xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก ‘จีน’ ประกาศคุมเข้มส่งออก ‘โลหะสำคัญ’ ขณะที่ ‘สงครามเซมิคอนดักเตอร์’ บานปลายขยายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China squeezes key metal supplies in chip war escalation
By JEFF PAO
04/07/2023

จีนประกาศควบคุมการส่งออกแกลเลียม และเจอร์เมเนียม เป็นการตอบโต้แบบแลกหมัดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่บีบคั้นจำกัดไม่ให้ปักกิ่งเข้าถึงแผ่นเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้า ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปเหล่านี้อย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้แม้จะทราบดีว่าไม่สามารถปิดกั้นวอชิงตันและโตเกียวได้อย่างสมบูรณ์ แต่หวังว่าจะดึงให้การพัฒนาของบริษัทชิปอเมริกันและญี่ปุ่นต้องล่าช้าลง และเปิดทางเปิดโอกาสให้กิจการชิปจีนสามารถเร่งเครื่องไล่ตามได้มากขึ้น

สงครามเซมิคอนดักเตอร์เกิดการพลิกผันอีกครั้งหนึ่ง จีนประกาศจำกัดการส่งออกโลหะ แกลเลียม (gallium) และเจอร์เมเนียม (germanium) ตลอดจนสารประกอบบางชนิดของโลหะ 2 อย่างนี้ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่มุ่งตอบโต้แก้เผ็ดการที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่น สั่งห้ามการส่งออกชิปและเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิประดับก้าวหน้าไปยังจีน

เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป บรรดาซัปพลายเออร์ด้านสารเคมีของจีนต้องยื่นขอใบอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์รวม 38 ชนิด ซึ่งรวมถึง สารประกอบแกลเลียม ไนไตรด์ (gallium nitride หรือ GaN) และเจอร์เมเนียม ไดออกไซด์ (germanium dioxide หรือ GeO2) ด้วยกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุในคำแถลงที่ออกมาในวันจันทร์ (3 ก.ค.)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mofcom.gov.cn/article/zwgk/gkzcfb/202307/20230703419666.shtml)

โลหะ 2 อย่างนี้ใช้ในการผลิตชิป พวกอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และพวกสิ่งของที่ใช้ทางด้านกลาโหมหลายหลากชนิด หากลงในรายละเอียดมากขึ้น แกลเลียมนั้นใช้ในการทำแผ่นเซมิคอนดักเตอร์ หรือแผ่นชิป ประเภทที่ทำด้วยวัสดุผสม โดยเมื่อนำแกลเลียมผสมเข้ากับส่วนประกอบอื่นๆ อีกหลายชนิดจะได้แผ่นชิปซึ่งอัตราความเร็วและประสิทธิภาพในการรับส่งสัญญาณอยู่ในระดับดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีการนำไปใช้ในการทำจอภาพโทรศัพท์มือถือ แผงโซลาร์เซลส์ และเรดาร์

สำหรับเจอร์เมเนียม ใช้ในการทำสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกเพื่อการสื่อสาร กล้องส่องใช้มองในเวลากลางคืน และพวกแผงโซลาร์เซลส์ซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าให้แก่ดาวเทียม ทั้งนี้ ตามข้อมูลทางการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2022 สหรัฐฯ นำเข้าโลหะแกลเลียม และแผ่นชิปแกลเลียม อาร์เซไนด์ (gallium arsenide wafers) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://pubs.usgs.gov/periodicals/mcs2023/mcs2023-gallium.pdf)

จวบจนถึงเวลานี้ จีนเป็นแหล่งที่มาอันดับหนึ่งของโลกสำหรับโลหะทั้ง 2 อย่างนี้ โดยเป็นผู้ซัปพลายแกลเลียม 94% และเจอร์เมเนียม 83% ของโลก ทั้งนี้ตามรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งของสหภาพยุโรปที่เผยแพร่ออกมาในปีนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/docsroom/documents/54114/attachments/1/translations/en/renditions/native)

