xs
xsm
sm
md
lg

วุ่นแน่!! เลือกตั้งฝรั่งเศสรอบสองพลิกโผ ฝ่ายซ้ายคว้าชัย ดับฝันพรรคขวาจัด แต่ก็ไร้ผู้ชนะขาด ส่อแววสภาอลเวง ตั้ง รบ.ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้นำซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกผู้สนับสนุนฝ่ายซ้าย ชุมนุมกันเพื่อแสดงความยินดีปรีดา อยู่ด้านหน้าของอนุสาวรีย์ Le Monument a la Republique ในกรุงปารีส เมื่อคืนวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) ภายหลังทราบผลเบื้องต้นของการเลือกตั้งรอบสอง สมาชิกสมัชชาแห่งชาติหรือสภาล่างของฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายขวาจัดไม่ได้อันดับหนึ่ง
เลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบสองพลิกโผ กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายตีตื้นกวาดที่นั่งได้มากที่สุด ดับฝันพรรคขวาจัดที่มาแรงสุดขีดในการเลือกตั้งรอบแรก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้ยังคงส่งผลให้แดนน้ำหอมต้องเผชิญสภาพไม่มีกลุ่มใดครองเสียงข้างมากในสภา และส่อเค้าจะเกิดภาวะอัมพาตทางการเมือง

ความอลหม่านทางการเมืองจากผลการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือก็คือสภาล่างของฝรั่งเศส รอบสอง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) ที่ผ่านมา ยังมีหวังทำให้ตลาดการเงินและเศรษฐกิจฝรั่งเศสปั่นป่วนตามไปด้วย ตลอดจนมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสงครามในยูเครน ความเคลื่อนไหวทางการทูตในระดับโลก และเสถียรภาพของยุโรป

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ประกาศจัดการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติก่อนกำหนดถึง 3 ปี หลังจากพรรคเนชันแนล แรลลี (อาร์เอ็น) พรรคขวาจัดที่มี มารีน เลอ เปน เป็นผู้นำโกยคะแนนในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป โดยกำหนดให้เลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. และรอบสองวันที่ 7 ก.ค. เพื่อให้คนฝรั่งเศสแสดงจุดยืนทางการเมือง

แต่ดูเหมือนว่า การเสี่ยงวางเดิมพันของเขาคราวนี้ส่งผลลบอย่างหนักให้แก่กลุ่มการเมืองฝ่ายกลางของเขาเอง โดยผลการเลือกตั้งที่ออกมาชัดเจนแล้วเมื่อผ่านการเลือกตั้งทั้งสองรอบ แนวร่วมสายกลางของมาครงได้ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติรวมแล้วราว 160 กว่าที่นั่ง เข้าป้ายเป็นอันดับสอง ขณะที่กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้าย นิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ (เอ็นเอฟพี) รวมแล้วได้ไปกว่า 180 ที่นั่ง ขึ้นอันดับหนึ่ง และอาร์เอ็น ซึ่งรวมแล้วได้กว่า 140 ที่นั่ง อยู่ในอันดับสาม

ถึงแม้ความหวาดกลัวว่า อาร์เอ็น ซึ่งมีคะแนนมาแรงได้อันดับหนึ่งในการเลือกตั้งรอบแรก จนทำท่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลขวาจัดขึ้นมาในฝรั่งเศสได้เป็นครั้งแรกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ได้ทำให้ทางฝ่ายกลางและฝ่ายซ้ายยินยอมหันมาร่วมมือกันเข้าสกัดกั้นจนประสบความสำเร็จ โดย อาร์เอ็น หล่นมาอยู่ที่ 3 เท่านั้น ทว่ากลุ่มซึ่งเป็นที่หนึ่งยังคงเป็นกลุ่มฝ่ายซ้าย ไม่ใช่กลุ่มฝ่ายกลางอยู่ดี แล้วที่สำคัญคือไม่มีกลุ่มใดที่สามารถครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติ นั่นคือได้ 289 ที่นั่งขึ้นไป รวมทั้งไม่มีใครที่จะก้าวขึ้นเป็นคู่แข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างชัดเจน

ผู้คนจำนวนมากในฝรั่งเศสที่มีจุดยืนต่อต้านฝ่ายขวาจัด ต่างชอบอกชอบใจกับผลการเลือกตั้งคราวนี้ และฝูงชนที่ยินดีปรีดาได้ออกมาชุมนุมกันทางด้านตะวันออกของกรุงปารีสเพื่อเฉลิมฉลองความปราชัยของอาร์เอ็น ทว่าการเจรจาหารือเพื่อก่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีหวังจะก่อให้เกิดการต่อรองและแตกแยกกันอย่างหนักยังเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ขณะที่เหลือเวลา 3 สัปดาห์เท่านั้นก่อนปารีสจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก

นายกรัฐมนตรีเกเบรียล อัตตาล ซึ่งอยู่ในกลุ่มฝ่ายกลางของมาครง ได้เดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อยื่นใบลาออกตามธรรมเนียม แต่ได้รับคำขอร้องจากประธานาธิบดีให้รักษาการในตำแหน่งไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง อีกทั้งเป็นการยืนยันกับประชาคมระหว่างประเทศตลอดจนตลาดการเงินว่า ฝรั่งเศสยังคงมีรัฐบาลปกครองประเทศอยู่

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการร่างแผนที่การเมืองฝรั่งเศสครั้งใหม่ จากการกระตุ้นให้ฝ่ายซ้ายซึ่งเดิมแตกแยกกันสาหัส ให้รวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายกลุ่มใหม่ อีกทั้งให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางละทิ้งความขัดแย้งที่มีอยู่

ทว่าหลังจากรวมตัวกันเพื่อสกัดกั้นพวกขวาจัดในการเลือกตั้งรอบสองแล้ว ฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ก็ทำท่าจะแตกกันอีกครั้ง เป็นต้นว่า มาครงวิจารณ์จุดยืนของแนวร่วมฝ่ายซ้ายว่า “สุดโต่ง” และเตือนว่านโยบายหลักของพวกเขาซึ่งมีโครงการใช้จ่ายมูลค่าสูงๆ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูงและคนรวยนั้นอาจเป็นการทำลายฝรั่งเศส

ด้านผู้นำกลุ่มนิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ ก็ออกมากดดันมาครงให้โอกาสกลุ่มตนจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โดย โอลิวิเยร์ ฟอเร ผู้นำพรรคโซเชียลลิสต์ สำทับว่า พรรคต่างๆ ในกลุ่มเอ็นเอฟพีจะเลือกแคนดิเดตมาแทนอัตตาลภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ผู้นำแนวร่วมฝ่ายซ้ายที่โดดเด่นที่สุดคือ ฌอง-ลุค เมลองชอง ผู้นำพรรคฟรานซ์ อันบาวด์ ก็ประกาศความพร้อมที่จะบริหารประเทศ

สำหรับอาร์เอ็นที่แม้ได้ที่นั่งในสภาล่างเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากปี 2022 ซึ่งได้เพียง 89 ที่นั่ง แต่พรรคการเมืองที่มีแนวทางต่อต้านผู้อพยพและต่อต้านสหภาพยุโรป แถมมีความเชื่อมโยงในอดีตกับการต่อต้านยิวและการเหยียดเชื้อชาติ ก็ต้องผิดหวังอย่างแรงเนื่องจากไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาจนแล้วจนรอด

กระนั้น เลอ เปน ผู้นำของอาร์เอ็นยังคาดหวังที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในปี 2027 ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ของเธอ และยืนยันว่าถึงอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการปูทางสู่ชัยชนะในวันข้างหน้า

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น