xs
xsm
sm
md
lg

แก้เกมไหวหรือ?! ‘มาครง’เร่งระดมพันธมิตร-จับมือฝ่ายซ้าย หวังสกัดพรรคขวาจัดที่นำลิ่วในเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคขวาจัด “อาร์เอ็น” ของฝรั่งเศส ยิ้มร่าขณะพบปะกับพวกผู้สนับสนุนและนักข่าว ภายหลังผลคาดการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือสภาล่าง ของฝรั่งเศส ปรากฏออกมาว่าพรรคของเธอนำลิ่วเป็นอันดับ 1 เมื่อคืนวันอาทิตย์  (30 มิ.ย.)
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสและพันธมิตรของเขา เปิดเกมหนักในวันจันทร์ (1 ก.ค.) หวังสกัดพรรคขวาจัดครองเสียงข้างมากในสภาและจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแดนน้ำหอม หลังจากพรรคอาร์เอ็นของ มารีน เลอ เปน เป็นฝ่ายทำคะแนนได้ดีที่สุดในการเลือกตั้งรอบแรก

ผลการนับคะแนนเบื้องต้นชี้ว่า พรรคขวาจัด เนชันแนล แรลลี (อาร์เอ็น) ของ เลอ เปน ได้ชัยชนะมากกว่าใครเพื่อน ในการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือสภาล่างของฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) โดยได้คะแนนโหวตไปราวๆ 33% ขณะที่อันดับ 2 เป็นของแนวร่วมปีกซ้าย 28% แล้วจึงตามมาด้วยแนวร่วมสายกลางของประธานาธิบดีมาครง ซึ่งได้เสียงแค่ราว 20%

ตามกฎหมายเลือกตั้งของฝรั่งเศส หากเขตเลือกตั้งใดไม่มีผู้สมัครที่ได้คะแนนถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง จะต้องจัดการเลือกตั้งรอบ 2 โดยนำเอาผู้ได้ที่ 1 และที่ 2 มาแข่งขันกัน หรือในกรณีผู้ได้ที่ 3 มีคะแนนเกิน 12.5% ก็มีสิทธิเข้าแข่งขันด้วย ทั้งนี้มีการกำหนดกันเอาไว้แล้วว่า วันเลือกตั้งรอบ 2 คือวันอาทิตย์นี้ (7 ก.ค) สิ่งที่ มาครง ตลอดจนนักการเมืองทั้งฝ่ายกลางขวา และฝ่ายซ้ายไม่ต้องการเห็นก็คือ อาร์เอ็นยังคงทำได้ดีในการเลือกตั้งรอบสอง สืบต่อโมเมนตัมที่เกิดขึ้นจากรอบแรก จนกระทั่งสามารถครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และส่งให้จอร์แดน บาร์เดลลา วัย 28 ปี ที่ เลอ เปน ส่งเข้าประกวด ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ตามการคาดการณ์ของบริษัทจัดทำโพลส่วนใหญ่ทำนายว่า อาร์เอ็นจะไม่ได้เสียงข้างมากในสภาแบบเกินครึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ที่ชนะได้เสียงเกินครึ่งตั้งแต่ในรอบแรก มีเพียงราวๆ 100 ที่นั่งจากทั้งหมด 577 ที่นั่ง ดังนั้น ผลลัพธ์ชี้ขาดจึงต้องรอดูจากการเลือกตั้งรอบสอง

เห็นกันว่า หากอาร์เอ็นชนะเลือกตั้งสภาได้ขึ้นจัดตั้งรัฐบาล ฝรั่งเศสก็จะตกอยู่ในสภาพที่รัฐบาลอยู่ทางปีกหนึ่ง ส่วนประธานาธิบดีอยู่ทางอีกปีกหนึ่ง ซึ่งทำให้การบริหารประเทศเกิดการสะดุดติดขัดและความขัดแย้งอยู่เรื่อยๆ หรือกระทั่งหากไม่มีพรรคใดสามารถครองเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว การเมืองฝรั่งเศสก็มีหวังตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาตนานหลายเดือน ขณะที่ปารีสกำลังจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิกในฤดูร้อนนี้อยู่แล้ว รวมทั้งฝรั่งเศสยังกำลังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนยูเครนต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย

นายกรัฐมนตรีเกเบรียล อัตตาล ที่มีแนวโน้มต้องลาออกจากตำแหน่งหลังการเลือกตั้งรอบสอง ออกมาเตือนว่า พรรคขวาจัดกำลังจ่ออยู่หน้าประตูแห่งอำนาจ ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้พวกเขาได้คะแนนแม้แต่คะแนนเดียวในการเลือกตั้งรอบสอง

ขณะที่ ราฟาเอล กลุคสแมนน์ สมาชิกสำคัญของกลุ่มพันธมิตรปีกซ้าย ขานรับว่า เหลือเวลาอีก 7 วันในการป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสเผชิญหายนะจากพวกขวาจัด

สิ่งที่มาครงและพันธมิตร ตลอดจนพวกกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้าย กำลังพยายามทำความตกลงกันก็คือ เชิญชวนให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนแบบคำนึงถึงผลทางยุทธศาสตร์ เพื่อไม่ให้อาร์เอ็นได้เสียงในสมัชชาแห่งชาติเกินกึ่งหนึ่งนั่นคือ 289 เสียง มาครงนั้นออกมาเรียกร้องแล้วให้ใช้วิธีนี้ ถึงแม้ยังคงมีการโต้เถียงกันในหมู่ผู้สนับสนุนว่า ควรลงคะแนนเสียงเช่นนี้โดยที่ต้องร่วมมือกับพวกพรรคฝ่ายซ้ายหรือไม่

อย่างไรก็ดี มีรายงานระบุว่า พวกผู้นำทางการเมืองจากพรรคกลาง-ซ้าย และจากพรรคซ้ายจัด ต่างเรียกร้องให้ผู้สมัครของตัวเองที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ถอนตัวจากการเลือกตั้งรอบสอง เพื่อรวมกำลังสู้กับผู้สมัครของอาร์เอ็นอย่างเต็มที่

ฌอง-ลุค เมลองชอง ผู้นำฟรานซ์ อันบาวด์ ที่เป็นพรรคการเมืองซ้ายจัด แนะนำง่ายๆ สั้นๆ ว่า อย่าให้อาร์เอ็นได้คะแนนเพิ่มแม้แต่คะแนนเดียว

ลิเบราซิยง หนังสือพิมพ์ปากเสียงของฝ่ายซ้าย ก็เรียกร้องผ่านบทบรรณาธิการให้มาครงถอดชื่อผู้สมัครของแนวร่วมสายกลางจากเขตที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 เพื่อเปิดทางให้แก่ทางแนวร่วมปีกซ้าย

บริษัทวิจัยความเสี่ยง ยูเรเซีย กรุ๊ป ระบุว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่า อาร์เอ็นจะไม่ชนะถึงขึ้นได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ในสภาพเช่นนี้ ฝรั่งเศสอาจได้สภาล่างที่อยู่กันด้วยความอาฆาตแค้นไปอย่างน้อย 12 เดือน หรืออย่างดีที่สุดอาจได้รัฐบาลเทคโนแครตเพื่อความปรองดองแห่งชาติซึ่งมีศักยภาพในการบริหารประเทศอย่างจำกัด

แต่หากพรรคอาร์เอ็นที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพและต่อต้านสหภาพยุโรป ได้จัดตั้งรัฐบาลจะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของฝรั่งเศส

ทั้งนี้ บาร์เดลลาประกาศว่า ต้องการเป็น “นายกรัฐมนตรีของคนฝรั่งเศสทั้งหมด” และจะจัดตั้งรัฐบาลหากอาร์เอ็นได้เสียงข้างมากในสภาเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ผู้คนมากมายยังเคียดแค้นมาครงที่ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดหลังจากหารือกับที่ปรึกษาวงในเพียงไม่กี่คน ภายหลังที่พรรคของเขาพ่ายแพ้อาร์เอ็นในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว

นอกจากนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายในแดนน้ำหอม ยังกำลังทำลายความน่าเชื่อถือของมาครงในสายตานานาชาติ หลังจากที่เขาเคยถูกมองว่า เป็นผู้นำหมายเลขหนึ่งของอียู

บทบรรณาธิการของเลอ ฟิกาโร หนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนแนวทางการเมืองปีกขวา วิจารณ์ว่า “หายนะ” จากความเหลาะแหละที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ของคนๆ หนึ่งที่หลงตัวเองกำลังทำให้ประเทศชาติเสี่ยงเข้าสู่กลียุค

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น