นักวิเคราะห์บางรายประมาณการกันแล้วว่า การแบนของจีนคราวนี้จะส่งผลกระทบเพียงแค่จำกัด เนื่องจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นสามารถนำเข้าวัสดุเหล่านี้จากประเทศอื่นๆ หรือกระทั่งผลิตขึ้นเองภายในประเทศ ถึงแม้ด้วยราคาที่สูงขึ้นมากทีเดียว

พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนบอกว่า การควบคุมการส่งออกของจีนมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ต้องการชะลอฝีก้าวในการพัฒนาของพวกผู้ผลิตชิปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ถือเป็นความพยายามอย่างหนึ่งในการเพิ่มเวลาและที่ทางสำหรับให้พวกเพลเยอร์จีนวิ่งไล่ตาม ในการแข่งขันซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดในเรื่องการทำเซมิคอนดักเตอร์ที่จะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ

“จีนมีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะคอยรักษาให้ห่วงโซ่ทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกมีความมั่นคงปลอดภัยและมีเสถียรภาพเสมอมา และคอยใช้มาตรการควบคุมการส่งออกที่มีความเป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่มุ่งแบ่งแยกกีดกันผู้ใดเสมอมา” เหมา หนิง (Mao Ning) โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนตามปกติเมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/202307/t20230704_11107557.html)

“การควบคุมการส่งออกในรายการสินค้าที่มีความจำเป็นและความเหมาะสมของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นการสอดคล้องชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการปฏิบัติที่กระทำกันอย่างปกติทั่วไปในระดับระหว่างประเทศ และนี่ไม่ได้พุ่งเป้าหมายมุ่งเล่นงานประเทศหนึ่งใดเป็นพิเศษ” เธอกล่าว

เนื่องจากคาดหมายกันว่าราคาเจอร์เมเนียมจะพุ่งสูงขึ้น หุ้นของอิ๋ว์นหนาน หลินคัง ซินหยวน (Yunnan Lincang Xinyuan) บริษัทจีนที่เป็นซัปพลายเออร์สารเคมีนี้ได้พุ่งพรวดขึ้นไป 10% รวมทั้งจุดชนวนให้มีการสั่งพักการซื้อขายหุ้นตัวนี้ในวันที่ 4 ก.ค. ส่วนหุ้นของฉือหง ซิงค์ แอนด์ เจอร์เมเนียม (Chihong Zinc and Germanium) ขยับสูงขึ้น 6.1%

สงครามเทค ใส่กันหมัดต่อหมัด

การสั่งแบนโลหะ 2 อย่างของจีนคราวนี้ เกิดขึ้นภายหลังรัฐบาลเนเธอร์แลนด์แถลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนว่า จะตั้งข้อกำหนดแก่เอเอสเอ็มแอล (ASML) ผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการทำชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ให้ต้องยื่นขอใบอนุญาตส่งออกสำหรับการจัดส่งเครื่องจักรระบบพิมพ์ลายบนแผ่นชิปใช้เทคโนโลยี DUV (DUV lithography systems) ของบริษัทไปต่างประเทศ โดยรวมถึงรุ่น Twinscan NXT:2000i ตลอดจนพวกระบบ immersion ที่เป็นขั้นตอนในกระบวนการผลิตถัดจากนั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asml.com/en/news/press-releases/2023/statement-regarding-export-control-regulations-dutch-government)

ข้อกำหนดนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป Twinscan NXT:2000i เป็นเครื่องจักรอุปกรณ์ที่สามารถทำชิปขนาด 38 นาโนเมตรได้ด้วยการ exposure ครั้งเดียว ก่อนหน้าการสั่งแบนเช่นนี้ของเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลญี่ปุ่นก็แถลงเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า จะจำกัดการส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์การทำชิปรวม 23 แบบ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่อง Twinscan NXT:2000iได้ที่ https://www.asml.com/en/products/duv-lithography-systems/twinscan-nxt2000i)

