หลิน เจียหลง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ระบุวันนี้ (19 ก.ค.) ว่าไทเปจำเป็นต้อง “พึ่งตนเอง” ในด้านความมั่นคง และจะทุ่มงบประมาณเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อรับมือภัยคุกคามจีน หลังอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเรียกร้องให้ไทเปจ่ายเงินให้สหรัฐฯ เป็นค่าปกป้องเกาะไต้หวัน
ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้แทนพรรครีพับลิกันลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ กล่าวผ่านบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ว่า “ไต้หวันควรจ่ายค่าคุ้มครองให้เรา” และยังกล่าวหาเกาะประชาธิปไตยแห่งนี้ว่า “แย่งธุรกิจชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปจากชาวอเมริกัน”
สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักในเวทีโลกและซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่สำหรับไต้หวัน ซึ่งถูกจีนอ้างว่าเป็นดินแดนในอธิปไตย และแม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต แต่วอชิงตันก็มีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องสนับสนุนไต้หวันในด้านการป้องกันตนเอง
กระนั้นก็ตาม ไต้หวันไม่ได้มีข้อตกลงกลาโหมแบบเป็นทางการใดๆ กับสหรัฐฯ เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มี เนื่องจากวอชิงตันได้ยกเลิกสนธิสัญญาฉบับเดิมกับไต้หวันไปเมื่อปี 1979 เพื่อหันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่ง
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เคยสร้างความโมโหโกรธาให้จีนในปี 2022 ด้วยการพูดว่ากองทัพสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหากถูกจีนโจมตี ซึ่งถือเป็นการหันเหจากนโยบาย “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ที่สหรัฐอเมริกาใช้กับไต้หวันมาโดยตลอด
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับคำพูดของทรัมป์ รัฐมนตรี หลิน บอกกับสื่อที่กรุงไทเปว่า “เราให้ความสนใจอย่างยิ่ง” และย้ำว่าความสัมพันธ์ไต้หวัน-สหรัฐฯ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่พรรคการเมืองหลักทั้ง 2 พรรคในอเมริกามีจุดยืนสนับสนุนไต้หวันเรื่อยมา
“ผมคิดว่าทุกคนมีความเห็นตรงกันในประเด็นหลัก นั่นคือภัยคุกคามจากจีน” หลิน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับการก้าวสู่อำนาจของประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. กล่าว
“อันที่จริงในแง่ของการป้องกันชาติ เราจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง... นี่คือเงื่อนไขเบื้องต้น ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ไต้หวันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เราก็ยืนหยัดต่อต้านภัยคุกคามจีนเพียงลำพังมาโดยตลอด”
หลิน เผยด้วยว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้ทุ่มงบกลาโหมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าและปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ของจีดีพี
“ผมคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เขากล่าว
หลิน ย้ำว่าทุกประเทศจะต้อง “ทำงานให้หนัก” เนื่องจากจีนก็ทุ่มงบประมาณพัฒนากองทัพอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ขณะที่ไต้หวันกำลังเร่งปฏิรูปกองทัพในด้านต่างๆ เช่น ขยายเวลาในการเกณฑ์ทหารภาคบังคับจาก 4 เดือนเป็น 1 ปี เป็นต้น
การยกระดับกองทัพให้ทันสมัยถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของไต้หวัน ซึ่งมีการสร้างเรือดำน้ำของตนเองด้วย และรัฐบาลไทเปเคยย้ำหลายครั้งว่าไต้หวันต้องรู้จักพึ่งตัวเองในด้านการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทเปสูญเสียพันธมิตรทางการทูตให้จีนมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา : รอยเตอร์