xs
xsm
sm
md
lg

โลกคุกรุ่น! รัสเซียชี้สหรัฐฯ ประจำการขีปนาวุธในเยอรมนี คือสัญญาณสงครามเย็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ยกย่องการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่เตรียมดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนประจำการขีปนาวุธพิสัยไกลในประเทศของเขา ส่วนหนึ่งในก้าวย่างยกระดับป้องปรามรัสเซีย แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวโหมกระพือความเดือดดาลจากวังเครมลิน ที่ชี้ว่ามันเป็นสัญญาณของการเปิดศึกสงครามเย็นกับมอสโก

การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเป็นการนำขีปนาวุธร่อนของอเมริกากลับสู่เยอรมนีอีกรอบ หลังจากห่างหายไปนาน 20 ปี แต่ขณะเดียวกัน มันก็โหมกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์แม้กระทั่งในบรรดาสมาชิกพรรคโซเชียล เดโมแครต ของโชลซ์

ในส่วนของวังเครมลิน ก็วิพากษ์วิจารณ์การประจำการขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในเยอรมนีเช่นกัน โดยบอกว่ามันกำลังผลักรัสเซียและตะวันตกเข้าสู่การเผชิญหน้าในรูปแบบสงครามเย็น

อย่างไรก็ตาม โชลซ์ ปกป้องการตัดสินใจดังกล่าว โดยบอกกับที่ประชุมซัมมิตนาโตในวอชิงตัน ว่า "มันเป็นบางอย่างของการป้องปรามและรับประกันสันติภาพ มันเป็นการตัดสินใจที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญในช่วงเวลาที่เหมาะสม"

สหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันพุธ (10 ก.ค.) ว่าการประจำการขีปนาวุธพิสัยไกลในเยอรมนีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จะเริ่มขึ้นในปี 2026 ขณะที่ทำเนียบขาวระบุว่าในท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาจะหาทางประจำการถาวรอาวุธเหล่านั้นในเยอรมนี และบรรดาขีปนาวุธดังกล่าวจะมีพิสัยทำการไกลกว่าอย่างมากกว่าระบบอาวุธของสหรัฐฯ ที่ประจำการในยุโรปในปัจจุบัน

ถ้อยแถลงร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับรัฐบาลเยอรมนี ระบุว่า "การประจำการแสนยานุภาพล้ำสมัยเหล่านี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาของอเมริกาที่มีต่อนาโต และจุดยืนสนับสนุนการป้องปรามแบบบูรณการของยุโรป"

บรรดาระบบอาวุธที่จะประจำการในเยอรมนี จะรวมไปถึงขีปนาวุธต่อต้านทางอากาศ SM-6 ซึ่งมีพิสัยทำการสูงสุด 460 กิโลเมตร และขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก ซึ่งมีรายงานว่าสามารถโจมตีเป้าหมายต่างๆ ได้ไกลกว่า 2,500 กิโลเมตร ตลอดจนพวกอาวุธความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป)

แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวนี้เรียกเสียงเดือดดาลมาจากรัสเซีย โดยวังเครมลินในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ชี้ว่าแผนประจำการขีปนาวุธพิสัยไกลอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของสหรัฐฯ ในเยอรมนี จะนำมาสู่การเผชิญหน้าในรูปแบบสงครามเย็นระหว่างรัสเซียกับตะวันตก

"เรากำลังก้าวอย่างต่อเนื่องเข้าหาสงครามเย็น" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินกล่าวกับผู้สื่อข่าวทีวีของสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐช่องหนึ่ง "มันเข้าองค์ประกอบทั้งหมดของสงครามเย็น การเผชิญหน้าโดยตรงกำลังหวนกลับมา"

เขาบอกว่าการตัดสินใจของวอชิงตัน มอบเหตุผลแก่รัสเซียทั้งหมดทั้งมวลในการเติมเต็มทุกเป้าหมายของปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

บรรดาชาติสมาชิกนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ ได้ยกระดับการป้องกันตนเองในยุโรป ตามหลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครน ชาติเพื่อนบ้าน เมื่อปี 2022

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น