สื่อมวลชนสหรัฐฯ รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า วอชิงตันยังจะสั่งห้ามไม่ให้อินวิเดีย (Nvidia) ส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของบริษัทในรุ่น A800 และ H800 ไปยังจีน ไม่เพียงเท่านั้น ตอนสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไบเดน ก็จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารซึ่งห้ามกองทุนต่างๆ ของสหรัฐฯ เข้าลงทุนในภาคไฮเทคของจีน หลังจากมีการออกข่าวเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว สื่อมวลชนสหรัฐฯ ระบุ

พวกคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนต่างพากันส่งเสียงเชียร์ลั่นสำหรับการเคลื่อนไหวแบบแลกหมัดตอบโต้กับสหรัฐฯ ในคราวนี้ “มีความจำเป็นที่จีนจะต้องใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดวางมาตรการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพมาเล่นงานการครองฐานะเป็นเจ้าใหญ่โตครอบงำใครๆ ในด้านชิปของสหรัฐฯ” คอลัมนิสต์ผู้หนึ่งที่ใช้เมืองเทียนจินเป็นฐาน เขียนเอาไว้ในบทความเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1770453806023705073&wfr=spider&for=pc)

เขากล่าวว่า ระบบใหม่ที่ให้ขออนุญาตก่อนจึงจะส่งออกได้นี้ จะเปิดทางให้จีนสามารถระบุตัวตนของพวกผู้ใช้ในขั้นปลายสุด และใช้ผลิตภัณฑ์โลหะของตนเพื่อการพิทักษ์คุ้มครองความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์แห่งชาติของตน

คอลัมนิสต์ผู้นี้ยังแสดงความคิดเห็นว่า ด้วยการเข้าไปจัดการกับซัปพลายและราคาของโลหะสำคัญเหล่านี้ จีนสามารถที่จะส่งอิทธิพลต่อราคาและผลกำไรของพวกผลิตชิปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ดังนั้นจึงเป็นการลดความได้เปรียบในการแข่งขันของพวกเขาลงมา

เขากล่าวอีกว่า มาตรการใหม่ในการควบคุมการส่งออกนี้ ยังสร้างหลักประกันว่าจะมีซัปพลายของแกลเลียมและเจอร์เมเนียนส่งให้แก่พวกผู้ผลิตชิปจีนอย่างมีเสถียรภาพ

สินแร่สำรองในโลก

ในบรรดาเคมีภัณฑ์ที่จีนสั่งจำกัดการส่งออกครั้งนี้ แกลเลียม ไนไตรด์ (GaN) เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพวกเซมิคอนดักเตอร์เจเนอเรชันที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้อยู่ในพวกโครงข่ายไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีฐานของระบบสื่อสารโทรคมนาคม

ชิป GaN ย่านความถี่คลื่นไมโครเวฟและคลื่นวิทยุ (GaN microwave radio-frequency chips) ใช้ในการทำขีปนาวุธ เรดาร์ และอุปกรณ์ต่อต้านทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบมาเพื่อลวงเรดาร์ โดยอาศัยคุณสมบัติความสามารถของมันในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและมีความถี่สูง

ในปี 2021 จีนเป็นเจ้าของศักยภาพในการผลิตแกลเลียมขั้นปฐมความบริสุทธิ์ต่ำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการถลุงสินแร่บ็อกไซต์และสินแร่สังกะสี อยู่ถึง 84% ของโลก สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (US Geological Survey หรือ USGS) ระบุเช่นนี้ในรายงานการวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว

ฐานะการครอบงำตลาดเช่นนี้ของจีน บังเกิดขึ้นภายหลังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซียต่างตัดลดผลผลิตของพวกเขา หลังจากเกิดภาวะมีแกลเลียมขั้นปฐมล้นเกินจำนวนมากออกมาท่วมท้นตลาดเมื่อปี 2012 ส่วนเยอรมนีและคาซัคสถานหยุดการผลิตแกลเลียมขั้นปฐมไปในปี 2016 และปี 2013 ตามลำดับ สืบเนื่องจากมีซัปพลายจำนวนมากอยู่ในตลาดเช่นกัน

