(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US targets Hong Kong chip transshipments to Russia
by Jeff Pao
26/07/2024
ทั้งพวกเจ้าหน้าที่, สมาชิกรัฐสภา, และองค์การไม่แสวงหากำไรของสหรัฐฯ ต่างกำลังออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรกิจการและแบงก์หลายๆ แห่งในฮ่องกง ภายหลังจากที่ประชุมซัมมิตขององค์การนาโต้ได้ออกคำแถลงเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่งมีเนื้อหาประนามจีนที่ให้ความสนับสนุนแก่ภาคการทหารของรัสเซีย
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ก็วางแผนร้องเรียนแสดงความไม่พอใจ ในระหว่างพบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ข้างเคียงการประชุมของสมาคมอาเซียน ณ ประเทศลาว ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เกี่ยวกับการที่จีนจัดส่งสินค้าทางการทหารไปให้รัสเซีย ทั้งนี้ เขาพูดออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัสเซียกำลังนำเข้าพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ราวๆ 70% ของตน และพวกไมโครอิเล็กทรอนิกส์ราวๆ 90% ของตนจากประเทศจีน
ทางด้าน มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) วุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน มีความเคลื่อนไหวแยกออกไปต่างหาก ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐบัญญัติให้อำนาจทางด้านกลาโหมแห่งชาติ (National Defense Authorization Act) เพื่อให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการแซงก์ชั่นพวกสถาบันการเงินทั้งหลายที่ดำเนินธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งสินค้าซึ่งมีปัญหาไปให้รัสเซีย
ระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อมวลชนด้านข่าวของสหรัฐฯ 2 แห่ง และกลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่ง ยังได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของพวกเขาที่ประมาณการถึงปริมาณการจัดส่งพวกข้าวของซึ่งสหรัฐฯขึ้นบัญชีอยู่ใน “รายการลำดับความสำคัญสูงร่วม” (common high priority list หรือ CHPL) [1] ไปให้แก่รัสเซียโดยผ่านทางฮ่องกง
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) นิวยอร์กไทมส์รายงาน [2] ว่า รัสเซียได้รับชิปที่ถูกฝ่ายตะวันตกจำกัดควบคุม รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว นับตั้งแต่แดนหมีขาวรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รายงานนี้บอกว่ามีกลุ่มของพวกบริษัทบังหน้าจำนวนหนึ่งในฮ่องกงคอยช่วยเหลือจัดส่งสินค้าเหล่านี้เป็นจำนวนมากให้แก่มอสโก พร้อมกับระบุด้วยว่าตัวเลขที่ประมาณการออกมานี้ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลศุลกากรของรัสเซียนับตั้งแต่กลางปี 2021 เป็นต้นมา
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่าชิปเหล่านี้ถูกส่งไปยังรัสเซียในการขนส่งเกือบๆ 800,000 เที่ยวโดยฝีมือของบริษัทต่างๆ มากกว่า 6,000 แห่ง สตาฟฟ์ของนิวยอร์กไทมส์ยังได้ไปยังสำนักงานของบริษัทฮ่องกงแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าพัวพันอยู่ในการขนส่งข้าวของต้องห้ามต่อไปยังแดนหมีขาวนี้ โดยตามที่อยู่ระบุว่าตั้งอยู่ที่ชั้น 7 ของอาคารเลขที่ 135 ถนนบานัห์ม สแตรนด์ (135 Bonham Strand) ในย่านเซนทรัล (Central) ทว่าไม่ได้พบใครอยู่ที่นั่นเลย
