมืองอย่างไม่มีการยับยั้งชั่งใจ อย่างที่ดูเหมือนมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานี้ ผลประโยชน์ของการมีปฏิสัมพันธ์ก็จะกลับมาปรากฏให้เห็นกันอีกคำรบหนึ่ง
แม้กระทั่งในแง่เศรษฐกิจ ข้อเสนอแนะของ พอมเพโอ ที่ว่า ประชาชนชาวอเมริกันไม่มีอะไรที่สามารถเอาออกมาอวดได้เลยในตลอดระยะเวลา 50 ปีของการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนก็ ... แปลกแยกกับข้อเท็จจริง ... ความคิดที่ว่าการค้ากับจีนเป็นถนนที่รถวิ่งทางเดียว (มีเพียงจีนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ - ผู้แปล) เป็นการมองข้ามผลประโยชน์ต่างๆ ที่ชาวอเมริกัน 2 เจนเนอเรชั่นเก็บเกี่ยวมาได้จากการนำเข้าพวกสินค้าผู้บริโภคที่สามารถซื้อหามาใช้สอยได้, อินพุตต้นทุนต่ำสำหรับใช้ดำเนินการผลิตสินค้าไฮเอนด์เพื่อการส่งออก, และการที่สหรัฐฯกำลังมีความได้เปรียบในการส่งออกด้านบริการและผลผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ ... แนวความคิดที่ว่าพวกผู้บริโภคสหรัฐฯหรือพวกผู้ส่งออกสหรัฐฯจะได้ประโยชน์จากการตัดลดการค้ากับจีนให้มากขึ้นไปกว่านี้อีก เป็นเรื่องที่ถูกชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างแรงกล้า การตอบโต้ต่อการปฏิบัติทางการค้าอย่างเป็นปัญหาของจีนนั้น ควรกระทำด้วยการเข้าร่วมรวมพลังกับพวกพันธมิตรสหรัฐฯในเอเชียและในยุโรปเพื่อแก้ไขคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การเดินหน้าทำสงครามภาษีศุลกากรที่เห็นอยู่แล้วว่าประสบความล้มเหลว หรือการจินตนาการฝันเฟื่องเกี่ยวกับ “การหย่าร้างแยกขาด” ระบบเศรษฐกิจทั้งสอง ในหนทางซึ่งจะเป็นภัยอันตรายต่อบรรดาคนงาน, เกษตรกร, และผู้บริโภคชาวอเมริกัน
(จากบทความเรื่อง Trump’s Flip-Flops on China Are a Danger to National Security By Philip H. Gordon and James Steinberg ในนิตยสารฟอเรนจ์โพลิซี Foreign Policy 29 กรกฎาคม 2020)
ผมไม่ทราบว่า กอร์ดอน ยังคงคิดอย่างนี้อยู่หรือเปล่า หรือว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นเป็นตัวแทนของสิ่งที่ แฮร์ริส จะคิดเมื่อเธอได้เป็นประธานาธิบดีหรือไม่ แต่มันเป็นถ้อยแถลงคำพูดที่น่าวิตกกังวลมาก เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นการคัดค้านโดยตรงต่อวิธีการโดยองค์รวมที่ใช้รับมือจีนของคณะบริหารไบเดน
ไม่มีตรงไหนเลยที่ กอร์ดอน แสดงการรับรู้รับทราบว่าการสงวนรักษาความสามารถผลิตทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเอาไว้นั้นมีความสำคัญในทางการทหาร –ซึ่งเป็นสิ่งที่ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของ ไบเดน เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีมากๆ [54] รวมทั้ง กอร์ดอน ก็ไม่ได้แสดงการรับรู้รับทราบว่า จีนกำลังพากเพียรพยายามที่จะดำเนินการหย่าร้างแยกขาดจากสหรัฐฯด้วยตัวของพวกเขาเองอยู่เช่นกัน [55] แถมยังกำลังก้าวไปไกลทีเดียวในเรื่องนี้ อันเป็นการคุกคามที่จะทำให้การพึ่งพาทางเศรษฐกิจแบบสองทางหรือต่างฝ่ายต่างพึ่งพากันในเวลานี้ ให้กลายเป็นการพึ่งพาแบบทางเดียว หรือสหรัฐฯจะต้องพึ่งพาจีนแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น
กอร์ดอน ยังดูเหมือนไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า ทั้งๆ ที่อเมริกาใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อเกี้ยวพาจีนให้มาเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของสหรัฐฯ ทว่าในแบบแผนแห่งนโยบายการต่างประเทศของ สี จิ้นผิง นั้น ยังคงถือว่าการโค่นล้มฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ของสหรัฐฯ และการลดเกรดความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ คือเรื่องแกนกลางสำคัญที่สุดอยู่นั่นเอง [56]
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่างน้อยที่สุดก็มีความเป็นไปได้ที่ แฮร์ริส อาจจะคิดว่าพวกเรายังคงใช้ชีวิตอยู่ในโลกก่อนยุคที่ สี ก้าวขึ้นครองอำนาจในปี 2012 และอาจจะมองดูความพยายามของ ไบเดน ในการยืนหยัดท้าทายจีน เป็นเพียงการสืบต่อรับทอดอย่างไม่จำเป็นของความก้าวร้าวตามแบบฉบับของพวกนิยมชมชอบทรัมป์ แทนที่จะมองให้เห็นว่ามันเป็นก้าวเดินที่สำคัญยิ่งยวดก้าวหนึ่งแม้ว่ายังไม่เพียงพอหรอก ในการมุ่งหน้าไปสู่การพยุงค้ำยันความมั่นคงระดับโลกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทว่าเราคงต้องรอจนกว่าจะได้ยินอะไรในหัวข้อนี้จาก แฮร์ริส ให้มากขึ้นกว่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วผมก็จะยังคงต้องรู้สึกกังวลใจต่อไปอีก