ระหว่างปี 2017 ถึงปี 2021 สหรัฐฯ นำเข้าแกลเลียมที่ตนต้องการจากประเทศจีน 53% จากสหราชอาณาจักร 11% จากเยอรมนี 9% และจากยูเครน 7% ทั้งนี้ตามรายงานฉบับดังกล่าวข้างต้นของ USGS นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจากจีน ซึ่งก็รวมถึงพวกผลิตภัณฑ์แกลเลียมด้วยเมื่อปี 2019 สหรัฐฯ เริ่มกระจายแหล่งที่มาของสินค้านำเข้าของตนตัวนี้ไปยังแคนาดา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

USGS ยังบอกว่าสหรัฐฯ มีแหล่งสำรองขนาดใหญ่ๆ ของหัวแร่สังกะสีที่มีเจอร์เมเนียมเจือปนอยู่ในเหมืองต่างๆ หลายแห่งซึ่งอยู่ในรัฐอะแลสกา เทนเนสซี และวอชิงตัน สำหรับเจอร์เมเนียน ระหว่างปี 2015 ถึงปี 2018 สหรัฐฯ นำเข้าเจอร์เมเนียมของตน 59% จากจีน 22% จากเบลเยียม และอีก 9% จากเยอรมนี นอกจากนั้นทั้งแกลเลียมและเจอร์เมเนียมยังสามารถที่จะรีไซเคิลจากพวกเศษโลหะใช้แล้วอีกด้วย
(รายงานเรื่องนี้ของ USGS ดูเพิ่มเติมได้ที่https://pubs.usgs.gov/periodicals/mcs2020/mcs2020-germanium.pdf)

หวัง ซินซี (Wang Xinxi) นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กวางตุ้ง กล่าวไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การควบคุมการส่งออกของจีนถึงอย่างไรก็ไม่อาจหยุดยั้งอย่างสมบูรณ์ไม่ให้พวกประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายสามารถแสวงหาทางอื่นๆ เพื่อให้ได้สารประกอบเคมีของโลหะ 2 อย่างนี้ ถึงแม้มันจะผลักดันให้ราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้พุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://new.qq.com/rain/a/20230704A04BQT00)

เขาบอกว่า จีนสามารถผลิตแกลลียมได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากจีนมีศักยภาพความสามารถในการผลิตอะลูมิเนียม ออกไซด์ ได้มากที่สุดในโลก ตลอดจนมีโนว์ฮาวเรื่องการถลุงแกลเลียม เขาระบุว่าถ้าญี่ปุ่น และสหรัฐฯ คิดจะเดินตามก็จะต้องมีต้นทุนที่แพงกว่ากันมาก

“ในระยะสั้น ราคาแกลเลียมและเจอร์เมเนียมจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พวกซัปพลายเออร์จีนจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มเช่นนี้” หวัง บอก “แต่นี่ไม่ใช่เป็นเป้าหมายของเรา สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้ต้นทุนของพวกเขาเพิ่มสูงขึ้น และชะลอฝีก้าวในการพัฒนาของภาคชิปของญี่ปุ่นและของสหรัฐฯ”

เขากล่าวว่า ต่อไปจีนยังอาจที่จะขยายการควบคุมการส่งออกของตนไปถึงพวกสารประกอบอินเดียม (indium compounds) ซึ่งใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เช่นเดียวกัน

ยูเรเชีย กรุ๊ป (Eurasia Group) กิจการที่ปรึกษาซึ่งใช้นิวยอร์กเป็นฐาน กล่าวในรายงานวิจัยแบบย่อที่ส่งถึงลูกค้าว่า การควบคุมการส่งออกของจีนจะส่งผลกระทบแค่จำกัดต่อซัปพลายในทั่วโลก เมื่อพิจารณาจากขนาดขอบเขตของการแบนที่ประกาศออกมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.proactiveinvestors.co.uk/companies/news/1019714/china-to-curb-exports-on-two-semiconductor-making-metals-1019714.html)