ทางด้านคณะกรรมการเพื่อเสรีภาพในมูลนิธิฮ่องกง (Committee for Freedom in Hong Kong Foundation หรือ CFHK Foundation) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุรายงานที่นำออกเผยแพร่ในวันที่ 22 กรกฎาคม ว่า ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2023 มีบริษัทฮ่องกงรวม 206 แห่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นบริษัทส่งของ (consignor) จัดส่ง [3] ข้าวของที่อยู่ในบัญชีรายการ CHPL เป็นมูลค่าราว 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปให้รัสเซีย
ข้าวของที่ว่านี้ มีทั้งอุปกรณ์รับสัญญาณข้อมูล (data receivers), อุปกรณ์ประมวลผลและอุปกรณ์ควบคุมคอมพิวเตอร์ (computer processors and controllers), หน่วยเก็บข้อมูลดิจิตอลและทำงานด้านอินพุต/เอาท์พุต (digital storage and input/output units), ตลอดจนแผงวงจรรวมอย่างอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีข้าวของจำพวก static converter, อุปกรณ์ขยายเสียง (amplifiers), ชิปความจำ, และไดโอด (diodes),
อุปกรณ์เหล่านี้ผลิตจากบริษัททางตะวันตก 31 แห่ง เป็นต้นว่า เทกซัส อินสทรูเมนต์ส (Texas Instruments), อะนาล็อก ดิไวเซส (Analog Devices), ไมโครชิฟ เทคโนโลยี (Microchip Technology), แอปเปิล, อินเทล, เดลล์, และ อินวิเดีย (Nvidia)
CFHK Foundation บอกว่าตนใช้ข้อมูลที่รวบรวมโดย ศูนย์เพื่อการศึกษาด้านกลาโหมระดับก้าวหน้า (Center for Advanced Defense Studies หรือ C4ADS) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตันอีกแห่งหนึ่ง
องค์การ CFHK Foundation ยังเสนอแนะให้สหรัฐฯใช้อำนาจที่มีอยู่ในการแซงก์ชั่นพวกผู้เกี่ยวข้องระดับรองลงมา (secondary sanctions authority) เพื่อขึ้นบัญชีดำพวกธนาคารของฮ่องกงและของจีนที่กำลังอำนวยความสะดวกทางการเงินให้แก่การค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ รวมทั้งขึ้นบัญชีดำฮ่องกงในฐานะเป็นดินแดนที่น่ากังวลทางด้านการฟอกเงินลำดับแรกๆ (primary money laundering concern หรือ PMLC)
เวลาเดียวกัน มีการอ้างอิงเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯผู้หนึ่งโดยไม่ระบุชื่อ ได้กล่าว [4] เอาไว้ในรายงานลงวันที่ 22 กรกฎาคม ระบุว่า การขนส่งข้าวของตามบัญชีรายการ CHPL ผ่านทางฮ่องกง อันที่จริงได้ลดลงไปราว 28% ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้
เจ้าหน้าที่ผู้นั้นซึ่งไม่ได้อธิบายว่ามีวิธีคำนวณตัวเลขนี้ออกมาอย่างไร บอกว่าการลดลงเช่นนี้เป็นผลจากการที่ทางการสหรัฐฯบังคับใช้กฎหมายอย่างดุเดือดแข็งกร้าว รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับทางพวกซัปพลายเออร์ผลิตภัณฑ์ กระนั้นเจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า ฮ่องกงยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญศูนย์หนึ่งซึ่งทางรัสเซียใช้ในการหลีกเลี่ยงมาตรการแซงก์ชั่น
สำหรับการขนส่งข้าวของต้องห้ามตามบัญชี CHPL ที่ส่งผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ ยกเว้นฮ่องกง ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ได้ลดลงไป 19% ขณะที่ชุดข้อมูลเต็มๆ ยังไม่มีการนำออกมาเผยแพร่ โดยที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้ของตนเอาไว้
ตัวเลขใหม่ๆ เหล่านี้ทั้งหมดถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากทางผู้นำนาโต้กล่าวเอาไว้ในคำแถลงร่วมในวันที่ 11 กรกฎาคมจากการประชุมซัมมิตที่กรุงวอชิงตัน โดยประทับตราเรียก [5] จีนว่าเป็น “ผู้สมคบที่สามารถกลายเป็นตัวตัดสินชี้ขาด” (decisive enabler) ในสงครามที่รัสเซียกระทำกับยูเครน จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯของทำเนียบขาว ได้ออกมาแถลงว่าสหรัฐฯกำลังจัดเตรียมมาตรการแซงก์ชั่นรอบใหม่ที่มุ่งเล่นงานบุคคลและหน่วยงานของจีนซึ่งจัดส่งพวกข้าวของที่สามารถใช้ได้ทั้งทางพลเรือนและทางทหารไปป้อนให้กลไกสงครามของรัสเซียในยูเครน
ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของ ส.ว.รูบิโอ
ในวันที่ 11 กรกฎาคมเช่นเดียวกัน วุฒิสมาชิกรูบิโอ ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐบัญญัติให้อำนาจทางด้านกลาโหมแห่งชาติ ของเขา
ทั้งนี้เขาเสนอ [6] ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯมีอำนาจในการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นเล่นงาน “สถาบันการเงินแอบแฝง” (covered financial institution) ใดๆ ก็ตาม ที่ใช้ระบบชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามชายแดน (Cross-Border Interbank Payment System หรือ CIPS) ของจีน, ระบบเพื่อการโอนข้อความทางการเงิน (System for Transfer of Financial Messages หรือ SPFS) ของรัสเซีย, หรือ ระบบเพื่อการส่งข้อความชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (System for Electronic Payment Messaging หรือ SEPAM) ของอิหร่าน เพื่อการชำระบัญชี, ตรวจสอบ, ทำความตกลง, หรือกระทำธุรกรรมต่างๆ กับ “สถาบันการเงินแอบแฝง” แห่งอื่นๆ ไม่ว่าแห่งไหน
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขของรูบิโอให้คำจำกัดความ “สถาบันการเงินแอบแฝง” ให้ครอบคลุมถึงสถาบันใดๆ ที่ตั้งอยู่ หรือที่ดำเนินการภายใต้กฎหมายของหนึ่งในประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งระบุเอาไว้ตามกฎหมายนี้ โดยประเทศเหล่านี้มีทั้ง จีน (รวมฮ่องกงและมาเก๊า), รัสเซีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คิวบา, และเวเนซุเอลา
เป็นที่คาดหมายกันว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐบัญญัติฉบับนี้ภายในสิ้นปีนี้เพื่อให้เริ่มบังคับใช้ในปี 2025
ย้อนหลังกลับไปในเดือนมีนาคม 2022 รูบิโอได้เคยเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันนี้โดยใช้ชื่อร่างว่า รัฐบัญญัติเพื่อยังความพิกลพิการให้แก่ความกระหายสงครามอย่างบ้าคลั่งของรัสเซีย และความเกี่ยวข้องพัวพัสของจีนในแผนอุบายของปูติน (Crippling Unhinged Russian Belligerence and Chinese Involvement in Putin’s Schemes Crippling Unhinged Russian Belligerence and Chinese Involvement in Putin’s Schemes Act หรือ CURB CIPS Act) [7] ทว่าไม่มีรายงานความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้
นับจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบบ CIPS ของจีนมีผู้เข้าร่วมโดยตรง 148 ราย [8] โดยรายหนึ่งคือ ซิตี้แบงก์ [9] แล้วยังมีผู้เข้าร่วมทางอ้อมในตลอดทั่วโลกอีก 1,396 ราย
ยุทธวิธีของมอสโก
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ศูนย์เพื่อการศึกษาด้านกลาโหมระดับก้าวหน้า (C4ADS) ได้ตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “กลไกสงคราม – เครือข่ายเพื่อการจัดหาและการธำรงรักษาคลังแสงอุปกรณ์สงครามที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำของรัสเซีย” (War Machine – The Networks Supplying & Sustaining the Russian Precision Machine Tool Arsenal) โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า จีนและฮ่องกง, ตุรกี, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่ในหมู่ประเทศที่ควรแก่การกังวลสนใจ โดยเป็นแหล่งที่มาของพวกเครื่องจักรกลที่ทำงานได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการผลิตชิ้นส่วนวัสดุให้ได้ขนาดและรูปทรงตามที่ต้องการ (computer numeric control (CNC) machine tools) ของรัสเซีย
