วังเครมลินในวันจันทร์ (24 มิ.ย.) กล่าวโทษตรงๆ ไปที่สหรัฐฯ สำหรับเหตุยูเครนโจมตีไครเมีย ด้วยขีปนาวุธ ATACMS ที่จัดหาให้โดยอเมริกา ซึ่งคร่าชีวิตชาวบ้านอย่างน้อย 4 ราย และบาดเจ็บ 151 คน และมอสโกแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการไปยังเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ว่าการแก้แค้นจะตามมาหลังจากนี้
สงครามในยูเครนโหมกระพือวิกฤตในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก และพวกเจ้าหน้าที่รัสเซียเคยเตือนว่าเวลานี้ความขัดแย้งเข้าสู่ขั้นลุกลามบานปลายอันตรายที่สุดเท่าที่เคยมีมา
อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษสหรัฐฯ โดยตรงสำหรับเหตุโจมตีไครเมีย ซึ่งรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแต่เพียงฝ่ายเดียวในปี 2014 แม้นานาชาติยังคงพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ผลักสถานการณ์ให้อยู่ในขั้นลุกลามที่เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้นไปอีก
"พวกคุณต้องไปถามพวกโฆษกรัฐบาลในยุโรป เหนือสิ่งอื่นๆ คือพวกโฆษกในวอชิงตัน ว่าทำไมรัฐบาลของพวกเขาถึงเข่นฆ่าเด็กๆ ชาวรัสเซีย" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินบอกกับพวกผู้สื่อข่าว
มีเด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 2 รายในเหตุโจมตีเมืองเซวาสโตโพล เมื่อวันอาทิตย์ (23 มิ.ย.) จากคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่รัสเซีย ในขณะที่ภาพบนสื่อสังคมออนไลน์พบเห็นพวกนักท่องเที่ยวพากันวิ่งหนีออกจากชายหาดแห่งหนึ่งใกล้เซวาสโตโพล และผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวขึ้นเปลหามออกมา
เคียฟปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อเหตุโจมตีดังกล่าว แต่รัสเซียกล่าวหาสหรัฐฯ เป็นคนป้อนอาวุธแก่ยูเครน ขณะเดียวกัน กองทัพอเมริกายังช่วยเล็งเป้าหมายและมอบข้อมูลต่างๆ ด้วย
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียก ลีนน์ เทรซี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เข้าพบเพื่อประท้วง และบอกกับเธอว่า "วอชิงตันกำลังทำสงครามลูกผสมกับรัสเซีย และแท้จริงแล้วได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งแล้ว" พร้อมเน้นย้ำว่า "มาตรการตอบโต้จะมีตามมาอย่างแน่นอน"
เทรซี บอกว่าวอชิงตันรู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตใดๆ ของพลเรือน ส่วน แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวว่า วอชิงตันมอบอาวุธแก่ยูเครน เพื่อที่ยูเครนจะสามารถปกป้องดินแดนอธิปไตยของตนเอง ในนั้นรวมถึงไครเมีย
ด้าน พล.ต.ชาร์ลี ไดเอทซ์ โฆษกเพนตากอน ระบุว่า "ยูเครนเป็นคนตัดสินใจเป้าหมายต่างๆ ด้วยตนเอง และดำเนินปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ด้วยตนเอง"
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เน้นย้ำความเสี่ยงของสงครามในวงกว้างกว่านี้ ในนั้นเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก แม้เขาเคยบอกว่ารัสเซียไม่ต้องการมีความขัดแย้งกับพันธมิตรนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิเสธส่งทหารอเมริกาสู้รบในยูเครน และบอกไม่นานหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานเคียฟเต็มรูปแบบในปี 2022 ว่าการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างนาโตกับรัสเซียอาจหมายถึงสงครามโลกครั้งที่ 3
ปูติน นำเสนอสงครามยูเครน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้อย่างกว้างๆ กับสหรัฐฯ ซึ่งเขากล่าวหาว่าเพิกเฉยผลประโยชน์ของมอสโก ตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 จากนั้นก็วางแผนฉีกรัสเซียเป็นชิ้นๆ และยึดทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซีย
หลังจากสหรัฐฯ ไฟเขียวให้ยูเครนใช้อวุธสหรัฐฯ บางอย่างโจมตีโดยตรงเข้าใส่ดินแดนรัสเซีย ทาง เครมลิน ส่งสัญญาณว่าพวกเขามองความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายอย่างร้ายแรง แม้วอชิงตันยังคงห้ามเคียฟ จากการใช้ขีปนาวุธ ATACMS ที่มีพิสัยทำการสูงสุด 300 กิโลเมตร และอาวุธพิสัยไกลอื่นๆ ของสหรัฐฯ โจมตีดินแดนรัสเซียก็ตาม
ปูติน ออกคำสั่งให้ฝึกซ้อมในทางปฏิบัติการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี บ่งชี้ว่ารัสเซียอาจประจำการขีปนาวุธทั่วไปภายในรัศมีที่โจมตีถึงสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมถึงยังได้บรรลุข้อตกลงกลาโหมร่วมกับเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดีปูติน ระบุในวันพฤหัสบดี (20 มิ.ย.) ว่ารัสเซียอาจจัดหาอาวุธแก่เกาหลีเหนือ ในสิ่งที่เขาบ่งชี้ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันต่อกรณีที่ตะวันตกป้อนอาวุธแก่ยูเครน
เมื่อถามว่ารัสเซียจะให้คำตอบอย่างไรต่อการโจมตีในไครเมีย ทาง เปสคอฟ ได้ย้อนคำกล่าวของปูติน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เกี่ยวกับแผนประจำการขีปนาวุธธรรมดาทั่วไป "แน่นอน ความเกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ในการสู้รบ ผลก็คือความสงบสุขของชาวรัสเซียกำลังหายไป ไม่อาจเป็นอย่างอื่นได้ ยกเว้นแต่ต้องเจอผลสนอง ซึ่งมันจะเป็นไปในรูปแบบไหน เวลาจะให้คำตอบ"
(ที่มา : รอยเตอร์)