แล้วก็อย่างที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด ความวิตกของผมเกี่ยวกับ ทรัมป์ ในแนวรบด้านนี้ ยังคงสูงกว่าความกังวลที่มีต่อ แฮร์ริส มากมายนัก
ผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯจักได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ในโลกที่มีสันติภาพ ในโลกที่ซึ่งพวกมหาอำนาจเผด็จการไม่ได้มีความพยายามที่จะพิชิตครอบครองเหล่าประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเล็กกว่าและอ่อนแอกว่าของพวกเขา และในโลกที่การค้าของโลกกระทำกันเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ แทนที่จะอยู่ในรูปแบบการแข่งขันของพวกนักพาณิชยนิยม (mercantilist) ซึ่งมุ่งแต่จะเอาเปรียบเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุดเท่านั้น
เป้าหมายดังกล่าวนี้เรียกร้องให้สหรัฐฯต้องยอมรับรู้รับทราบว่า จีนกำลังเคลื่อนตัวห่างออกไปจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างสันติ และมุ่งหน้าสู่ลัทธิชาตินิยมอย่างยืนกรานก้าวร้าว ตลอดจนลัทธิเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง
และมันเรียกร้องให้ต้องใช้ก้าวเดินที่เข้มแข็งทั้งในแนวรบด้านเศรษฐกิจ, การทูต, ตลอดจนการทหาร เพื่อหน่วงเหนี่ยวยับยั้งจีนไม่ให้เปิดฉากทำสงครามอย่างสะเพร่าไร้ความยั้งคิด ซึ่งมีแต่ฉุดลากเอเชียให้จมลงสู่ความรุนแรงและความปั่นป่วนวุ่นวาย
ผมวาดหวังเอาไว้ว่าใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีนี้ จะมีคุณสมบัติที่สามารถกระทำภารกิจเช่นนี้ได้ สำหรับในขณะนี้ผมจึงต้องปรารถนาที่จะเลือก แฮร์ริส มากกว่า ทรัมป์ อย่างแน่นอน เพียงเพราะเนื่องจากเหตุผลข้อนี้ประการเดียวเท่านั้น ทว่านั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจจากผมอย่างเต็มที่แต่ประการใด
ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่หนแรกสุดทางบล็อก Noahpinion บนแพลตฟอร์ม Substack ของ โนอาห์ สมิธ ติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมของเขาได้ที่ https://www.noahpinion.blog/p/why-trump-or-harris-might-fail-to?utm_source=post-email-title&publication_id=35345&post_id=147040140&utm_campaign=email-post-title&isFreemail=true&r=7nm2&triedRedirect=true&utm_medium=email และสมัครบอกรับเป็นสมาชิกบล็อก Noahpinion ของเขาได้ที่ https://www.noahpinion.blog/subscribe?utm_medium=web&utm_source=subscribe-widget&utm_content=141752050
เชิงอรรถ
[1] https://www.noahpinion.blog/p/why-is-china-producing-so-many-export
[2] https://www.npr.org/2023/11/30/1215898523/meta-warns-china-online-social-media-influence-operations-facebook-elections
[3] https://www.amazon.com/Beijing-Rules-Bethany-Allen-ebook/dp/B0B397WP31
[4] https://www.pewresearch.org/global/2024/05/01/assessments-of-china-and-its-role-in-the-world/pg_2024-05-01_us-views-china_1_01/
[5] https://www.pewresearch.org/global/2024/05/01/chinas-relationship-with-the-u-s/
[6] https://www.noahpinion.blog/p/bidens-legacy-a-summary
[7] https://www.brookings.edu/articles/assessing-u-s-china-relations-under-the-obama-administration/
[8] https://www.amazon.com/Wireless-Wars-Dangerous-Domination-Fighting/dp/1953295614
[9] https://globalinitiative.net/profile/john-suffolk/
[10] https://www.wsj.com/articles/u-s-huawei-clash-at-global-security-powwow-11581696200
[11] https://www.noahpinion.blog/p/trump-just-rug-pulled-the-china-hawks
[12] https://qz.com/donald-trump-tiktok-ban-bytedance-joe-biden-sotu-1851319392
[13] https://qz.com/bill-that-could-make-tiktok-unavailable-in-the-us-advan-1851317789
[14] https://gizmodo.com/truth-social-down-outage-trump-biden-state-of-the-union-1851318732
[15] https://truthsocial.com/@realDonaldTrump/posts/112058087970558736