รายงานนี้ระบุว่า จีนเพียงแค่ต้องการเตือนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ให้ระลึกเอาไว้ว่า จีนนั้นมีทางเลือกต่างๆ เพื่อการตอบโต้แก้เผ็ดที่สามารถหยิบมาใช้ได้ ถ้าหากพวกเขายังคงมีการเคลื่อนไหวบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเล่นงานแดนมังกรต่อไปอีก

โซลาร์เซลส์ ทำจากแกลเลียม อาร์เซไนด์ อยู่ด้านบนสุดของ Michigan Micro Mote เครื่องคอมพิวเตอร์เล็กจิ๋วที่สุดในโลก สำหรับเม็ดขาวๆ ที่อยู่รอบๆ คือเม็ดเกลือ
หมายเหตุผู้แปล

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เผยแพร่ข้อเขียนที่เป็นการสรุปข้อเท็จจริงสำคัญๆ เกี่ยวกับโลหะแกลเลียม และเจอร์เมเนียม (FACTBOX- Where are germanium and gallium produced, what are they used for?) ผู้แปลจึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้ ดังนี้


ทำความรู้จัก ‘เจอร์เมเนียม และแกลเลียม’ ผลิตกันที่ไหน และใช้ทำอะไรได้บ้าง?
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์

REFILE-FACTBOX- Where are germanium and gallium produced, what are they used for?
By REUTERS
07/07/2023

จีนแถลงเมื่อวันจันทร์ (3 ก.ค.) ว่า เพื่อเป็นการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ต่างๆ ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์บางชนิดซึ่งทำจากแกลเลียม (gallium) และเจอร์เมเนียม (germanium) โดยที่โลหะ 2 อย่างนี้ใช้ในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ต่อไปนี้ คือ ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับ แกลเลียม และเจอร์เมเนียม

เจอร์เมเนียม มาจากไหน?

สินแร่เจอร์เมเนียมในธรรมชาติเป็นสิ่งที่หายาก และเจอร์เมเนียมส่วนใหญ่ที่สุดเป็นผลพลอยได้ที่ออกมาจากการผลิตสังกะสี และจากเถ้าลอย หรือเถ้าปลิว ซึ่งมาจากการเผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า (coal fly ash)

เวลานี้ จีนเป็นผู้ผลิตเจอร์เมเนียมประมาณ 60% ของโลก ทั้งนี้ตามข้อมูลของกลุ่มพันธมิตรวัตถุดิบทรงความสำคัญยิ่งแห่งสมาคมอุตสาหกรรมยุโรป (European industry association Critical Raw Materials Alliance หรือ CRMA) ส่วนที่เหลือมาจากแคนาดา ฟินแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ

เมื่อปีที่แล้ว จีนส่งออกเจอร์เมเนียมทั้งแบบที่ยังไม่ได้ทำให้บริสุทธิ์ และที่ทำให้บริสุทธิ์แล้ว รวมทั้งสิ้น 43.7 ตัน ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรจีน

ขณะที่ในปีที่แล้วเช่นกัน มีการบริโภคเจอร์เมเนียมคิดเป็นมูลค่าคร่าวๆ เท่ากับ 39 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้น 10% จากปี 2021 ทั้งนี้ตามตัวเลขของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (U.S. Geological Survey หรือ USGS)

แล้วแกลเลียมล่ะมาจากไหน?

