xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อนฝูงขยาด! โปแลนด์-เยอรมนีชิ่งคนละทาง ไม่เอาแผน 'มาครง' ส่งทหารรบกับรัสเซียในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วอร์ซอจะไม่ส่งทหารเข้าไปยังยูเครน แต่ยังคงจะเดินหน้าช่วยเหลือเคียฟผ่านหนทางอื่นๆ จากคำชี้แจงของรัฐมนตรีกลาโหมโปแลนด์ ความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเยอรมนี ที่เรียกร้องให้เลิกพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการส่งกองกำลังนาโตเข้าไปยูเครน เชื่อไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นจริงๆ

รัฐมนตรีกลาโหมโปแลนด์ถูกถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่นาโตอาจประจำการทหารยูเครน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TVN24 ในวันพฤหัสบดี (7 มี.ค.) ซึ่งในเรื่องนี้แม้เขาหลีกเลี่ยงพูดพาดพิงถึงพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ในภาพรวม แต่เน้นย้ำว่ากองทัพโปแลนด์จะไม่เข้าไปอยู่ในยูเครน "เราจะช่วย เราจะเดินหน้าสนับสนุน จากกำลังทำการบริจาคยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมในจำนวนที่มากมาย"

นอกจากนี้ วอร์ซอยังสนับสนุนและมีส่วนร่วมในโครงการร่วมต่างๆ ทั้งหมดทั้งมวลของนาโต อย่างเช่นมอบข่าวกรองและช่วยฝึกฝนกองกำลังยูเครน และรัฐมนตรีกลาโหมรายนี้ได้ให้คำจำกัดความ โปแลนด์ในฐานะผู้นำร่วมเคียงข้างเยอรมนีของพันธมิตร ที่จัดหารถถังและยานยนต์หุ้มเกราะอื่นๆ ป้อนแก่เคียฟ

รัฐมนตรีกลาโหมโปแลนด์กล่าวว่าการอดทนสนับสนุนยูเครน จะเป็นประโยชน์กับตัวโปแลนด์เอง และวอร์ซอในฐานะเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง "ทุกโครงการริเริ่มเหล่านี้ ล้วนมีเป้าหมายทำให้โปแลนด์มีความปลอดภัย การช่วยเหลือกองทัพยูเครนคือการลงทุนในด้านความมั่นคงของโปแลนด์"

โปแลนด์เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนยูเครนตัวยง ในยามที่เคียฟกำลังสู้รบกับรัสเซียในปัจจุบัน วอร์ซอไหลบ่าความช่วยเหลือด้านการทหารเข้าไปยังประเทศแห่งนี้และเรียกร้องชาติตะวันตกอื่นๆ ให้ทำตาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายดูมึนตึง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศของโปแลนด์ และการประท้วงของเกษตรกรท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการไหลบ่าเข้ามาของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรราคาถูกจากยูเครน

ความเห็นของรัฐมนตรีกลาโหมโปแลนด์ มีขึ้นหลังจากบรรดาสมาชิกนาโตชาติอื่นๆ ทยอยกันออกมาปฏิเสธเป็นระลอกต่อข่าวลือที่ว่าพวกเขามีแผนลับๆ ที่จะประจำการทหารสู้รบในยูเครน ซึ่งมีต้นตอจากถ้อยแถลงหนึ่งของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่บอกว่า "ตะวันตกไม่อาจตัดความเป็นไปได้ใดๆ ในการส่งทหารเข้าไปยังยูคเรน"

แม้ถ้อยคำดังกล่าวของมาครง ถูกกระแสตีกลับจากชาติสมาชิกนาโตทั้งหมด แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ทำให้เขาสั่นคลอน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสยิ่งใช้คำพูดที่ก้าวร้าวยิ่งขึ้น และยืนยันว่าบรรดาชาติยุโรปตะวันตก จำเป็นต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์และมีความกล้าหาญในยามจำเป็น

อย่างไรก็ตาม บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี กล่าวในวันศุกร์ (8 มี.ค.) ว่าการพูดคุยเกี่ยวกับการส่งทหารราบนาโตเข้าไปยังยูเครน จำเป็นต้องยุติลงได้แล้ว เพราะว่าไม่มีใครที่ต้องการให้มันเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

"ไม่มีใครต้องการเห็นทหารราบในสมรภูมิในยูเครน" พิสโตริอุสกล่าว พร้อมบ่งชี้ว่าควรยุติการถกเถียงในประเด็นนี้ได้แล้ว "การพูดคุยในเรื่องนี้ต้องหยุดลงในเวลานี้ ไม่มีใครสนับสนุนประจำการทหารในภาคสนาม"

นอกจากนี้ พิสโตริอุสโต้แย้งว่าสิ่งที่ตะวันตกจำเป็นต้องทำมากกว่าก็คือ ยกระดับการส่งมอบกระสุนและยุทโธปกรณ์แก่กองทัพยูเครน "เยอรมนีคือผู้นสนับสนุนรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยูเครนจากทั่วโลก เราได้บริจาคไป 7,500 ล้านยูโร แต่ในปีนี้ปีเดียว" เขากล่าว พร้อมระบุ เบอร์ลินได้ส่งมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศ ปืนใหญ่ และทุกๆ อย่างตามที่ยูเครนต้องการ

ในเรื่องเกี่ยวกับกรณีที่เยอรมนีตัดสินใจไม่ส่งขีปนาวุธพิสัยไกลทอรัสแก่ยูเครน ทาง พิสโตริอุส อ้างว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นก้าวย่างที่เลยเถิดเกินไป "เราเน้นย้ำมาตลอดว่าขีปนาวุธพิสัยไกลไม่ได้ตัดสินสงคราม" เขาบอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเคยกล่าวว่า "นี่คือเส้นตายหนึ่งที่เราจะไม่มีวันข้าม และมันจะทำให้เรากลายเป็นผู้มีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม"

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น