xs
xsm
sm
md
lg

‘ไล่ ชิงเต๋อ’ ชี้จีนมุ่ง ‘ทำลายไต้หวัน’ เป็นเป้าหมายระดับชาติ ด้านบิ๊กกลาโหมไทเปยัน ‘ไม่ต้องการทำสงคราม’ กับปักกิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุวานนี้ (17 มิ.ย.) ว่าไต้หวัน “ไม่ได้ต้องการทำสงครามกับจีน” และการเสริมกำลังอาวุธนั้นก็เป็นไปเพื่อป้องกันตนเองและเพิ่มศักยภาพในการป้องปรามเพื่อให้การบุกยึดเกาะแห่งนี้เป็นเรื่องยากลำบากขึ้นสำหรับจีนเท่านั้น

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกลาโหม เวลลิงตัน กู้ (Wellington Koo) มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ ออกมากล่าวหาจีนว่ามุ่ง “ทำลายล้าง” (elimination) ไต้หวันเป็นเป้าหมายแห่งชาติ และเรียกร้องทหารไต้หวันให้ปฏิเสธแนวคิดแบบคนขี้แพ้ที่ว่า “สงครามครั้งแรก คือสงครามครั้งสุดท้าย” หรือทฤษฎีที่ว่าหากจีนเปิดสงครามรุกรานเต็มรูปแบบขึ้นมาจริงๆ ไต้หวันย่อมไม่มีทางรอด

ไต้หวันซึ่งปกครองตนเองด้วยระบอบประชาธิปไตยเผชิญแรงกดดันทั้งทางการเมืองและการทหารจากจีนอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปักกิ่งหวังบีบให้ไต้หวันยอมรับว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยของตนเอง

ผู้สื่อข่าวที่รัฐสภาได้สอบถาม กู้ วานนี้ (17) ว่า หากปราศจากความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ไต้หวันจะ “ต้านทาน” การบุกของจีนได้นานแค่ไหน? ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมผู้นี้ก็ตอบว่า นั่น “ไม่ใช่ประเด็นทางยุทธศาสตร์” หลักของไต้หวัน

“เราจะต้านทานได้นานแค่ไหนไม่ใช่ประเด็น ยุทธศาสตร์และสมมติฐานของเราคือการทำสงครามแบบอสมมาตร (asymmetric warfare) โดยสร้างระบบป้องกันตนเองที่ซับซ้อนซึ่งจะทำให้ศักยภาพการรุกรานของจีนอ่อนแอลง” เขากล่าว

ในส่วนของนโยบายปฏิรูปกองทัพ กู้ ยืนยันว่าไต้หวันส่งเสริมแนวคิดสงครามแบบอสมมาตรเพื่อให้กองกำลังไต้หวันที่มีขนาดเล็กกว่าจีนหลายเท่ามีความคล่องตัวสูงและยากแก่การโจมตี ตัวอย่างเช่น การนำระบบขีปนาวุธเคลื่อนที่และโดรนมาใช้ เป็นต้น

จีน ขนานนาม ไล่ ชิงเต๋อ ว่าเป็น “นักแบ่งแยกดินแดนที่อันตราย” และเสี่ยงที่จะก่อความขัดแย้งขึ้นด้วยการพยายามผลักดันไต้หวันให้เป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ ไล่ ย้ำว่าอนาคตของไต้หวันมีเพียงชาวไต้หวันเท่านั้นที่จะตัดสินใจ และเคยยื่นข้อเสนอเปิดเจรจากับปักกิ่งมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธตลอด

กู้ เอ่ยในทำนองเดียวกันว่า จีนคือฝ่ายที่สร้างปัญหาและก่อความตึงเครียดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน

“เราไม่เคยต้องการสงคราม และเรากล่าวชัดเจนมาตลอดว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมดของเราคือการป้องกันตนเองเท่านั้น” เขากล่าว

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ สร้างความเดือดดาลให้แก่จีนด้วยคำพูดที่สื่อในทำนองว่าสหรัฐฯ พร้อมจะยื่นมือเข้ามาปกป้องหากไต้หวันโดนโจมตี ซึ่งถือเป็นการหันเหไปจากจุดยืนของรัฐบาลอเมริกันชุดก่อนๆ ที่ยึดหลัก “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ในเรื่องไต้หวันมาโดยตลอด

กู้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของความกำกวมทางยุทธศาสตร์ที่วอชิงตันใช้อยู่นั้นก็เพื่อให้จีนวางแผนรุกรานไต้หวันได้ยากขึ้น

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น