แกลเลียม สามารถพบได้ในปริมาณเล็กน้อยในสินแร่สังกะสี และในแร่บ็อกไซต์ ซึ่งก็คือสินแร่อะลูมิเนียม โลหะแกลเลียม ผลิตขึ้นมาในกระบวนการถลุงแร่บ็อกไซต์ให้เป็นอะลูมิเนียม ตามข้อมูลของ CRMA แกลเลียมราว 80% ผลิตขึ้นในจีน

แกลเลียมใช้ในการทำสารประกอบแกลเลียม อาร์เซไนด์ (gallium arsenide หรือ GaAs) ซึ่งใช้ในการผลิตพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เวลานี้มีบริษัทเพียง 2-3 แห่ง –แห่งหนึ่งในยุโรป ส่วนที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่นและในจีน— สามารถทำสารประกอบชนิดนี้ที่มีความบริสุทธิ์ตามที่กำหนดได้ CRMA บอกเอาไว้อย่างนี้ อย่างไรก็ดี นีโอ เพอร์ฟอร์มแมนซ์ แมตทีเรียลส์ (Neo Performance Materials) บริษัทแคนาดาแถลงว่าตนสามารถผลิตแกลเลียมซึ่งมีความบริสุทธิ์ตามที่กำหนดได้เหมือนกัน

ในปี 2022 จีนส่งออกแกลเลียมจำนวน 94 เมตริกตัน สูงขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า ตามตัวเลขของสำนักงานศุลกากรจีน

สหรัฐฯ นำเข้าโลหะแกลเลียม และแผ่นชิปแกลเลียม อาร์เซไนด์ (gallium arsenide wafers) ในปี 2022 เป็นมูลค่าประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ และ 200 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ตามข้อมูลของ USGS

ตามข้อมูลของ USGS เช่นกัน ประมาณการกันว่าในปีที่แล้วมีการผลิตแกลเลียมซึ่งผ่านการทำให้มีความบริสุทธิ์ในระดับสูง เป็นปริมาณราว 290,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 16% จากระดับ 250,000 กิโลกรัมในปี 2021

มีใครอีกบ้างที่ผลิตโลหะพวกนี้?

แกลเลียมขั้นปฐมปริมาณน้อย - ราวๆ 10 เมตริกตันในปี 2021- ผลิตโดยญี่ปุ่น รัสเซีย และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ตามข้อมูลของ USGS ขณะเดียวกัน มีแกลเลียมขั้นปฐมเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งได้มาจากการรีไซเคิล

เยอรมนี และคาซัคสถาน ก็เคยผลิตเหมือนกันในอดีตที่ผ่านมา และหลังจากราคาขยับสูงขึ้นในปี 2020 และ 2021 เยอรมนีประกาศว่าจะเริ่มกลับมาผลิตแกลเลียมอย่างขนานใหญ่อีก

บริษัท เทค รีซอร์เซส (Teck Resources หรือ TECKb.TO) ของแคนาดา คือผลิตเจอร์เมเนียนรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ โดยทำการถลุงวัสดุชนิดนี้จากโรงถลุง “เทรล” (Trail) ของบริษัทซึ่งอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา

บริษัทอินเดียม คอร์เปอเรชั่น (Indium Corporation) ที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ก็ผลิตเจอร์เมเนียมเหมือนกัน ขณะที่บริษัทยูมิคอร์ (Umicore หรือ UMI.BR) ของเบลเยียม ผลิตทั้งเจอร์เมเนียม และแกลเลียม

โลหะเหล่านี้ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

โลหะเหล่านี้ใช้ในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ประเภทความเร็วสูง รวมทั้งในภาคอุตสาหกรรมกลาโหม และภาคพลังงานหมุนเวียน

เจอร์เมเนียน เป็นโลหะสำคัญที่สุดสำหรับการทำเคเบิลไฟเบอร์ออปติก แล้วยังใช้ในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง และพลาสติกหลายๆ ชนิด ตลอดจนใช้เพื่อให้ทำหน้าที่แผ่รังสีอินฟราเรด

โลหะชนิดนี้และสารประกอบออกไซด์ของมัน ยังใช้ในการทำพวกอุปกรณ์ทางการทหาร อย่างเช่น กล้องส่องใช้มองเวลากลางคืน ตลอดจนทำตัวเซ็นเซอร์รับส่งสัญญาณภาพของดาวเทียม