[16] https://twitter.com/VivekGRamaswamy/status/1766251076800725229
[17] https://nymag.com/intelligencer/article/trump-tiktok-ban-reversal-china-jeff-yass-why.html
[18] https://www.wsj.com/politics/policy/jeff-yass-tiktok-bytedance-ban-congress-15a41ec4
[19] https://nypost.com/2024/03/07/us-news/billionaire-tiktok-investor-bullies-lawmakers-to-stop-sale/
[20] https://www.politico.com/news/2024/03/01/trump-club-for-growth-00144547
[21] https://apnews.com/article/trump-legal-bills-debt-campaign-fundraising-shortfalls-07c9bafaaa5d4f27d93dbda3bd2624ea
[22] https://www.politico.com/news/2024/03/09/kellyanne-conway-tiktok-trump-00146144
[23] https://www.piie.com/blogs/realtime-economics/china-bought-none-extra-200-billion-us-exports-trumps-trade-deal
[24] https://trumpwhitehouse.archives.gov/briefings-statements/remarks-president-trump-signing-u-s-china-phase-one-trade-agreement-2/
[25] https://www.reuters.com/article/technology/trump-defends-intervention-to-help-china-telecom-company-zte-idUSKCN1IF201/
[26] https://www.wsj.com/articles/congress-ends-bid-to-undo-trump-deal-to-save-chinas-zte-1532110708
[27] https://scholars-stage.org/losing-taiwan-means-losing-japan/
[28] https://www.npr.org/2022/09/19/1123759127/biden-again-says-u-s-would-help-taiwan-if-china-attacks
[29] https://www.newsweek.com/donald-trumps-taiwan-remarks-spark-fury-concern-1862602
[30] https://www.bloomberg.com/features/2024-trump-interview/?srnd=homepage-uk&sref=R8NfLgwS
[31]https://x.com/pourteaux/status/1553382476311150594?t=PAjnjh9yDw212Fmrs4L5Tw&s=19
[32] https://www.newsweek.com/trump-china-taiwan-polling-1926977
[33] https://www.politico.eu/newsletter/china-watcher/china-looms-over-natos-birthday-party/
[34] https://www.presidency.ucsb.edu/documents/2024-republican-party-platform
[35] https://prod-cdn-static.gop.com/media/documents/DRAFT_12_FINAL%5B1%5D-ben_1468872234.pdf
[36] https://www.theatlantic.com/international/archive/2024/07/trump-remarks-on-taiwan/679099/
[37]https://x.com/Joel_P_Atkinson/status/1812984375203799378?t=80DVHAH8o840_ONKfxJEtw&s=19
[38] https://x.com/pourteaux/status/1812933675186639316
[39] https://www.foreignaffairs.com/united-states/return-peace-strength-trump-obrien
[40] https://x.com/isaacstonefish/status/1815000633428021329
[41] https://www.politico.com/news/2024/02/04/trump-xi-chinese-tariff-00139531
[42] https://www.noahpinion.blog/p/im-cute-im-punk-rock
[43] https://x.com/pourteaux/status/1553382476311150594
[44] https://x.com/AccountableGOP/status/1645943511433330690
[45] https://x.com/mikepompeo/status/1632779520720633857
[46] https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/don-t-expect-trump-20-be-so-tough-china
[47] https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/Xi-may-see-second-Trump-term-creating-opening-on-Taiwan
[48] https://foreignpolicy.com/2020/07/29/trump-pompeo-china-security/
[49] https://x.com/jordanschnyc/status/1815416637702770999
[50] https://www.marketwatch.com/story/chinese-social-media-is-brimming-with-anti-kamala-harris-pro-donald-trump-posts-476d3b83
[51] https://www.politico.com/newsletters/weekly-trade/2024/07/22/harris-pick-would-signal-trade-continuity-for-dems-00170137
[52] https://www.noahpinion.blog/p/in-which-british-writers-scold-america
[53] https://foreignpolicy.com/2020/07/29/trump-pompeo-china-security/
[54] https://foreignpolicy.com/2020/07/29/trump-pompeo-china-security/
[55] https://qz.com/china-was-de-risking-long-before-the-term-caught-on-i-1850828659
[56]https://www.amazon.com/Long-Game-Strategy-Displacement-American/dp/0197527914