รายงานฉบับนี้บอก [10] ว่า ในอดีตที่ผ่านมารัสเซียได้พวกเครื่องจักรกลที่ทำงานได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำการผลิตชิ้นส่วนวัสดุให้ได้ขนาดและรูปทรงตามที่ต้องการเหล่านี้ ในส่วนที่ผลิตจากต่างประเทศ จากพวกเขตอำนาจควบคุมซึ่งรัฐบาลของพวกเขาในปัจจุบันเป็นพวกที่ให้ความสนับสนุนยูเครน
ทางด้าน หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) อดีตโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 23 เมษายนว่า สหรัฐฯแสดงพฤติการณ์แบบมือถือสากปากถือศีล และขาดไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง จากการที่เที่ยวกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานใส่การค้าและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจตามปกติระหว่างจีนกับรัสเซีย แต่เวลาเดียวกันนั้นก็กลับกำลังจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือจำนวนมากไปให้ยูเครน ซึ่งมีฐานะเป็นคู่สงครามอีกฝ่ายหนึ่ง
มีคอมเมนเตเตอร์บางรายแสดงความคิดเห็นว่า การออกมาตรการแซงก์ชั่นใหม่ๆ ของสหรัฐฯอย่างดีที่สุดก็เพียงเท่าให้ค่าใช้จ่ายของรัสเซียสำหรับการทำธุรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในเวลาที่จะหาเงินมาซื้อหาข้าวของที่เกี่ยวข้องกับสงครามต้องสูงขึ้นมาเท่านั้น ทว่าไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อขายขึ้นมาได้
พวกเขาบอกว่า แบงก์ใหญ่ๆ ของจีนได้ยุติการให้ความสะดวกทางการเงินแก่การค้าของรัสเซียกันแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสหรัฐฯแซงก์ชั่น ทว่าธนาคารขนาดย่อมๆ ลงมายังคงสามารถดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีธุรกิจอะไรเกี่ยวกับดอลลาร์อยู่แล้ว พวกเขาบอกอีกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่น คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย ยังสามารถเข้าแทนที่ฮ่องกง ในการดำเนินการด้านจัดส่งเช่นนี้ให้แก่รัสเซีย
เชิงอรรถ
[1] https://finance.ec.europa.eu/system/files/2023-09/list-common-high-priority-items_en.pdf
[2] https://www.nytimes.com/2024/07/25/technology/russia-sanctions-chips.html
[3] https://www.thecfhk.org/post/beneath-the-harbor
[4] https://www.reuters.com/technology/illicit-chip-flows-russia-seen-slowing-china-hong-kong-remain-transshipment-hubs-2024-07-2
[5] https://www.nato.int/cps/en/natohq/official_texts_227678.htm
[6] https://www.congress.gov/amendment/118th-congress/senate-amendment/2483/text?s=a&r=561&overview=open#content
[7] https://www.rubio.senate.gov/wp-content/uploads/_cache/files/54287803-ca01-4396-a5ff-edf8900163b9/68D57AB15BCAFBCD96CBF3AC6B170674.ros22312.pdf
[8] https://www.cips.com.cn/en/2024-07/03/article_2024070314443375241.html
[9] https://www.citibank.com/tts/case-studies/pingpong.html#:~:text=Solution%3A%20Citi%20has%20implemented%20a,CIPS%20clearing%20with%20enhanced%20turnaround.
[10] https://c4ads.org/wp-content/uploads/2024/06/War-Machine-C4ADS-Report.pdf