นอกจากนั้น เจอร์เมเนียมยังเป็นส่วนสำคัญในพวกเทคโนโลยีที่มุ่งลดการใช้สารคาร์บอน อย่างเช่น โซลาร์เซลส์

แผ่นเซมิคอนดักเตอร์ที่ทำจากแกลเลียม อาร์เซไนด์ แทนที่จะเป็นแผ่นซิลิคอน สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีการรับส่งสัญญาณความถี่สูงๆ ได้ดีกว่า รวมทั้งสามารถต้านทานความร้อนได้ดีกว่าแผ่นชิปซิลิคอน ทั้งนี้ตามรายงานของ เวเฟอร์ เวิลด์ (Wafer World) บริษัทในสหรัฐฯ

นอกจากนั้น แผ่นชิปแกลเลียม อาร์เซไนด์ ยังสร้างเสียงขึ้นมาน้อยกว่าแผ่นเซมิคอนดักเตอร์ซิลิคอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน ณ ความถี่สูงๆ ทำให้มีประโยชน์มากในการทำเรดาร์ และอุปกรณ์สื่อสารทางวิทยุ ตลอดจนดาวเทียม และไฟแอลอีดี เวเฟอร์ เวิลด์ ระบุ

มีอย่างอื่นทดแทนได้หรือไม่?

ในการใช้งานบางอย่างบางด้าน แกลเลียมในแผ่นชิปอาร์เซไนด์ สามารถนำเอาซิลิคอน หรืออินเดียม (indium) มาใช้แทนได้ USGS บอกเอาไว้อย่างนั้น

เจอร์เมเนียมก็เช่นกัน USGS ระบุวา “ในการนำมาใช้งานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างบางด้าน ซิลิคอนสามารถใช้แทนเจอร์เมเนียนได้โดยที่มีราคาแพงน้อยกว่าด้วย”

ขณะเดียวกัน “สังกะสี เซเลไนด์ (Zinc selenide) และแก้วเจอร์เมเนียม (germanium glass) สามารถใช้แทนโลหะเจอร์เมเนียมได้ ในระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีอินฟราเรด ทว่าบ่อยครั้งทีเดียวที่การทำงานจะด้อยลงไป”

แกลเลียม-เจอร์เมเนียม ราคาเท่าไหร่?

แกลเลียมที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% ในประเทศจีน (GA-MM-SHMET) มีราคา 1,775 หยวน (245 ดอลลาร์) ต่อกิโลกกรัมในวันจันทร์ (3 ก.ค.) สูงขึ้น 5.97% จากการซื้อขายครั้งก่อน และถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ทั้งนี้ตามข้อมูลของตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Metal Exchange) ที่แสดงผ่าน Refinitiv Eikon

แท่งเจอร์มาเนียมของจีน (GE-MM-SHMET) มีราคาสุดท้ายที่ 9,150 หยวน (1,264 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัมในวันจันทร์ (3 ก.ค.) ทั้งนี้ตามข้อมูลของตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Metal Exchange) ที่แสดงผ่าน Refinitiv Eikon

เรื่องการควบคุมส่งออกเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่?

เมื่อปี 2010 จีนประกาศจำกัดโควตาการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธให้ญี่ปุ่น ภายหลังกรณีพิพาทด้านดินแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ส่งผลให้ราคาของแรร์เอิร์ธพุ่งสูง และญี่ปุ่นต้องดิ้นรนเสาะหาแหล่งซัปพลายแห่งอื่นๆ ปักกิ่งแถลงในเวลานั้นว่า การที่ต้องจำกัดการส่งออกสืบเนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม

แม่เหล็กแรร์เอิร์ธ (Rare earth magnets) นั้น ใช้ในการทำกังหันลม ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ด้านกลาโหม อย่างเช่น ขีปนาวุธนำทางด้วยเลเซอร์

จีนเคยแสดงท่าทีเป็นนัยๆ ในหลายๆ โอกาสว่าตนอาจจะระงับการส่งออกแรร์เอิร์ธอีกก็ได้ รวมทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น