xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สหรัฐฯ เล็งดึงญี่ปุ่นเข้า ‘นาโตเอเชีย’ จับมือพัฒนาอาวุธร่วมกับ AUKUS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาดึงพันธมิตรสำคัญในเอเชียตะวันออกอย่าง “ญี่ปุ่น” มาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านกลาโหมภายใต้กรอบการทำงานของกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง AUKUS ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ในความเคลื่อนไหวที่อาจกระพือความตึงเครียดกับจีน

สัปดาห์นี้หนังสือพิมพ์นิกเกอิเอเชียของญี่ปุ่นอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลโตเกียวซึ่งระบุว่า วอชิงตันกำลังหารือกับเจ้าหน้าที่ของลอนดอน และแคนเบอร์รา โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งตรงกับช่วงที่นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแรกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมกรอบการทำงานแบ่งปันเทคโนโลยีทหารไตรภาคี AUKUS ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2021

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นคนหนึ่งให้ข้อมูลในวันพุธ (6 มี.ค.) ว่า รัฐบาล “มีความสนใจ” อย่างจริงจังที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ในด้านเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าหลังจากนี้โตเกียวน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตร AUKUS มากยิ่งขึ้น

ด้านเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำออสเตรเลียก็ให้ข้อมูลกับเอเอฟพีคล้ายๆ กันว่า รัฐบาลแดนปลาดิบสนับสนุนบทบาทของ AUKUS ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะยกระดับความร่วมมือ โดยที่ผ่านมานั้นญี่ปุ่นได้รับทราบรายละเอียดการพูดคุยระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ ในหลากหลายประเด็น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และศักยภาพในการปฏิบัติการใต้ทะเล (underwater capabilities) เป็นต้น

“ญี่ปุ่นพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือในด้านกลาโหมและความมั่นคงกับประเทศหุ้นส่วนอย่างออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอังกฤษ เพื่อสร้างอินโดแปซิฟิกที่มีความเสรีและเปิดกว้างอย่างแท้จริง” คำแถลงจากสถานทูตญี่ปุ่น ระบุ

AUKUS เป็นกลุ่มความร่วมมือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 โดยกำหนดเป้าหมายเชิงปฏิบัติอยู่ 2 ประการหลัก ได้แก่ ‘Pillar 1’ ซึ่งเป็นการจัดหาหมู่เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย และ ‘Pillar 2’ ซึ่งจะเน้นพัฒนาศักยภาพในการทำสงครามแบบก้าวหน้า ครอบคลุมทั้งเรื่องเอไอ โดรนใต้ทะเล และเทคโนโลยีการทำสงครามแบบไฮเปอร์โซนิกและอิเล็กทรอนิกส์

สถาบัน USC Global Policy Institute เคยให้ความเห็นไว้ในปี 2022 ว่า AUKUS จะเป็นเครื่องมือด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ใช้ต่อรองในกรณีที่เกิดการเผชิญหน้า และยังช่วยป้องปราม “จีน” ให้ต้องคิดทบทวนหนักขึ้น หากจะตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทะเลที่ก้าวร้าว

นิกเกอิรายงานเมื่อวันเสาร์ (2) ว่า AUKUS จะพิจารณาคัดเลือกโครงการและภาคส่วนต่างๆ ที่สามารถร่วมมือกับญี่ปุ่นได้ ทว่าจะไม่รวมถึงเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ อีกทั้งยังไม่มีแผนที่จะเชิญญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ AUKUS พยายามขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก

ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย แถลงเมื่อเดือน ก.พ. ว่า แม้การขยายกลุ่มพันธมิตร AUKUS จะยังคงเป็น “เจตนารมณ์ในระยะยาว” ทว่าตนมีแผนจะส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปยัง “นิวซีแลนด์” ในอนาคตอันใกล้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของข้อตกลงกลาโหมกับ AUKUS ให้นิวซีแลนด์รับทราบ


ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรี คริสโตเฟอร์ ลูซอน แห่งนิวซีแลนด์ ก็ได้ออกมาเปรยเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่า รัฐบาลกีวีกำลังพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของการเข้าร่วมข้อตกลงกลาโหมกับ AUKUS เพื่อแชร์เทคโนโลยีทางทหาร ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ “กฎระเบียบสากล” กำลังถูกท้าทายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สภาสามัญชนของอังกฤษก็ได้จัดทำร่างคำแถลงเมื่อปีที่แล้วว่า นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ถือเป็น “แคนดิเดต” ที่เหมาะสมจะร่วมมือกับ AUKUS ตามวัตถุประสงค์ของ Pillar 2

นิกเกอิอ้างแหล่งข่าวซึ่งระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีความเคลือบแคลงเกี่ยวกับการรับประเทศอื่นๆ เข้าไปในข้อตกลง AUKUS โดยเกรงว่าจะก่อความยุ่งยากซับซ้อนในด้านการแบ่งปันเทคโนโลยี และทำให้การพัฒนาต้องล่าช้าออกไป ขณะที่ในส่วนของญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่โตเกียวจะต้องเร่งสร้างความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในขอบเขตด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ก่อนที่จะสามารถสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธภายใต้ข้อตกลง AUKUS ได้อย่างเต็มรูปแบบ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อธิบายกับนิกเกอิว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์มีความสำคัญ เพราะสหรัฐฯ ตระหนักดีว่าบรรดาชาติศัตรูอย่างเช่น “จีน” อาจเล็งเห็นโอกาส และมีความพยายามที่จะเข้าถึงข้อมูลด้านการป้องกันตนเองของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรผ่านการแลกเปลี่ยนด้านกลาโหม

รัฐบาลจีนประณามข้อตกลง AUKUS ตั้งแต่แรกเริ่มว่ามีเป้าหมายในการช่วยให้ออสเตรเลียได้ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งก่อความเสี่ยงร้ายแรง และเป็นภัยคุกตามต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากทางสิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้กล่าวระหว่างไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียที่นครเมลเบิร์นในสัปดาห์นี้ว่า สิงคโปร์เต็มใจที่จะเปิดบ้านต้อนรับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ผลิตขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือของ AUKUS

“เมื่อใดก็ตามเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของออสเตรเลียพร้อมใช้งาน เราก็ยินดีต้อนรับพวกเขาที่ฐานทัพเรือชางงี” ลี กล่าว

ผู้สังเกตการณ์มองว่า ถ้อยแถลงของ ลี บ่งบอกถึงเป้าหมายของสิงคโปร์ที่ต้องการจะเป็น “จุดเชื่อมต่อทางทหาร” ให้สหรัฐฯ และออสเตรเลีย และยังสะท้อนให้เห็นว่าประเทศแห่งนี้มีนโยบายเปิดกว้างต่อ AUKUS มากกว่าเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งยังคงมีจุดยืนแตกต่างกันต่อการสยายอิทธิพลทางทหารของจีนในภูมิภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น